คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 456/2478

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเสนอญัตติหรือข้อความใด ๆ ถ้าหากกระทำนั้นอยู่ภายในบังคับแห่งกฎหมายแลอยู่ในขอบแห่งเอกสิทธิของจำเลยที่จำกระทำได้ในฐานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จำเลยยังไม่มีความผิด รัฐธรรมนูญ ม.40-41-61 กฎหมายลักษณอาญาแก้ไขเพิ่มเติม ม.104 พ.ศ.2470 มิได้ขัดแย้งกับบทมาตราใดแห่งรัฐธรรมนูญ

ย่อยาว

คดีนี้ได้ความว่า จำเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทราบว่าทางราชการได้สั่งหนังสือภาษาอังกฤษเล่มหนึ่งมาให้นักเรียน เรียน จำเลยอ่านดูเห็นว่าเป็นหนังสือสอนลัทธิคอมมูนิสม์ จึงตั้งกระทู้ถามรัฐบาลในสภา รัฐบาลตอบกระทู้ไม่เป็นที่พอใจจำเลย ต่อมามี ล.มาหาจำเลยแลพูดว่าว่ามีราษฎรไม่พอใจคำตอบของรัฐบาลแลถามว่าถ้ามีผู้ยื่นหนังสือร้องทุกข์ขอให้เสนอญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาลต่อสภา จำเลยจะยอมรับเสนอให้หรือไม่ จำเลยตอบว่าถ้ามีผู้ลงชื่อพอสมควรก็จะเสนอสภาให้ ต่อมา ล.ได้นำเอกสารหมาย ก.ซึ่งมีข้อความใส่ร้ายรัฐบาลหาว่าดำเนินการปกครองไปในทางคอมมูนิสม์กับหมดปัญญาที่จะดำเนินเศรษฐกิจของราษฎรให้ฟื้นตัวและรัฐบาลเก็บภาษีจากราษฎรเอาเงินไปใข้ในทางป้องกันอำนาจตน ฯลฯมาให้จำเลยดู แลขอให้จำเลยเขียนอะไรให้ไว้เป็นสำคัญ จำเลยจึงเขียนญัตติลงชื่อจำเลยข้างท้ายปรากฏตามเอกสานหมาย ข.ซึ่งมีข้อความว่าได้รับหนังสือร้องทุกข์จากราษฎรขอให้สภาลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ปรากฏว่ายังไม่ทันมีผู้ใดลงชื่อในเอกสารหมาย ก.จำเลยก็ถูกเจ้าพนักงานจับโจทก์จึงฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย
ศาลเดิมเห็นว่าจำเลยมีผิดตาม ม.๑๐๔ ข้อ ๑ (ก-ค) ตามที่แก้ไขโดยกฎหมายลักษณอาญา พ.ศ.๒๔๗๐ พิพากษาให้จำคุก ๒ ปี
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่มีพะยานเบิกความว่าจำเลยเป็นผู้ร่างหรือร่วมคิดกับผู้อื่นร่างเอกสารหมาย ก.นี้ ขึ้น แลเห็นว่า ม.๑๐๔ ตามที่แก้ไขใหม่บางส่วนขัดหรือแย้งกับวิถีแห่งรัฐธรรมนูญตกเป็นโมฆะตามมาตรา ๖๑ แห่งรัฐธรรมนูญ พิพากษาว่าจำเลยไม่มีความผิด ให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลฎีกาคงฟังข้อเท็จจริงตามศาลอุทธรณ์ แต่เห็นว่ากฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๑๐๔ มิได้ขัดแย้งกับบทมาตราใดในรัฐธรรมนูญ หาตกเป็นโมฆะตาม ม.๖๑ แห่งรัฐธรรมนูญไม่ ส่วนจำเลยจะมีความผิดหรือหาไม่นั้น เห็นว่าจำเลยมีเจตนาแต่เพียงแต่จะเสนอญัตติไม่ไว้วางใจใจรัฐบาล ซึ่งอยู่ในขอบแห่งเอกสิทธิของจำเลยที่จะกระทำได้ในฐานเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตาม ม.๔๐-๔๑ แห่งรัฐธรรมนูญ จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share