แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับระบุพยาน เพราะไม่ยื่นก่อนกำหนดวันสืบพยาน 3 วัน คู่ความฝ่ายนั้นจึงยื่นคำร้องแถลงถึงความจำเป็นที่ไม่ได้ยื่นระบุพยานภายในกำหนด และขอให้อนุญาตให้ยื่นระบุพยานได้ดังนี้ ถือว่าเป็นการยื่นคำโต้แย้งคัดค้านตาม ป.วิ.แพ่งมาตรา 226 (2) แล้ว
วันสืบพยานตาม ป.วิ.แพ่งมาตรา 88 นั้น หมายความถึงวันสืบพยานจริง ๆ ไม่ใช่วันนัดสืบพยานแล้วไม่ได้สืบพยาน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยบุกรุกสวนยางโจทก์ขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิและใช้ค่าเสียหาย
ศาลนัดสืบพยานโจทก์วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๘๙ จำเลยยื่นบัญชีพยานวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๔๘๙ ศาลมีคำสั่งไม่รับระบุพยาน เพราะไม่ยื่นระบุก่อนวันสืบพยานอย่างน้อย ๓ วัน
วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๔๘๙ จำเลยยื่นคำแถลงอ้างถึงเหตุจำเป็นที่ยื่นระบุพยานตามกำหนดไม่ทัน จึงขอความกรุณาศาลให้จำเลยได้อ้างสืบพยาน ศาลสั่งให้สำเนาให้โจทก์และให้แถลงภายใน ๓ วัน ถึงวันนัดสืบพยานวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๘๙ ศาลติดการพิจารณาคดีอื่น มีคำสั่งเลื่อนคดีนี้ไปนัดสืบพยานวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๔๘๙ ครั้นถึงวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๔๘๙ ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลสั่งยืนยันตามเดิมว่าไม่อนุญาตให้จำเลยระบุอ้างพยาน แล้วสืบพยานโจทก์ไป ๔ คน เลื่อนไปสืบในนัดหลังอีก ๑ คน แล้วตัดสินคดีให้โจทก์ชนะ
จำเลยอุทธณ์ขอให้สั่งศาลชั้นต้นให้จำเลยอ้างพยานและสืบพยานต่อไป
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งศาลที่สั่งไม่อนุญาตให้จำเลยระบุพยานไว้ ตาม ป.วิ.แพ่ง ม.๒๒๖(๒) จึงพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นไม่รับระบุพยานของจำเลย รุ่งขึ้นจำเลยก็ยื่นคำร้องว่าได้ทราบคำสั่งและแถลงเหตุจำเป็นว่า ควรอนุญาตให้จำเลยยื่นระบุพยาน เรียกว่าได้ยื่นคำโต้แย้งคัดค้านไว้แล้ว ในที่สุดศาลสั่งไม่อนุญาตอีก ซึ่งเป็นการยืนยันตามเหตุการณ์เดิม ในตอนหลังจำเลยไม่จำเป็นต้องโต้แย้งซ้ำอีก เพราะได้โต้แย้งไว้แล้ว จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้
คำว่าวันสืบพยานตามมาตรา ๘๘ นั้น มาตรา ๑(๑๐) ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึงวันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยาน คือวันที่สืบพยานจริง ๆ ไม่ใช่วันนัดสืบพยานแล้วไม่ได้สืบ ฉะนั้น เมื่อคดีนี้เลื่อนไปสืบพยานวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๔๘๙ ระบุพยานของจำเลยจึงยื่นก่อนกำหนดสืบพยานถึง ๒๐ วัน จึงรับไว้ได้
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลล่างให้ศาลชั้นต้นรับระบุพยานแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปความ