แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง มิได้มีไว้ในครอบครองเพื่อขาย จึงมิได้อยู่ในความหมายของความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 3 แห่งพ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534และไม่อยู่ในบังคับตามมาตรา 10 ที่ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยและปรับบทลงโทษจำเลยตามพ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534มาตรา 10 มาด้วยนั้นยังไม่ถูกต้อง แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้อง โดยไม่ปรับลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าว
ขณะจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 0.773 กรัม เกินกว่าปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไว้ เป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ต้องรับโทษตาม มาตรา 106 ทวิ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท ต่อมาเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522เท่านั้น จึงมีผลให้การมีเมทแอมเฟตามีนคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เพียง 0.773 กรัมไม่ถึง 20 กรัม เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 67ซึ่งระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทเท่านั้น ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518อีกต่อไป และเมื่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 67 ระวางโทษเบากว่าระวางโทษตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518มาตรา 106 ทวิ ซึ่งใช้อยู่ในขณะจำเลยกระทำความผิด จึงเป็นกฎหมายส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลย ต้องปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522 มาตรา 67 ตาม ป.อ.มาตรา 3 ปัญหานี้แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นฎีกาแต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามป.วิ.อ.มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195