แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทสองแปลงแรกเป็นทรัพย์มรดกของ ด.ผู้ตาย ดังนั้น ข้อกำหนดพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนี้จึงมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้ตามกฎหมายส่วนที่ดินพิพาทอีก 2 แปลงหลังนั้น แม้ผู้ตายจะมีความประสงค์ยกให้แก่จำเลยในปี 2520 โดยการไปยื่นคำร้องต่อสำนักงานที่ดินขอยกที่ดินสองแปลงหลังที่ขณะนั้นยังเป็นที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ซึ่งการยกที่ดินให้แก่กันต้องมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ในนามผู้ยกให้ซึ่งเป็นเจ้าของเดิมก่อน หลังจากนั้นจึงจะดำเนินการจดทะเบียนการยกให้แก่ผู้รับในภายหลัง เมื่อยังไม่มีการจดทะเบียนยกให้ ถือว่าการยกให้ยังไม่สมบูรณ์ ตามพฤติการณ์ของผู้ตายดังกล่าวแสดงว่าผู้ตายประสงค์จะยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงหลังนี้ให้แก่จำเลย โดยวิธีขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ผู้ตายจึงได้ไปดำเนินการเช่นนั้น หาใช่ผู้ตายเจตนายกให้แก่จำเลยทันทีโดยวิธีส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทแก่จำเลยไม่ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงหลังนี้ยังไม่ได้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์จนกระทั่งผู้ตายถึงแก่ความตายในปี 2522ความประสงค์ของผู้ตายที่จะยกที่ดินพิพาทให้จำเลยจึงไม่มีผลตามกฎหมาย ที่ดินพิพาทสองแปลงหลังนี้จึงยังเป็นของผู้ตายในขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย ข้อกำหนดพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินสองแปลงหลังนี้จึงมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้เช่นเดียวกันมิได้เป็นอันเพิกถอนไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1696 วรรคหนึ่ง ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดรวมทั้งที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง ให้แก่ ด. แต่ผู้เดียว เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ ด. ผู้รับพินัยกรรมทันที ส่วนจำเลยแม้จะเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายแต่ได้ถูกตัดมิให้ได้รับทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608 วรรคท้ายจำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นทายาทของผู้ตายที่มีสิทธิรับทรัพย์มรดก ส่วนจำเลยร่วมเป็นบุตรของ ผ. มิใช่ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ดังนั้น จำเลยและจำเลยร่วมจึงไม่มีสิทธิยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1755 ขึ้นต่อสู้ ด. ผู้รับพินัยกรรมรวมทั้งไม่มีสิทธิยกอายุความดังกล่าวขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทและเป็นผู้รับมรดกจาก ด. เช่นเดียวกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรนายดาด นิยมญาตินายดาดเป็นบุตรนายดวด นิยมญาติ จำเลยเป็นบุตรนายดวดเช่นเดียวกัน เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2518 นายดวดทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกทรัพย์สินที่มีอยู่และที่จะมีขึ้นในภายหน้าให้นายดาด คือ ที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 208ที่ดินตาม ส.ค. 1 เลขที่ 79 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านไม้ชั้นเดียวและที่ดิน น.ส.3 เล่ม 16 หน้า 48 สารบบเล่ม 67 หน้า 236นอกจากนี้ยังมีที่ดินซึ่งมิได้ระบุไว้ในพินัยกรรมคือ ที่ดินตามใบจอง (น.ส.2) เล่ม 16 หน้า 92 สารบบเล่ม 84 หน้า 457นายดวดมีภริยา 2 คน คนแรกคือ นางเจ็ก นิยมญาติ มีบุตร1 คน คือ นายดาดบิดาโจทก์ทั้งสอง เมื่อนางเจ็กถึงแก่ความตายแล้วนายดวดมีภริยาอีกคนหนึ่งคือนางขีด นิยมญาติ มีบุตร1 คน คือจำเลย ในวันที่ 16 มิถุนายน 2522 นายดวดถึงแก่ความตาย ต่อมาวันที่ 30 มีนาคม 2524 ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายดาด แต่จำเลยมิได้โอนทรัพย์มรดกของนายดวดให้แก่นายดาดตามพินัยกรรม ต่อมาวันที่26 มิถุนายน 2525 นายดาดถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นจำเลยนำที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 208 และ 79 อันเป็นทรัพย์มรดกของนายดาดไปขอออก น.ส.3 ก. อ้างว่ารับมรดกที่ดินมาจากนางขีดมารดาเมื่อประมาณ 7 ปี และได้ทำประโยชน์ต่อเนื่องมาอันเป็นความเท็จ เจ้าพนักงานออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 377 และ เลขที่ 394 โดยใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลง ในเดือนกรกฎาคม 2530 โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของนายดาดไปขอรับมรดกตามพินัยกรรม แต่เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าดำเนินการให้ไม่ได้ เนื่องจากจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงแจ้งให้จำเลยโอนทรัพย์มรดกของนายดวดที่นายดาดมีสิทธิได้รับตามพินัยกรรมให้โจทก์ทั้งสองแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 377และเลขที่ 394 ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เล่ม 16 หน้า 48 สารบบเล่ม 67 หน้า 236 และที่ดินตามใบจอง(น.ส.2) เล่ม 16 หน้า 92 สารบบเล่ม 84 หน้า 457 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นบุตรคนเดียวของนายดวดและนางขีด นิยมญาติ จำเลยไม่ทราบเรื่องพินัยกรรมที่นายดวดทำไว้ ที่ดินตามฟ้องทั้งสี่แปลงมารดาจำเลยได้รับตกทอดจากบิดามารดาก่อนสมรสกับนายดวด แต่ทำเอกสารสิทธิ์ใส่ชื่อสามีเป็นเจ้าของตามประเพณีชาวชนบทที่ดินทั้งสี่แปลงจึงเป็นสินสมรสระหว่างนายดวดและนางขีด การที่นายดวดทำพินัยกรรมยกที่ดินทั้งสี่แปลงให้นายดาดจึงไม่สมบูรณ์เพราะไม่ใช่ที่ดินของนายดวดแต่ผู้เดียว จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายดวดโดยสุจริต เมื่อศาลตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายดวดแล้วจำเลยได้ครอบครองของนายดวดแล้ว จำเลยได้ครอบครองที่ดินทั้งสี่แปลงและดำเนินการรับมรดกที่ดินดังกล่าวจนเสร็จสิ้นไปตั้งแต่ปี 2528 ฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความเพราะนายดวดถึงแก่ความตายเกิน 10 ปี แล้ว นายดาดบิดาโจทก์ทั้งสองก็ถึงแก่ความตาย 9 ปีเศษแล้ว โจทก์ทั้งสองทราบถึงสิทธิเรียกร้องตามพินัยกรรมเมื่อปี 2530 เกินกว่า 1 ปี คดีจึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นายเสนาะ คีรีวงษ์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยร่วมเป็นบุตรนางขีดเป็นพี่ชายต่างบิดากับจำเลย จำเลยร่วมครอบครองที่ดินตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้อง 2 แปลงคือ ที่ดิน น.ส.3 เล่ม 16 หน้า 48สารบบเล่ม 67 และที่ดินใบจอง (น.ส.2) เล่ม 16 หน้า 92สารบบเล่ม 84 โดยนางขีดยกให้ตั้งแต่ปี 2518 จำเลยร่วมครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสองแปลงตลอดมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาเกิน 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินทั้งสองแปลงแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 377 และเลขที่ 394 ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เล่ม 16 หน้า 48 สารบบเล่ม 67 หน้า 236 และที่ดินตามใบจอง(น.ส.2) เล่ม 16 หน้า 92 สารบบเล่ม 84 หน้า 457 พร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน ให้จำเลย จำเลยร่วมและบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว
จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยและจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมมีว่าพินัยกรรมของนายดวดผู้ตายมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ ข้อนี้จำเลยและจำเลยร่วมอ้างว่า นายดวดและนางขีดได้โอนที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง ตามที่นายดวดกำหนดไว้ในพินัยกรรมให้แก่จำเลยและจำเลยร่วมไปเสร็จเรียบร้อยแล้วในระหว่างที่บุคคลทั้งสองนั้นยังมีชีวิตอยู่ ข้อกำหนดพินัยกรรมจึงเป็นอันเพิกถอนไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1696 เห็นว่าสำหรับที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เอกสารหมาย จ.4 และที่ดินพิพาทตามใบจอง (น.ส.2) เอกสารหมาย จ.18 ที่จำเลยร่วมอ้างอ้างว่าเป็นของจำเลยร่วมนั้น ได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้วว่า ข้ออ้างของจำเลยร่วมไม่มีน้ำหนักรับฟัง และข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกของนายดวดผู้ตาย ดังนั้น ข้อกำหนดพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนี้จึงมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้ตามกฎหมายส่วนที่ดินพิพาทอีก 2 แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 นั้น แม้นายดวดจะมีความประสงค์ยกให้แก่จำเลยในปี 2520 โดยการยื่นคำร้องต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี ขอยกที่ดินพิพาทซึ่งขณะนั้นยังเป็นที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 205และเลขที่ 79 และชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.2 ก็ตาม แต่ได้ความจากนายปรีชา พงศานุสรณ์พยานจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินว่า การยกให้ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ให้แก่กันต้องมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ในนามผู้ยกให้ซึ่งเป็นเจ้าของเดิมก่อนหลังจากนั้นจึงจะดำเนินการจดทะเบียนการยกให้แก่ผู้รับในภายหลังเมื่อยังไม่มีการจดทะเบียนยกให้ ถือว่าการยกให้ยังไม่สมบูรณ์ ตามพฤติการณ์ของนายดวดที่จำเลยนำสืบดังกล่าวแสดงว่า นายดวดประสงค์จะยกที่ดินพิพาท 2 แปลงนี้แก่จำเลยโดยวิธีขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ คือรอให้ที่ดินพิพาทดังกล่าวมีเอกสารที่ดินเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์เสียก่อน นายดวดจึงได้ไปดำเนินการเช่นนั้นหาใช่นายดวดเจตนายกให้แก่จำเลยทันที โดยวิธีส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทแก่จำเลยไม่ ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงนี้ยังไม่ได้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์จนกระทั่งนายดวดถึงแก่ความตายในปี 2522 ความประสงค์ของนายดวดที่จะยกที่ดินพิพาทให้จำเลยจึงไม่มีผลตามกฎหมาย ที่ดินพิพาทสองแปลงนี้จึงยังเป็นของนายดวดในขณะที่นายดวดถึงแก่ความตายเช่นเดียวกัน ข้อกำหนดพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงจึงมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้ มิได้เป็นอันเพิกถอนไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1696 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
ปัญหาสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมมีว่า คดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า นายดวดผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดรวมทั้งที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลงให้แก่นายดาดแต่ผู้เดียว เมื่อนายดวดถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2522 ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่นายดาดผู้รับพินัยกรรมทันที ส่วนจำเลยแม้จะเป็นทายาทโดยธรรมของนายดวดแต่ได้ถูกตัดมิให้ได้รับทรัพย์มรดกเสียแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1608 วรรคท้าย จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นทายาทของนายดวดที่มีสิทธิรับทรัพย์มรดก ส่วนจำเลยร่วมเป็นบุตรของนายผลัด คีรีวงษ์ มิใช่ทายาทโดยธรรมของนายดวด ฉะนั้นทั้งจำเลยและจำเลยร่วมจึงไม่มีสิทธิยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1755 ขึ้นต่อสู้นายดาดผู้รับพินัยกรรมรวมทั้งไม่มีสิทธิยกอายุความดังกล่าวขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทและเป็นผู้รับมรดกจากนายดาดเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน