แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
หนังสือที่โจทก์มอบอำนาจให้พ. ฟ้องคดีแทนทำขึ้นที่ประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านโดยมีกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านและสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศดังกล่าวรับรองหนังสือมอบอำนาจไว้แล้วฉะนั้นแม้จะไม่ได้ให้กงสุลสยามเป็นพยานก็ไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจะไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจอันแท้จริงการยื่นหนังสือมอบอำนาจในกรณีนี้จึงไม่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา47วรรคสาม การที่สัญญากระทำกันในต่างประเทศจะต้องใช้กฎหมายประเทศใดบังคับหรือไม่อย่างไรหาใช่ข้อที่โจทก์จำเป็นจะต้องบรรยายมาในคำฟ้องด้วยหรือไม่เพราะหากจำต้องใช้กฎหมายต่างประเทศปรับแก่คดีก็เป็นข้อเท็จจริงที่อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณาฟ้องโจทก์ที่ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยบรรยายถึงมูลกรณีที่มีการทำสัญญาแล้วจำเลยผิดนัดทั้งมีการแนบสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความมาท้ายคำฟ้องด้วยนั้นจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา172วรรคสองแล้วหาเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียนในประเทศไทยมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานครแม้สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยจะทำขึ้นในต่างประเทศและจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาดังกล่าวโจทก์ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนในต่างประเทศย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ศาลแพ่งอันเป็นศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา4(1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน ตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านโจทก์มอบอำนาจให้นางเพทาย จงวิลาส ฟ้องและดำเนินคดีแทนส่วนจำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์เพื่อระงับข้อพิพาท เนื่องจากจำเลยว่าจ้างโจทก์บรรทุกข้าวสารจากกรุงเทพมหานครไปยังต่างประเทศโดยเรือเดินทะเล 3 ลำ ซึ่งจำเลยต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายค่าเสียเวลาเรือจอดรอ โดยจำเลยยอมชำระหนี้ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นเงิน 1,208,750 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่โจทก์หลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จำเลยได้ชำระเงินแก่โจทก์ 2 ครั้ง เท่านั้นหลังจากนั้นจำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์อีกเลย คงค้างอยู่จำนวน 608,750 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดแต่ละครั้งถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินจำนวน 104,086 ดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องทั้งสิ้น 712,836 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 18,662,046.08 บาททั้งนี้ตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของธนาคารพาณิชย์ในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 26.18 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 712,836 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ18,662,046.08 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 608,750 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โดยโจทก์มิได้แนบหลักฐานที่แสดงว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลและมิได้บรรยายให้เห็นว่าผู้ลงชื่อมอบอำนาจให้นางเพทาย จงวิลาส ฟ้องและดำเนินคดีแทนเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์หรือไม่ และหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องทำขึ้นในต่างประเทศมิได้ให้กงสุลสยามเป็นพยานฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเนื่องจากโจทก์มิได้อ้างสัญญาที่จำเลยว่าจ้างให้โจทก์บรรทุกข้าวสาร และไม่บรรยายฟ้องกล่าวอ้างถึงกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะนำมาใช้ในการพิจารณาคดีนี้เนื่องจากสัญญาประนีประนอมยอมความตามฟ้องทำขึ้นที่ประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน จำเลยไม่เคยว่าจ้างโจทก์บรรทุกข้าวสารจากกรุงเทพมหานครไปยังต่างประเทศสัญญาประนีประนอมยอมความตามฟ้องทำขึ้น 3 ฝ่าย ระหว่างโจทก์กับจำเลยและบรรษัทการค้าของรัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านโดยจุดประสงค์แท้จริงแล้วบรรษัทดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ชำระเงินค่าเสียเวลาเรือจอดรอสำหรับเรือทั้ง 3 ลำ ตามฟ้องให้แก่โจทก์เองโดยตรง หลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว บรรษัทดังกล่าวได้ซื้อข้าวสารจากจำเลยเพียงครั้งเดียว และบรรษัทดังกล่าวก็ได้หักเงินค่าซื้อขายทางเลตเตอร์ออฟเครดิตชำระให้โจทก์แล้ว หลังจากนั้นบรรษัทดังกล่าวก็มิได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตสั่งซื้อข้าวสารจากจำเลยอีก และสัญญาดังกล่าวนี้ก็มีผลถึงวันที่30 กันยายน 2533 เท่านั้น จึงหมดสภาพบังคับต่อกันแล้วจำเลยเป็นอันหลุดพ้นจากข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวนอกจากนั้นจำเลยยังมีข้อตกลงกับบรรษัทดังกล่าวและโจทก์ด้วยว่า หากเกิดการฟ้องร้องกันจะต้องฟ้องร้องต่อศาลที่กรุงเตหะราน และให้ใช้กฎหมายของประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านซึ่งห้ามเรียกดอกเบี้ยบังคับแก่คดี โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี ตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน คดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 712,836 ดอลลาร์สหรัฐพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 608,750ดอลลาร์สหรัฐ นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โดยคิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันที่ 31 สิงหาคม 2537 อันเป็นวันที่พิพากษาถ้าอัตราแลกเปลี่ยนนี้ไม่มี ก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่าก่อนวันพิพากษา ทั้งนี้ต้นเงินคิดถึงวันฟ้องไม่เกิน 18,662,046.08 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นบริษัทตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน จำเลยจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยได้ขายข้าวสารให้แก่บรรษัทการค้าของรัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านในราคา เอฟ.โอ.บี.โดยผู้ซื้อเป็นผู้หาเรือมาบรรทุกข้าวสารจากกรุงเทพมหานครไปประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านบรรษัทผู้ซื้อข้าวสารจากจำเลยได้ให้โจทก์นำเรือมาบรรทุกข้าวสารไปจากกรุงเทพมหานครจำเลยส่งข้าวสารลงเรือล่าช้าและมีหนี้ที่จะต้องชำระค่าที่เรือต้องเสียเวลาจอดรอแก่โจทก์ โจทก์กับจำเลยจึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเพื่อระงับข้อพิพาทในหนี้ค่าที่เรือต้องเสียเวลาจอดรอดังกล่าว ปรากฎตามเอกสารหมาย จ.3 จำเลยได้ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้แก่โจทก์ 2 ครั้งและผิดนัดไม่ชำระ คงค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 712,836 ดอลลาร์สหรัฐ
มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลและได้มอบอำนาจให้นางเพทาย จงวิลาส ฟ้องคดีนี้โดยชอบหรือไม่โจทก์นำสืบในประเด็นนี้โดยมีนายมูตาฟาร์ เฮ็มมาติ ซึ่งเป็นพนักงานและทนายความของโจทก์ มีถิ่นพำนักในกรุงเตหะรานประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน มาเบิกความประกอบเอกสารคือข้อบังคับของบริษัทโจทก์เอกสารหมาย จ.22 และหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 ได้ความว่า บริษัทโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านเป็นบริษัทของรัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน นายเอ็ม.เอช.ดัจมาร์ผู้ลงนามในหนังสือมอบอำนาจได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ตั้งแต่ พ.ศ. 2528 กระทรวงการต่างประเทศของประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านได้รับรองเอกสารหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้ไว้ด้วย และได้มีการรับรองโดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านด้วยส่วนจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นประการอื่น แม้หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1จะได้ทำในเมืองต่างประเทศและไม่ได้ให้กงสุลสยามเป็นพยานดังฎีกาของจำเลยแต่กรณีไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าหนังสือมอบอำนาจนั้นจะไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจอันแท้จริงการยื่นหนังสือมอบอำนาจนั้นจึงไม่ต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 47 วรรคสามแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลและได้มอบอำนาจให้นางเพทาย จงวิลาสฟ้องคดีนี้โดยชอบแล้ว ที่จำเลยโต้แย้งในฎีกาว่าตามหนังสือราชกิจจานุเบกษาของประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านเอกสารหมาย จ.20 ซึ่งประกาศว่านายเอ็ม.เอช.ดัจมาร์ เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์นั้นลงวันที่ 6 มิถุนายน 2535 ภายหลังที่บุคคลดังกล่าวได้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 นั้น เห็นว่า หนังสือราชกิจจานุเบกษาดังกล่าวอ้างถึงการประชุมของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม2534 ซึ่งแต่งตั้งกรรมการบริษัทโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งต่อไปเป็นเวลา 3 ปี นายเอ็ม.เอช.ดัจมาร์ ก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับแต่งตั้ง ซึ่งมิได้หมายความว่าก่อนหน้านั้น นายเอ็ม.เอช.ดัจมาร์มิได้เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์เพราะกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านก็ได้ตรวจลงตรารับรองลายมือชื่อกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ที่ลงไว้ท้ายหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 ว่าเป็นลายมือชื่อของนายเอ็ม.เอช.ดัจมาร์ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต่อไปว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าสัญญาประนีประนอมยอมความท้ายฟ้องทำขึ้นที่ประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ซึ่งต้องใช้กฎหมายภายในของประเทศดังกล่าวบังคับในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญหรือผลแห่งสัญญานั้น โจทก์จึงต้องบรรยายถึงสาระหรือบทบัญญัติกฎหมายของประเทศนั้นมาในคำฟ้องด้วย เมื่อโจทก์มิได้กล่าวอ้างมาในคำฟ้อง จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงมูลกรณีที่ได้มีการทำสัญญาดังกล่าวระหว่างโจทก์กับจำเลยมาด้วยว่าจำเลยเป็นหนี้ค่าเสียหายที่เรือของโจทก์ต้องเสียเวลาจอดรอจำนวน 3 ลำ เป็นเงิน 1,208,750 ดอลลาร์สหรัฐ จึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้น โดยโจทก์ยอมให้จำเลยผ่อนชำระหนี้เป็นงวด ๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนด จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์เพียง 2 งวดแล้วผิดนัดไม่ชำระอีก จึงขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ดังกล่าว ทั้งได้มีการแนบสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับดังกล่าวมาท้ายคำฟ้องอีกด้วย
การที่สัญญาดังกล่าวกระทำกันในต่างประเทศ จะต้องใช้กฎหมายประเทศใดบังคับหรือไม่อย่างไร หาใช่ข้อที่โจทก์จำเป็นจะต้องบรรยายมาในคำฟ้องด้วยหรือไม่เพราะหากจำต้องใช้กฎหมายต่างประเทศปรับแก่คดี ก็เป็นข้อเท็จจริงที่อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณาฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้ว หาเคลือบคลุมไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ศาลแพ่งหรือไม่เห็นว่าจำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียนในประเทศไทย มีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร แม้สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยจะทำขึ้นในต่างประเทศและจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนในต่างประเทศย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ศาลแพ่งอันเป็นศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1) ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์จะต้องไปฟ้องจำเลยที่ศาลในประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านอันเป็นสถานที่ที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยจะต้องรับผิดใช้เงินให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยจะชำระเงินให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็ต่อเมื่อบรรษัทการค้าของรัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านสั่งซื้อข้าวสารต่อไปจากจำเลยแล้วหักราคาซื้อขายชำระแก่โจทก์ เมื่อไม่มีการสั่งซื้อข้าวสารและพ้นกำหนดวันที่ 30 กันยายน 2533 แล้ว สัญญานั้นก็สิ้นผลบังคับ โจทก์ต้องไปเรียกร้องเอาค่าเสียเวลาเรือจอดรอจากบรรษัทการค้าของรัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านที่ซื้อข้าวสารจากจำเลยนั้นเห็นว่า ในสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.3 หาได้มีข้อความกำหนดเป็นเงื่อนไขไว้ดังที่จำเลยอ้างไม่ หากมีเงื่อนไขข้อตกลงดังกล่าวระหว่างโจทก์กับจำเลยและบรรษัทการค้าของรัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านจริง คู่กรณีก็ต้องระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งข้อความในสัญญาได้กล่าวไว้ชัดว่า สัญญาฉบับดังกล่าวทำขึ้นระหว่างบริษัทโจทก์และบริษัทจำเลย ตามที่บริษัทโจทก์มีสิทธิเรียกร้องต่อบริษัทจำเลยสำหรับค่าเสียเวลาเรือ 3 ลำซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการบรรทุกข้าวสารลงเรือในประเทศไทยและโดยที่บริษัทจำเลยมีความประสงค์จะชำระหนี้และระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวข้างต้น คู่กรณีทั้งสองฝ่ายจึงตกลงกันกำหนดการที่จำเลยต้องชำระเงินจำนวน 1,208,750 ดอลล่าร์สหรัฐ เป็นข้อ ๆดังที่ปรากฎในสัญญา เห็นได้ว่าสัญญาดังกล่าวมีคู่สัญญาเพียง 2 ฝ่ายคือโจทก์และจำเลย และมิได้มีเงื่อนไขว่าจำเลยจะชำระหนี้ตามสัญญาให้ก็ต่อเมื่อบรรษัทการค้าของรัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านสั่งซื้อข้าวสารจากจำเลยแต่อย่างใด สำหรับข้อความในสัญญาที่ว่า สัญญานี้ให้สมบูรณ์จนถึงวันที่ 31 กันยายน 2533 (ที่ถูกเป็นวันที่ 30 กันยายน2533) นั้น นายมูตาฟาร์ เฮ็มมาติ พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ร่างและลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้เบิกความว่า เหตุที่สัญญาระบุไว้เช่นนั้นหมายความว่า ทางฝ่ายโจทก์ให้โอกาสจำเลยขยายเวลาเพื่อชำระหนี้รายนี้แก่โจทก์ได้จนถึงวันดังกล่าว ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ประกอบถึงข้อความในสัญญาและพฤติการณ์ที่คู่กรณีปฏิบัติต่อกันโดยฝ่ายจำเลยได้มีการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญานั้นแล้ว 2 ครั้งเชื่อว่าเป็นดังที่นายมูตาฟาร์ เฮ็มมาติ เบิกความข้างต้น ดังนั้นจำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินที่ยังค้างชำระตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน