คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4450/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 นั้น การขยายระยะเวลาจะพึงทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและศาลมีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้นเว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ตามคำร้องของทนายจำเลยที่ 2 อ้างเหตุว่ายังไม่ได้รับเอกสารที่ขอคัดสำเนาจากศาล ถือได้ว่ากรณีมีพฤติการณ์พิเศษ แต่การที่ศาลชั้นต้นย้ายที่ทำการโดยขนย้ายทรัพย์สินในวันหยุดราชการ วันธรรมดาซึ่งเป็นวันปฏิบัติราชการปกติ ศาลชั้นต้นยังคงเปิดทำการอยู่และมีประกาศที่ชัดเจนให้ทราบทั่วกันว่าให้คู่ความ ทนายความ และประชาชนติดต่อกับศาลชั้นต้น ณ ที่ทำการใหม่ตั้งแต่วันใดวันราชการอื่นก่อนหน้านี้ยังคงเปิดทำการ ณ อาคารเดิม ไม่ใช่ว่าวันที่ 1 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2543 ศาลชั้นต้นปิดทำการ ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย การยื่นคำร้องของทนายจำเลยที่ 2 เมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลาโดยปราศจากเหตุสุดวิสัยแม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตก็เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกอุทธรณ์จำเลยที่ 2 นั้น ชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเป็นบุคคลล้มละลาย

ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ

จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายกอุทธรณ์จำเลยที่ 2 คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่จำเลยที่ 2

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งฟังได้ว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2542 ในวันดังกล่าวนายสำเริง ประถม เสมียนทนายจำเลยที่ 2 มาฟังคำสั่งแทนและลงชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา วันที่ 17 มกราคม 2543 ทนายจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ไปมีกำหนด 30 วัน ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2543 อ้างเหตุว่าขอคัดเอกสารคำเบิกความพยานในคดีและคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดไว้แต่ยังไม่ได้รับเอกสารดังกล่าว ต่อมาวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2543 ทนายจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาออกไปอีก 30 วัน ด้วยเหตุผลเดียวกันศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตทั้งสองครั้งต่อมาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2543 จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2543 เป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 นั้น การขยายระยะเวลาจะพึงทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและศาลได้มีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ตามคำร้องอ้างเหตุว่ายังไม่ได้รับเอกสารที่ขอคัดสำเนาจากศาล ฟังได้ว่ากรณีมีพฤติการณ์พิเศษ แต่คดีครบกำหนดยื่นอุทธรณ์วันที่ 14 มกราคม 2543 ทนายจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 17มกราคม 2543 ซึ่งพ้นกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์ โดยในคำร้องไม่ปรากฏเหตุสุดวิสัยใดจึงยื่นคำร้องไม่ทันในกำหนดเวลา ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า วันที่ 1 ถึง 15 มกราคม 2543ศาลชั้นต้นย้ายที่ทำการจากที่เดิมไปยังอาคารใหม่ และวันที่ 16 มกราคม 2543 เป็นวันอาทิตย์ทนายจำเลยที่ 2 จึงยื่นคำร้องวันที่ 17 มกราคม 2543 ซึ่งเป็นวันจันทร์ถือเป็นเหตุสุดวิสัยนั้น เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นย้ายที่ทำการแต่ก็ขนย้ายทรัพย์สินในวันหยุดราชการวันธรรมดาซึ่งเป็นวันปฏิบัติราชการปกติ ศาลชั้นต้นยังคงเปิดทำการอยู่และมีประกาศที่ชัดเจนให้ทราบทั่วกันว่า ให้คู่ความ ทนายความ และประชาชนติดต่อกับศาลชั้นต้นณ ที่ทำการใหม่ตั้งแต่วันใด วันราชการอื่นก่อนหน้านี้ยังคงเปิดทำการ ณ อาคารเดิมไม่ใช่ว่าวันที่ 1 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2543 ดังกล่าวศาลชั้นต้นปิดทำการ ฟังไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย การยื่นคำร้องของทนายจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2543 เป็นการยื่นเมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลาโดยปราศจากเหตุสุดวิสัย แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตก็เป็นการสั่งที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายหยิบยกขึ้นวินิจฉัย และพิพากษายกอุทธรณ์จำเลยที่ 2 นั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 2 ประการแรกฟังไม่ขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาจำเลยที่ 2 ประการอื่นอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป”

พิพากษายืน

Share