แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า จำเลยที่ 1 คำนวณค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์โดยการนำเอาราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นของที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนหักออกจากเงินค่าทดแทนที่โจทก์จะพึงได้รับ เมื่อคำนวณหักกลบกันแล้วเกลื่อนกลืนกันจำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ เป็นการคำนวณโดยไม่สุจริต ผิดข้อเท็จจริง และไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเดิมโจทก์มีที่ดินทั้งหมด 5 ไร่ 2 งาน 22 ตารางวา เมื่อพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์… พ.ศ. 2516 ใช้บังคับที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืน 2 งาน 36 ตารางวา ในปี2522 และ 2526 ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ โจทก์ได้แบ่งแยกที่ดินของโจทก์ออกเป็นแปลงย่อยหลายแปลงและแบ่งขายให้แก่บุคคลภายนอกไปบางส่วนแล้ว คงเหลืออยู่ตามโฉนดที่ดินเดิมเพียง 2 งาน 48ตารางวา เมื่อนำจำนวนที่ดินที่ถูกเวนคืนหักออกจากจำนวนเนื้อที่ดินตามโฉนดเลขที่ 5319ของโจทก์ในขณะที่จำเลยที่ 1 กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์คงเหลือที่ดินตามโฉนดดังกล่าวเพียง 12 ตารางวา ที่ดินส่วนนี้จึงเป็นที่ดินจำนวนเล็กน้อยไม่อาจมีราคาสูงขึ้นอันเนื่องมาจากการถูกเวนคืน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีราคาที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนซึ่งสูงขึ้นนำไปหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่โจทก์จะพึงได้รับได้ คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นคำฟ้องที่ได้บรรยายถึงสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างรวมทั้งคำขอบังคับไว้ครบถ้วนแล้ว จึงเป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์และชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว
แม้โจทก์มิได้บรรยายในคำฟ้องว่าโจทก์ได้อุทธรณ์คัดค้านการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยที่ 1 กำหนดให้แก่โจทก์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็หาทำให้คำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ เพราะข้อความดังกล่าวเป็นขั้นตอนในการดำเนินคดี มิใช่ข้อความที่มีสภาพเป็นข้อหาแห่งคำฟ้องคงเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์ชอบที่จะนำสืบในชั้นพิจารณาได้ เมื่อข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาทั้งสองฝ่ายนำสืบรับกันว่า โจทก์ได้อุทธรณ์คัดค้านการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนที่จำเลยที่ 1 กำหนดให้แก่โจทก์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทของการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้บังคับในขณะที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์… พ.ศ. 2516 ใช้บังคับ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทของการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้บังคับในขณะที่มีการดำเนินการกำหนดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์… พ.ศ. 2516 ใช้บังคับ ต่างบัญญัติไว้ในมาตรา 14 วรรคหนึ่ง และมาตรา 21วรรคสอง ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามลำดับว่าให้นำเอาราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนอันเนื่องมาจากการงาน หรือกิจการอย่างใดที่ทำไปในการเวนคืนไปหักออกจากเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนได้และที่ดินส่วนใดเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการดำเนินการเวนคืนซึ่งมีราคาสูงขึ้นหรือไม่ ต้องพิจารณาในขณะเริ่มต้นของการกำหนดแนวเขตที่ดินที่ที่จะถูกเวนคืนมีผลใช้บังคับเป็นสำคัญ ซึ่งหมายถึงวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะถูกเวนคืนมีผลใช้บังคับในกรณีที่มีการออกพระราชกฤษฎีกาประเภทดังกล่าว แต่หากเป็นกรณีที่มีการใช้บังคับพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์โดยมิได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาก็หมายถึงวันที่ออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์นั่นเอง ดังนั้นการพิจารณาว่าที่ดินของโจทก์มีที่ดินเหลือจากการดำเนินการเวนคืนหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงจำนวนเนื้อที่ของที่ดินแปลงดังกล่าวทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์… พ.ศ. 2511 มีผลใช้บังคับคือวันที่ 16 ตุลาคม 2511 แม้ในปี 2522 และ 2526 ซึ่งเป็นปีหลังจากพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์… พ.ศ. 2511 มีผลใช้บังคับแล้ว โจทก์ได้แบ่งแยกที่ดินแปลงที่ถูกเวนคืนออกเป็นแปลงย่อยหลายแปลงและแบ่งขายที่ดินเหล่านั้นในส่วนที่มิได้อยู่ในแนวเขตเวนคืนให้แก่บุคคลภายนอกไปบางส่วนแล้ว ก่อนที่คณะกรรมการฯ จะได้พิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์และโดยที่โจทก์ไม่ทราบมติของคณะกรรมการฯ ว่าจะนำราคาที่สูงขึ้นของที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนไปหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนที่โจทก์จะพึงได้รับก็ตามแต่ก็ต้องถือว่าที่ดินส่วนที่โจทก์แบ่งแยกและส่วนที่ขายให้แก่บุคคลภายนอกไปทุกแปลงเป็นที่ดินที่เหลือจากการดำเนินการเวนคืน และจะต้องนำราคาที่เพิ่มสูงขึ้นของที่ดินส่วนที่เหลือจากการดำเนินการเวนคืนอันเนื่องมาจากการเวนคืนทั้งหมดมาหักออกจากค่าทดแทน สำหรับที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนด้วย แม้โดยข้อเท็จจริงโจทก์จะยังไม่ทราบมติของคณะกรรมการฯ ก็ตาม แต่กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 ก็ชอบที่จะนำราคาที่สูงขึ้นของที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือมาหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่โจทก์จะพึงได้รับได้เพราะการทราบหรือไม่ทราบมติของคณะกรรมการฯ ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ มิฉะนั้นแล้วย่อมเป็นช่องทางให้เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนหลีกเลี่ยงบทบังคับของบทบัญญัติแห่งกฎหมายได้ ซึ่งเป็นการแปลความที่ไม่สอดคล้องกับสามัญสำนึกและความเป็นธรรม
บทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 วรรคสองและวรรคสามที่ให้เอาราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนหักออกจากเงินค่าทดแทน และให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้สำหรับอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนอันราคาลดลงนั้น เป็นบทบัญญัติที่เป็นหลักการสำคัญในการสนับสนุนให้การเวนคืนเป็นไปด้วยความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมโดยสมบูรณ์ ส่วนมาตรา 21 วรรคสี่ เป็นเพียงวิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของมาตรา 21 แม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณว่าอสังหาริมทรัพย์ใดมีราคาสูงขึ้นหรือลดลง ก็ไม่ใช่กรณีที่จะถือเป็นเหตุที่จะทำให้หลักการสำคัญตามมาตรา 21 วรรคสองและวรรคสามใช้บังคับไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5319 เนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน 22 ตารางวา ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวอยู่ในแนวเขตเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ และแขวงสีลม เขตบางรัก และแขวงยานนาวาแขวงทุ่งมหาเมฆ แขวงทุ่งวัดดอน และแขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2516 เนื้อที่ 2 งาน 36 ตารางวา ภายหลังจากที่ได้มีพระราชบัญญัติดังกล่าวออกใช้บังคับก็ไม่ปรากฏว่าทางราชการได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ในปี 2522 และ2526 โจทก์ได้แบ่งแยกที่ดินคงเหลือที่ดินในโฉนดเลขที่ 5319 เนื้อที่ 2 งาน 48 ตารางวาครั้นเดือนมีนาคม 2534 โจทก์ได้รับแจ้งว่าจากการเวนคืนทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือมีราคาสูงขึ้น เมื่อหักกลบกับเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนแล้วเกลื่อนกลืนกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน การคิดคำนวณดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์… พ.ศ. 2516 เป็นการคำนวณโดยไม่สุจริตผิดข้อเท็จจริงและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะที่ดินของโจทก์ในโฉนดเลขที่ 5319 เมื่อถูกเวนคืนเนื้อที่ 2 งาน 36 ตารางวา แล้วจะเหลือที่ดินเพียง 12 ตารางวา ที่ดินส่วนที่เหลือไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จึงไม่อาจมีราคาสูงขึ้นอันเนื่องจากการถูกเวนคืน และการคำนวณค่าทดแทนมิได้พิจารณากำหนดตามสภาพ ที่ตั้งของที่ดินและราคาประเมินการเสียภาษีบำรุงท้องที่และค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนนิติกรรมทั้งมิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์… พ.ศ. 2516โจทก์มิได้เป็นหนี้จำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 กำหนดราคาที่ดินส่วนที่เหลือโดยยังมิได้มีการก่อสร้างในที่ดินส่วนที่เวนคืนเป็นการเลื่อนลอย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธินำค่าทดแทนที่ต้องจ่ายให้โจทก์มาหักกลบเพื่อให้เกลื่อนกลืนกันได้ จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหา-ริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์… พ.ศ. 2516 ต้องร่วมกันจ่ายค่าทดแทน ราคาที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนซึ่งอยู่ในเขตชุมชนและย่านพาณิชยกรรม ราคาที่กำหนดไว้เพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่และเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตารางวาละ20,000 บาท ถึง 40,000 บาท แต่โจทก์ขอคิดเพียงตารางวาละ 8,500 บาท รวมเป็นเงิน2,006,000 บาท ให้แก่โจทก์ หากโจทก์ได้รับเงินจำนวนนี้ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2534และนำฝากธนาคารออมสินจะได้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี คิดถึงวันฟ้องจะเป็นดอกเบี้ย 224,232.32 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน2,230,232.32 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,006,000บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ทางราชการมีความประสงค์สร้างทางและปรับปรุงระบบระบายน้ำสำหรับกรุงเทพมหานคร จึงได้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์… พ.ศ. 2506 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนท้องที่ดังกล่าว พ.ศ. 2511 ต่อมาได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ และแขวงสีลม เขตบางรักและแขวงยานนาวา แขวงทุ่งมหาเมฆ แขวงทุ่งวัดดอน และแขวงช่องนนทรี เขตยานนาวากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2516 กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และต่อมาได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืน คณะกรรมการฯ พิจารณาตามระเบียบแล้วเห็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 5319 ของโจทก์ ซึ่งมีเนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน 22 ตารางวา และถูกเวนคืนเนื้อที่ 2 งาน 36 ตารางวาคงเหลือ 4 ไร่ 3 งาน 86 ตารางวา อยู่ในโซนหรือบล๊อก 12 แอล หน่วยที่สอง ติดซอยมีราคาซื้อขายในท้องตลาดและราคาตามบัญชีประเมินทุนทรัพย์เพื่อจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดิน ปี 2531 ตารางวาละ 8,000 บาท เป็นเงินค่าทดแทน1,888,000 บาท เมื่อมีการก่อสร้างทางและปรับปรุงท่อระบายน้ำแล้วทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืน ส่วนที่ติดถนนเนื้อที่ 325 ตารางวา มีราคาสูงขึ้นเป็นตารางวาละ32,000 บาท เป็นเงิน 10,400,000 บาท เมื่อนำเงินจำนวนนี้หักกับเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนแล้วเกลื่อนกลืนกันไม่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้โจทก์ การกำหนดค่าทดแทนของคณะกรรมการดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว โจทก์จะอ้างเหตุที่ดินที่เหลือจากโจทก์ได้ทำการแบ่งแยกเป็นแปลงเล็กหลังจากพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์… พ.ศ. 2511 เพื่อเป็นประโยชน์แก่โจทก์ในการกำหนดค่าทดแทนนั้นเป็นการไม่ชอบ และการกำหนดเงินค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ และโจทก์มิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนการพิจารณาของคณะกรรมการฯ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้โจทก์ จำเลยทั้งสองไม่ได้โต้แย้งสิทธิโจทก์ ทั้งตามฟ้องโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการฯ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และไม่พอใจคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยในกำหนด โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้และไม่มีสิทธิเรียกเอาดอกเบี้ยตามฟ้องได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,006,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 มีนาคม 2534 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า คำฟ้องของโจทก์ที่มิได้บรรยายว่า โจทก์ได้อุทธรณ์คัดค้านการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไว้ด้วยเป็นฟ้องที่ชอบหรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายสาระสำคัญแห่งคำฟ้องสรุปได้ว่า จำเลยที่ 1 คำนวณค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์โดยการนำเอาราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นของที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนหักออกจากเงินค่าทดแทนที่โจทก์จะพึงได้รับ เมื่อคำนวณหักกลบกันแล้วเกลื่อนกลืนกันจำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ เป็นการคำนวณโดยไม่สุจริต ผิดข้อเท็จจริง และไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเดิมโจทก์มีที่ดินทั้งหมด 5 ไร่ 2 งาน 22 ตารางวา เมื่อพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์… พ.ศ. 2516ใช้บังคับที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืน 2 งาน 36 ตารางวา ในปี 2522 และ 2526 ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ โจทก์ได้แบ่งแยกที่ดินของโจทก์ออกเป็นแปลงย่อยหลายแปลงและแบ่งขายให้แก่บุคคลภายนอกไปบางส่วนแล้ว คงเหลืออยู่ตามโฉนดที่ดินเดิมเพียง 2 งาน 48 ตารางวา เมื่อนำจำนวนที่ดินที่ถูกเวนคืนหักออกจากจำนวนเนื้อที่ดินตามโฉนดเลขที่ 5319 ของโจทก์ในขณะที่จำเลยที่ 1 กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์คงเหลือที่ดินตามโฉนดดังกล่าวเพียง 12 ตารางวา ที่ดินส่วนนี้จึงเป็นที่ดินจำนวนเล็กน้อยไม่อาจมีราคาสูงขึ้นอันเนื่องมาจากการถูกเวนคืน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีราคาที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนซึ่งสูงขึ้นนำไปหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่โจทก์จะพึงได้รับได้ คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นคำฟ้องที่ได้บรรยายถึงสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างรวมทั้งคำขอบังคับไว้ครบถ้วนแล้ว จึงเป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์และชอบด้วยมาตรา 172 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแล้ว แม้โจทก์มิได้บรรยายในคำฟ้องว่า โจทก์ได้อุทธรณ์คัดค้านการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยที่ 1 กำหนดให้แก่โจทก์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็หาทำให้คำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ เพราะข้อความดังกล่าวเป็นขั้นตอนในการดำเนินคดี มิใช่ข้อความที่มีสภาพเป็นข้อหาแห่งคำฟ้องคงเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์ชอบที่จะนำสืบในชั้นพิจารณาได้ เมื่อข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาทั้งสองฝ่ายนำสืบรับกันว่า โจทก์ได้อุทธรณ์คัดค้านการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนที่จำเลยที่ 1 กำหนดให้แก่โจทก์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามเอกสารหมาย จ.21 แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการต่อมามีว่า โจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนหรือไม่ เพียงใด ในปัญหานี้จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า แม้โจทก์จะได้แบ่งแยกที่ดินของโจทก์แปลงที่ถูกเวนคืนออกเป็นที่ดินแปลงย่อยและขายให้แก่บุคคลภายนอกไปบางส่วนก่อนที่จำเลยที่ 1 จะพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์และขณะโอนขายที่ดินดังกล่าวโจทก์ยังไม่ทราบมติของคณะกรรมการฯ ว่าจะนำราคาที่ดินส่วนที่เหลือที่สูงขึ้นไปหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนที่โจทก์จะพึงได้รับหรือไม่ก็ตาม เมื่อขณะที่มีพระราชกฤษฎีกาหรือพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ และที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนมีราคาสูงขึ้น จำเลยที่ 1 ก็ชอบที่จะนำราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่โจทก์จะพึงได้รับได้ เมื่อหักกลบกันแล้วราคาที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนมีราคามากกว่าเงินค่าทดแทนที่ดินที่โจทก์จะพึงได้รับจำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องใช้เงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทของการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้บังคับในขณะที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์… พ.ศ. 2516 ใช้บังคับ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทของการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้บังคับในขณะที่มีการดำเนินการกำหนดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์… พ.ศ. 2516 ใช้บังคับ ต่างบัญญัติไว้ในมาตรา 14 วรรคหนึ่ง และมาตรา 21 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติดังกล่าวตามลำดับว่าให้นำเอาราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนอันเนื่องมาจากการงานหรือกิจการอย่างใดที่ทำไปในการเวนคืนไปหักออกจากเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนได้ และเห็นว่าที่ดินส่วนใดเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการดำเนินการเวนคืนซึ่งมีราคาสูงขึ้นหรือไม่ ต้องพิจารณาในขณะเริ่มต้นของการกำหนดแนวเขตที่ดินที่ที่จะถูกเวนคืนมีผลใช้บังคับเป็นสำคัญนั่นก็หมายถึงวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะถูกเวนคืนมีผลใช้บังคับ ในกรณีที่มีการออกพระราชกฤษฎีกาประเภทดังกล่าว แต่หากเป็นกรณีที่มีการใช้บังคับพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์โดยมิได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาก็หมายถึงวันที่ออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์นั่นเอง ดังนั้น การพิจารณาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 5319 ของโจทก์มีที่ดินเหลือจากการดำเนินการเวนคืนหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงจำนวนเนื้อที่ของที่ดินแปลงดังกล่าวทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์… พ.ศ. 2511 มีผลใช้บังคับคือวันที่ 16 ตุลาคม 2511 แม้ในปี 2522 และ 2526ซึ่งเป็นปีหลังจากพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์… พ.ศ. 2511 มีผลใช้บังคับแล้ว โจทก์ได้แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 5319ออกเป็นแปลงย่อยหลายแปลงและแบ่งขายที่ดินเหล่านั้นในส่วนที่มิได้อยู่ในแนวเขตเวนคืนให้แก่บุคคลภายนอกไปบางส่วนแล้วก่อนที่คณะกรรมการฯ จะได้พิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์และโดยที่โจทก์ไม่ทราบมติของคณะกรรมการฯ ว่าจะนำราคาที่สูงขึ้นของที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนไปหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนที่โจทก์จะพึงได้รับก็ตาม แต่ก็ต้องถือว่าที่ดินส่วนที่โจทก์แบ่งแยกและส่วนที่ขายให้แก่บุคคลภายนอกไปทุกแปลงเป็นที่ดินที่เหลือจากการดำเนินการเวนคืน และจะต้องนำราคาที่เพิ่มสูงขึ้นของที่ดินส่วนที่เหลือจากการดำเนินการเวนคืนอันเนื่องมาจากการเวนคืนเพื่อตัดถนนและทำระบบระบายน้ำทั้งหมดมาหักออกจากค่าทดแทนสำหรับที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนด้วย แม้โดยข้อเท็จจริงโจทก์จะยังไม่ทราบมติของคณะกรรมการฯ ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็ชอบที่จะนำราคาที่สูงขึ้นของที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือมาหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่โจทก์จะพึงได้รับได้ เพราะการทราบหรือไม่ทราบมติของคณะกรรมการฯไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ มิฉะนั้นแล้วย่อมเป็นช่องทางให้เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนหลีกเลี่ยงบทบังคับของบทบัญญัติแห่งกฎหมายได้ซึ่งเป็นการแปลความที่ไม่สอดคล้องกับสามัญสำนึกและความเป็นธรรมเทียบเคียงได้กับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5776/2539 ระหว่างนางสาววินดา คุณะดิลก กับพวก โจทก์ ร้อยเอกกฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา กับพวกจำเลย และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9055/2539 ระหว่าง ร้อยตำรวจเอกเทียน ไชยะโทโจทก์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กับพวก จำเลย ส่วนที่โจทก์แก้ฎีกาว่า ในขณะที่คณะกรรมการฯ กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์นั้นยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับการคำนวณว่าอสังหาริมทรัพย์ใดมีราคาสูงขึ้นหรือลดลงที่ออกตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสี่ ใช้บังคับ ดังนั้นคณะกรรมการฯ จึงยังไม่มีอำนาจที่จะกำหนดว่าที่ดินใดมีราคาสูงขึ้นหรือลดลง เห็นว่าบทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21วรรคสองและวรรคสามที่ให้เอาราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนหักออกจากเงินค่าทดแทน และให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้สำหรับอสังหา-ริมทรัพย์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนอันราคาลดลงนั้น เป็นบทบัญญัติที่เป็นหลักการสำคัญในการสนับสนุนให้การเวนคืนเป็นไปด้วยความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมโดยสมบูรณ์ ส่วนมาตรา 21 วรรคสี่ เป็นเพียงวิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของมาตรา 21 แม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณว่าอสังหาริมทรัพย์ใดมีราคาสูงขึ้นหรือลดลง ก็ไม่ใช่กรณีที่จะถือเป็นเหตุที่จะทำให้หลักการสำคัญตามมาตรา 21 วรรคสองและวรรคสามใช้บังคับไม่ได้ เมื่อปรากฏชัดว่าที่ดินในส่วนที่เหลือของโจทก์มีราคาสูงขึ้นเพราะการเวนคืน จึงต้องนำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับเทียบเคียงได้กับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5294/2539ระหว่าง นายสง่า วีรวัฒนกานนท์ โจทก์ กรุงเทพมหานคร กับพวก จำเลย ปัญหาต่อมาว่าการเวนคืนที่ดินตามฟ้องทำให้ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือมีราคาสูงขึ้นจนนำราคาที่สูงขึ้นหักกลบกับเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนแล้วเกลื่อนกลืนกันเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนแก่โจทก์ดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาหรือไม่ ในข้อนี้ปรากฏว่าที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 5319 ขณะถูกเวนคืนมีเนื้อที่ทั้งแปลงจำนวน5 ไร่ 2 งาน 22 ตารางวา สภาพที่ดินเป็นที่สวนและเป็นที่อยู่อาศัย ด้านทิศเหนือจดคลองช่องนนทรี ด้านทิศใต้ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกจดที่ดินบุคคลอื่นไม่มีทางรถยนต์เข้าถึง เดิมบุคคลในที่ดินของโจทก์ใช้คลองช่องนนทรีและคันสวนเป็นทางสัญจรบางส่วนคิดเป็นเนื้อที่ 2 งาน 36 ตารางวา ที่ดินส่วนที่เหลือที่อยู่นอกแนวเขตเวนคืนมีเนื้อที่ถึง 4 ไร่ 3 งาน 86 ตารางวา นับได้ว่าเป็นที่ดินที่ยังมีเนื้อที่มากผืนหนึ่ง ที่ดินส่วนนี้โจทก์สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ดีกว่าเดิม เพราะหลังจากทางราชการตัดถนนอันเนื่องจากการเวนคืนที่กว้างถึง 60 เมตร แล้ว ที่ดินส่วนที่เหลือทั้ง 4 ไร่ 3 งาน 86ตารางวา ของโจทก์ก็จะกลายเป็นที่ดินที่อยู่ติดกับถนนสายใหญ่ ซึ่งจะเป็นถนนสายสำคัญสายหนึ่งที่อยู่กลางเมืองหลวงในอนาคต ราคาที่ดินแปลงดังกล่าวย่อมจะสูงขึ้นกว่าเดิมเป็นอย่างมาก และจากข้อนำสืบของโจทก์และของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวบ่งบอกได้ว่าที่ดินที่อยู่ติดถนนราคาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดโดยทั่วไปจะสูงกว่าราคาที่ดินที่ไม่ได้อยู่ติดถนน ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ให้การและนำสืบว่า ในปี 2531 ซึ่งเป็นปีที่คณะกรรมการฯพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนเฉพาะเนื้อที่ 325 ตารางวา ส่วนที่อยู่ติดถนนที่ทางราชการตัดใหม่อันเนื่องมาจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้นเป็นค่าความเจริญตารางวาละ 32,000 บาทย่อมเป็นราคาที่สมเหตุสมผลที่ควรแก่การเชื่อถือ เมื่อนำราคาที่สูงขึ้นตารางวาละ32,000 บาท เท่าจำนวนที่ดินที่อยู่ในเขตถนนในระยะ 20 เมตร จำนวน 325 ตารางวาตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบดังกล่าวรวมเป็นเงิน 10,400,000 บาท ไปหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนที่โจทก์จะพึงได้รับตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองจำนวน 2,006,000 บาท ราคาที่สูงขึ้นของที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนจะสูงกว่าจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินที่โจทก์จะได้รับ ค่าของที่ดินดังกล่าวย่อมเกลื่อนกลืนกัน จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องใช้ค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1ไม่ต้องรับผิดใช้เงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ในปัญหาข้ออื่นอีกต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย