แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันนำเรือยอช์ท ซึ่งเป็นของที่ยังไม่ได้เสียภาษีและมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องแล่นเข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2540 โดยแจ้งต่อนายด่านศุลกากรว่าเป็นการนำเข้าชั่วคราว ซึ่งมีเวลาอยู่ในราชอาณาจักร 6 เดือน คือภายในวันที่ 20 ตุลาคม 2540 จากนั้น จำเลยทั้งสองกับพวกนำเรือของกลางจอดแล่นใช้งานตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2540 จนกระทั่งมีผู้แจ้งความนำจับและเจ้าพนักงานอายัดเรือไว้เป็นของกลางเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2541 ดังนี้ วันที่กระทำความผิดจึงเป็นวันที่ 20 เมษายน 2540 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันนำเรือของกลางเข้ามา หาใช่วันที่ 21 ตุลาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่เรือของกลางอยู่ในราชอาณาจักรเกินกำหนด 6 เดือน ดังที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่ ดังนั้น ฟ้องโจทก์ที่บรรยายว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันกระทำผิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2540 นั้น จึงชอบแล้ว
เงินตามสัญญาประกันค่าเรือที่บริษัท ล. ซึ่งเป็นเจ้าของเรือทำสัญญาไว้กับกรมศุลกากรในการรับเรือของกลางไปเก็บรักษา หากเรือของกลางชำรุดเสียหายหรือไม่สามารถส่งมอบเรือคืนให้ในสภาพเดิมได้ จะยินยอมชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 133,821,659 บาท นั้น เงินจำนวนนี้มิใช่เงินที่ศาลจะมีอำนาจสั่งริบแทนเรือของกลางซึ่งเป็นทรัพย์ที่ใช้กระทำความผิด เพราะหากปรากฏภายหลังศาลมีคำพิพากษาให้ริบเรือของกลางแล้ว บริษัท ล. ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ กรมศุลกากรก็มีสิทธิฟ้องบังคับเงินค่าเสียหายจากบริษัทดังกล่าวได้เป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาในส่วนที่ให้ริบเงินตามสัญญาประกันเท่ากับขายเรือของกลาง และให้จ่ายสินบนนำจับและเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุมผู้กระทำผิดจากเงินตามสัญญาประกันจึงไม่ชอบ กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง แม้โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านในประเด็นดังกล่าวนี้ไว้ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย โจทก์มีสิทธิยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ริบของกลางหรือเงินตามสัญญาประกัน 133,821,659 บาท จ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับและเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ปรับจำเลยทั้งสองรวมกันเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ซึ่งมีจำนวน 54,745,225 บาท โดยให้ปรับจำเลยทั้งสองรวมกันเป็นเงิน 218,980,900 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 โดยกำหนดเงื่อนไขในการบังคับโทษปรับว่า หากจำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับแล้วเพียงใดให้นำมาหักออกจากค่าปรับของจำเลยที่ 2 ก่อนด้วย กรณีหากต้องกักขังจำเลยที่ 2 แทนค่าปรับก็ให้กักขังจำเลยที่ 2 ได้ไม่เกิน 1 ปี ริบเรือของกลางหรือเงินตามสัญญาประกันเท่ากับราคาเรือของกลางจำนวน 41,161,824 บาท ให้จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับร้อยละสามสิบและเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุมผู้กระทำผิดร้อยละสิบห้าของราคาของกลางหรือของเงินตามสัญญาประกันจำนวน 41,161,824 บาท หรือของค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาลตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 7, 8 วรรคแรก คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุมผู้กระทำผิดร้อยละ 25 ของราคาของกลางหรือของเงินตามสัญญาประกันหรือของค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ยุติว่า บริษัทลาเด้นสไตน์ จำกัด ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บี.โอ.ไอ. ในการผลิตเรือพลาสติกเสริมใยแก้ว โดยได้รับสิทธิและประโยชน์เกี่ยวกับภาษีในการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรเพื่อนำมาผลิตเรือดังกล่าว หากส่งเรือที่ผลิตไปจำหน่ายยังต่างประเทศจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่ต้องนำใบขนสินค้าขาออกไปแสดงเพื่อตัดบัญชีวัตถุดิบที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อผลิตทั้งต้องแสดงสูตรการผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกด้วยว่าใช้วัตถุดิบชนิดและปริมาณอย่างไรต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนด้วย ตามบัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน แต่บริษัทดังกล่าวไม่ได้แสดงหลักฐานการส่งสินค้าออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน บริษัทลาเด้นสไตน์ จำกัด ประกอบหรือผลิตเรือยอช์ทหรือเรือสำราญของกลาง ยี่ห้อลาเด้นสไตน์ รุ่นแอล 2000 มีขนาดความยาว 20.85 เมตร กว้าง 5.25 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซลขนาดเครื่องละ 1,200 แรงม้า 2 เครื่อง และจดทะเบียนเรือสัญชาติเบลิซ โดยใช้ชื่อเรือว่า “บี.บี.พลัส.” เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2540 บริษัทลาเด้นสไตน์ จำกัด ส่งเรือของกลางลำดังกล่าวไปจำหน่ายให้แก่บริษัท บี.บี.กรุ๊ป (สิงคโปร์) จำกัด ที่ประเทศสิงคโปร์ ในราคา 2,500,000 เหรียญสหรัฐ คำนวณเป็นเงินไทย 44,462,500 บาท ตามใบขนสินค้าขาออกและใบกำกับราคาสินค้า (INVOICE) พร้อมคำแปล 16 โดยนายพอล เป็นนายเรือแล่นออกไปประเทศสิงคโปร์ และมีนายปิยพันธุ์ ผู้จัดการทั่วไปและกรรมการผู้จัดการบริษัทลาเด้นสไตน์ จำกัด เดินทางไปด้วย ต่อมาวันที่ 13 เมษายน 2540 มีการนำเรือไปแสดงที่งานแสดงเรือนานาชาติที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อจำหน่ายต่อให้แก่ลูกค้า แต่เรือยังตกแต่งไม่แล้วเสร็จจึงยังจำหน่ายไม่ได้ นายพอลจึงแล่นเรือกลับประเทศไทย โดยแจ้งรายงานเรือเข้าต่อนายด่านศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2540 วันที่ 21 เมษายน 2540 บริษัทลาเด้นสไตน์ จำกัด มีหนังสือแจ้งต่อสรรพสามิตจังหวัดปทุมธานีว่า จะนำเรือเข้าซ่อมเป็นเวลาประมาณ 2 เดือน ต่อมาวันที่ 25 มิถุนายน 2540 บริษัทลาเด้นสไตน์ จำกัด มีหนังสือแจ้งต่อสรรพสามิตจังหวัดปทุมธานีว่าในวันที่ 26 มิถุนายน 2540 จะส่งมอบเรือที่ซ่อมเสร็จให้แก่บริษัท บี.บี.กรุ๊ป (สิงคโปร์) จำกัด วันที่ 18 มิถุนายน 2540 บริษัท บี.บี. กรุ๊ป (สิงคโปร์) จำกัด ทำสัญญากู้ยืมเงิน 1,000,000 เหรียญสหรัฐ จากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาสิงคโปร์ เพื่อชำระเงินค่าเรือของกลางให้แก่บริษัทลาเด้นสไตน์ จำกัด และใช้เงินของบริษัทอีก 750,000 เหรียญสหรัฐ โดยมีจำเลยที่ 2 และนายจุตินันท์ ในฐานะผู้แทน บริษัท บี.บี. กรุ๊ป (สิงคโปร์) จำกัด ลงนามในเอกสารขอรับเงินและเบิกเงินที่กู้ ตามคำขอกู้เงินและหนังสือสัญญากู้เงินพร้อมคำแปล แล้วมีการโอนเงิน 1,000,000 เหรียญสหรัฐ เข้าบัญชีของบริษัทลาเด้นสไตน์ จำกัด ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาบางกระบือ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2540 วันที่ 7 พฤษภาคม 2540 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจ ทำหนังสือสัญญาเช่าเรือของกลางจากบริษัท บี.บี.กรุ๊ป (สิงคโปร์) จำกัด เพื่อใช้ในประเทศไทยเป็นระยะเวลา 8 ปี มีกำหนดชำระค่าเช่าเป็นรายปี โดยได้ชำระเงินมัดจำค่าเช่า 500,000 เหรียญสหรัฐ แก่ผู้ให้เช่าแล้วตามหนังสือสัญญาเช่าพร้อมคำแปล วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยที่ 1 โดยนายวุฒา กรรมการผู้มีอำนาจทำหนังสือสัญญาเช่าที่จอดเรือและที่เก็บเรือของกลางจากบริษัทโอเชี่ยน มารีน่า จำกัด ที่ท่าเรือโอเชี่ยนมารีน่า พัทยา จังหวัดชลบุรี มีกำหนดเวลาจนถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2542 ค่าเช่าเดือนละ 15,620 บาท ตามสัญญาเช่า วันที่ 29 เมษายน 2541 พันตำรวจโท (ยศในขณะนั้น) ชนสิษฎ์ กับพวกสืบทราบว่าเรือของกลางต้องสงสัยว่าเป็นเรือที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร จึงตรวจอายัดเรือของกลางไว้ ตามบันทึกการตรวจอายัด ต่อมานายปิยพันธุ์นำหลักฐานเกี่ยวกับเรือไปแสดงต่อพันตำรวจโทชนสิษฎ์ แต่ไม่มีหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรและชำระภาษีอากร พันตำรวจโทชนสิษฎ์กับพวกจึงร่วมกันยึดเรือดังกล่าวเป็นของกลาง ตามบันทึกการยึดเรือ บริษัทลาเด้นสไตน์ จำกัด จำเลยที่ 1 และบริษัท บี.บี. กรุ๊ป (สิงคโปร์) จำกัด ต่างจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ตามกฎหมายประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ ตามลำดับ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของบริษัททั้งสามแห่ง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า การที่บริษัท บี.บี.กรุ๊ป (สิงคโปร์) จำกัด ซื้อเรือของกลางจากบริษัทลาเด้นสไตน์ จำกัด ดังกล่าว ได้ความจากคำเบิกความของพยานโจทก์ปากนางอรวร ผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ฝ่ายอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ว่า บริษัท บี.บี.กรุ๊ป (สิงคโปร์) จำกัด ได้ขอกู้ยืมเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาสิงคโปร์ ตามใบแสดงความจำนงขอสินเชื่อโดยแจ้งวัตถุประสงค์ว่าเพื่อนำเงินไปซื้อเรือสำราญ ราคา 1,750,000 เหรียญสหรัฐ แล้วนำไปให้จำเลยที่ 1 เช่า โดยขอกู้ 1,000,000 เหรียญสหรัฐ เงินที่เหลือเป็นของบริษัท บี.บี.กรุ๊ป (สิงคโปร์) 750,000 เหรียญสหรัฐ เนื่องจากหากซื้อเรือยอช์ทในประเทศไทยจะมีภาษีสูงกว่าร้อยละ 100 จึงให้บริษัทที่จดทะเบียนในต่างประเทศเป็นผู้ซื้อและให้จำเลยที่ 1 เช่า ซึ่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัตถุประสงค์การกู้ยืมเงินดังกล่าวนี้จำเลยทั้งสองฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์ไม่มีพยานยืนยันว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมให้ข้อมูลด้วย แต่เป็นเรื่องที่พนักงานธนาคารคาดเดาเอาเองนั้น แต่ปรากฏว่าขณะนั้นจำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นกรรมการ ทั้งบริษัทจำเลยที่ 1 และบริษัท บี.บี.กรุ๊ป (สิงคโปร์) จำกัด ในเวลาเดียวกัน และร่วมลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาเงินกู้กับนายจุตินันท์ ในฐานะเป็นผู้กู้และเป็นกรรมการของบริษัท บี.บี. กรุ๊ป (สิงคโปร์) จำกัด ด้วยกัน โดยระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาเงินกู้อีกด้วย จำเลยที่ 2 จึงต้องทราบถึงวัตถุประสงค์ในการขอกู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นอย่างดีว่าต้องการนำเงินไปใช้เพื่อการใด ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้หากผู้กู้ไม่ให้ไว้ต่อธนาคารด้วยตนเองแล้ว พนักงานธนาคารคงไม่สามารถระบุไว้ในเอกสารของธนาคารได้ และต่อมายังปรากฏว่าบริษัท บี.บี. กรุ๊ป (สิงคโปร์) จำกัด ได้ทำสัญญาให้จำเลยที่ 1 เช่าเรือดังกล่าวอันเป็นการสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้อีกด้วย จึงเชื่อว่าพนักงานของธนาคารบันทึกข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ตามที่ทราบจากผู้กู้นั่นเอง หาใช่คาดเดาเอาเองดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่ และเมื่อพิจารณาต่อไปถึงหนังสือสัญญาเช่าเรือระหว่างบริษัท บี.บี. กรุ๊ป (สิงคโปร์) จำกัด กับจำเลยที่ 1 ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ในสัญญาเช่ามีกำหนดระยะเวลาเช่านานถึง 8 ปี โดยมีการระบุสถานที่ให้ใช้เรือเป็นการถาวรในประเทศไทย และต่อมาจำเลยที่ 1 ยังได้ทำสัญญาเช่าที่จอดเรือและเก็บรักษาเรือของกลางกับบริษัทโอเชี่ยน มารีน่า จำกัด ที่ท่าเรือโอเชี่ยนมารีน่า พัทยา จังหวัดชลบุรี มีกำหนดเวลานับแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2541 ถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2542 อีกด้วย ดังนี้ พฤติการณ์แห่งคดีในการนำเรือของกลางกลับเข้ามาในประเทศไทยในลักษณะให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าเรือเพื่อใช้ประโยชน์เป็นเวลานานถึง 8 ปี โดยระบุให้ใช้เป็นการถาวรในประเทศไทยและมีการทำสัญญาเช่าที่จอดและเก็บรักษาเรือไว้เป็นกิจจะลักษณะเช่นนี้ ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาโดยแจ้งชัดว่าเป็นการนำเรือเข้ามาเพื่อใช้ประโยชน์ในประเทศไทย เป็นการถาวรมิใช่เป็นการนำเข้ามาเป็นการชั่วคราวดังที่จำเลยทั้งสองอ้าง นอกจากนี้ที่จำเลยทั้งสองฎีกาอ้างว่าการนำเรือของกลางกลับเข้ามาดังกล่าวได้ปฏิบัติตามพิธีการศุลกากรครบถ้วนโดยมีการแจ้งเรือเข้าและทำใบขนสินค้ารวมทั้งทำสัญญาประกันให้ไว้ต่อนายด่านศุลกากรแล้ว แต่จำเลยทั้งสองก็ไม่มีใบขนสินค้าและสัญญาประกันดังกล่าวมาแสดง อีกทั้งไม่มีการส่งเอกสารดังกล่าวจากผู้ครอบครองมาเพื่อพิสูจน์ข้ออ้างของจำเลยทั้งสองอีกด้วย จึงไม่อาจรับฟังได้ ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาทำนองว่า จำเลยที่ 1 ยังไม่เคยได้รับมอบเรือของกลางมาครอบครองใช้สอยตามสัญญาเช่าเนื่องจากเรือของกลางมีสภาพไม่สมบูรณ์ต้องซ่อมแซมอยู่ตลอดเวลานับแต่นำกลับมาจากประเทศสิงคโปร์ นั้น เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาเช่า ระบุไว้ว่า จำเลยที่ 1 ผู้เช่ายอมรับว่าได้รับเรือยอช์ทไว้ในสภาพที่ดี ปลอดภัย ใช้การได้และยอมรับว่าเป็นเรือที่สมประโยชน์แก่การใช้งาน ฯลฯ โดยที่ผู้ให้เช่าไม่มีสิทธิเข้าควบคุมการจัดการเรือยอช์ทนี้อีกต่อไป ฯลฯ ซึ่งแม้จะปรากฏว่ามีการแจ้งนำเรือเข้าซ่อมในระหว่างอายุสัญญาเช่าจริงดังที่จำเลยทั้งสองอ้างก็ตาม ที่บริษัทลาเด้นสไตน์ จำกัด มีไปถึงบริษัทพัฒนายนต์ชลบุรี จำกัด ผู้ซ่อมแซมเรือ ก็ระบุถึงการใช้เรือของกลางไว้ว่า ในวันที่ 20 กันยายน 2540 เครื่องยนต์ทั้งสองเครื่องของเรือถูกใช้งานไปเป็นเวลา 251 ชั่วโมง และ 252 ชั่วโมง ตามลำดับ และหลังจากวันที่ 26 มีนาคม 2541 เครื่องยนต์ทั้งสองเครื่องของเรือถูกใช้งานไปเป็นเวลา 381 ชั่วโมง และ 383 ชั่วโมง ตามลำดับ เมื่อได้ความจากคำเบิกความของนายปิยพันธ์ว่า ระยะเวลาเดินเรือจากประเทศไทยไปประเทศสิงคโปร์ใช้เวลาเพียงประมาณ 24 ชั่วโมงเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าเรือของกลางถูกนำออกแล่นใช้งานมาโดยตลอด จึงมีการใช้เครื่องยนต์เรือตามจำนวนชั่วโมงดังกล่าวข้างต้นซึ่งสามารถแล่นไปกลับประเทศสิงคโปร์ได้หลายรอบ หรือหากมีการแล่นทดสอบเครื่องยนต์ในระหว่างซ่อมหรือหลังจากซ่อมเสร็จแล้วก็ไม่น่าจะต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมงเช่นนั้น นอกจากนี้ยังปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินค่าเช่าเรือปีที่ 1 และปีที่ 2 ให้แก่บริษัท บี.บี. กรุ๊ป (สิงคโปร์) จำกัด รวมทั้งยังได้ทำสัญญาเช่าที่จอดเรือของกลางจากบริษัทโอเชี่ยมารีน่า จำกัด อีกด้วย ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่ายังไม่ได้รับมอบเรือของกลางจากผู้ให้เช่าเพราะต้องซ่อมแซมเรืออยู่ตลอดจึงไม่มีเหตุผลให้รับฟังได้ ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2541 นายบุญลือซึ่งเป็นนายเรือของกลางแจ้งต่อศุลกากรว่า เรือของกลางแล่นจากต่างประเทศกลับเข้ามาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2541 โดยทำใบขนสินค้า และทำประกันไว้เช่นเดียวกัน แสดงให้เห็นว่าเรือของกลางได้แล่นออกจากประเทศไทยไปแล้วเพิ่งเดินทางกลับเข้ามาในวันดังกล่าวจริงนั้น ก็เป็นเรื่องที่นายบุญลือไปดำเนินการดังกล่าวภายหลังจากพลตำรวจตรีชนสิษฎ์กับพวกได้ทำการอายัดเรือของกลางแล้วในวันที่ 29 เมษายน 2541 ตามบันทึกการอายัด จึงนับเป็นข้อพิรุธไม่อาจรับฟังเป็นความจริงได้ และเชื่อว่าเป็นการดำเนินการเพื่อใช้เป็นข้ออ้างหรือต่อสู้คดีว่านำเรือของกลางเข้ามาโดยถูกต้อง และมีสิทธิอยู่ในราชอาณาจักรไทยเท่านั้น ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า นายพอลนายเรือซึ่งเป็นผู้นำเรือของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรต้องรับผิดตามกฎหมายเพียงผู้เดียวนั้น เห็นว่า การที่นายพอลจะมีความผิดตามกฎหมายเพียงผู้เดียวหรือไม่ ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานว่า นายพอลกระทำความผิดเพียงผู้เดียวหรือมีพยานหลักฐานเชื่อมโยงถึงบุคคลอื่นว่ามีส่วนร่วมกระทำความผิดด้วย เมื่อปรากฏว่าคดีนี้จำเลยทั้งสองมีส่วนร่วมกระทำความผิด จำเลยทั้งสองก็ต้องถูกดำเนินคดีด้วย จะรับฟังข้อเท็จจริงแต่เพียงว่า เมื่อนายพอลเป็นผู้นำเรือของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรจึงต้องรับผิดตามกฎหมายเพียงผู้เดียวนั้นหาได้ไม่ ทั้งคดีนี้พนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีกับนายพอลด้วยและพนักงานอัยการก็มีความเห็นสั่งฟ้อง รวมทั้งมีการออกหมายจับไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้ตัวมา ดังนี้ เมื่อพฤติการณ์แห่งคดีฟังได้ว่า บริษัทลาเด้นสไตน์ จำกัด ผลิตเรือของกลางแล้วดำเนินการขายเรือให้แก่บริษัท บี.บี. กรุ๊ป (สิงคโปร์) จำกัด ที่ประเทศสิงคโปร์ จากนั้นนำกลับเข้ามาในประเทศไทยในลักษณะให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าเรือเพื่อใช้ประโยชน์เป็นการถาวรนานถึง 8 ปี มิใช่เป็นการนำเข้ามาเป็นการชั่วคราวและโดยไม่มีการนำเรือผ่านพิธีการศุลกากรและเสียภาษีอากรในการนำเรือเข้ามาในราชอาณาจักรให้ถูกต้อง ซึ่งเรือก็ถูกนำออกใช้งานมาโดยตลอดเช่นนี้ เมื่อปรากฏว่าบริษัททั้งสามบริษัทที่ดำเนินการเรื่องนี้มีความเกี่ยวพันกันโดยมีกรรมการหลายคนเป็นชุดเดียวกัน โดยเฉพาะจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการอยู่ในทั้งสามบริษัทและเป็นผู้ลงนามกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ในการทำสัญญาเช่าเรือของกลางจากบริษัท บี.บี. กรุ๊ป (สิงคโปร์) จำกัด อีกด้วย พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาจึงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกับพวกดำเนินการลักลอบนำเรือของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประการที่สองว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีการนำเรือของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2540 และมีการนำเรือออกใช้ประโยชน์ในลักษณะเป็นการถาวรเรื่อยมา โดยไม่มีการนำเรือผ่านพิธีการศุลกากรและเสียภาษีอากรในการนำเรือเข้ามาในราชอาณาจักรให้ถูกต้อง วันกระทำความผิดจึงเป็นวันที่นำเรือเข้ามาโดยไม่ถูกต้องคือวันที่ 20 เมษายน 2540 ฟ้องโจทก์ระบุว่าเหตุเกิดวันที่ 20 เมษายน 2540 จึงชอบแล้วฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สามว่า การตรวจค้นและการสอบสวนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การไปตรวจค้นเรือของกลางของพลตำรวจตรีชนสิษฎ์กับพวกที่ท่าเรือโอเชี่ยนมารีน่า มีหมายค้นจากศาลอาญา ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าบันทึกการอายัดและบันทึกยึดเรือของกลาง ทำขึ้นก่อนวันที่พันตำรวจโทสมศักดิ์ พนักงานสอบสวนเข้ารับหน้าที่ ไม่ใช่เอกสารที่ทำขึ้นโดยพนักงานสอบสวน จึงเป็นเอกสารที่รับฟังไม่ได้ ก็ปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวทำขึ้นจากการสืบสวนของพลตำรวจตรีชนสิษฎ์กับพวก ซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่และเกี่ยวข้องกับคดีนี้โดยตรงส่วนความผิดพลาดในการเขียนหรือพิมพ์ ก็เป็นความผิดพลาดในการเขียนหรือพิมพ์หนังสือหรือจำนวนและรายชื่อ เจ้าพนักงานตำรวจผู้ออกสืบสวนจับกุม แตกต่างจากจำนวนและรายชื่อเจ้าพนักงานตำรวจตามบันทึกการอายัด ก็ไม่ใช่ข้อพิรุธ หรือที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าบันทึกการตรวจยึดเรือของกลางพิมพ์ชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่ถูกต้อง พลตำรวจตรีชนสิษฎ์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่าเป็นการพิมพ์ข้อความผิดหลงและยืนยันว่าเป็นบริษัทจำเลยที่ 1 ข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในเรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นเพียงพลความไม่มีสาระสำคัญถึงกับเป็นเหตุให้การตรวจค้นและการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่จำเลยทั้งสองอ้างฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประการที่สี่ว่า คดีนี้มีสายลับผู้นำจับหรือไม่ เห็นว่า พลตำรวจตรีชนสิษฎ์เบิกความว่า ก่อนวันที่ 28 เมษายน 2541พยานได้รับแจ้งจากสายลับซึ่งประสงค์จะรับสินบนนำจับว่ามีผู้ลักลอบนำเรือของกลางหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรมาจอดอยู่ที่ท่าเรือโอเชี่ยน มารีน่า พยานกับพวกจึงไปดำเนินการตรวจค้นจนกระทั่งมีการอายัดและยึดเรือของกลางดำเนินคดีในเวลาต่อมา โดยมีการระบุถึงการที่พยานได้รับแจ้งจากสายลับไว้ในบันทึกเรื่องขออนุมัติออกสืบสวนจับกุมที่เสนอต่อผู้บังคับบัญชา ซึ่งการสืบสวนจับกุมคดีทำนองนี้ หากไม่มีผู้ใดแจ้งเบาะแสให้ทราบ บางครั้งก็เป็นเรื่องยากที่เจ้าพนักงานตำรวจจะทราบเองได้ ดังนี้การที่พลตำรวจตรีชนสิษฎ์อ้างว่า มีสายลับมาแจ้งเหตุให้ทราบ จึงไม่เป็นพิรุธแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าพลตำรวจตรีชนสิษฎ์มีเรือยอช์ทจอดอยู่ที่ท่าเรือดังกล่าวเช่นกันจึงเห็นเรือของกลางนั้น จำเลยทั้งสองเพียงกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่มีหลักฐานมาแสดงให้รับฟังได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริง ข้ออ้างของจำเลยทั้งสองข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า คดีนี้มีสายลับผู้แจ้งความนำจับจริงตามที่โจทก์ระบุในฟ้อง
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประการที่ห้าว่า การประเมินราคาเรือของกลางชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า นายมเหสักข์เป็นเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ไม่เคยรู้จักกับจำเลยทั้งสองมาก่อน ทั้งการประเมินราคาเรือของกลางก็มีหลักเกณฑ์อ้างอิง โดยมีคณะทำงานที่กรมศุลกากรตั้งขึ้นคอยกำกับดูแลอยู่ด้วยจึงไม่มีเหตุให้ระแวงว่าพยานจะประเมินราคาเรือให้สูงเกินความเป็นจริงเพื่อให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยทั้งสอง ดังนั้น การประเมินราคาเรือของกลาง จึงชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การคำนวณค่าปรับได้รวมเอาค่าภาษีการค้าและภาษีเทศบาลเข้าไปรวมกับค่าเรือแล้วจึงนำไปคำนวณเป็นเงินค่าปรับ 4 เท่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 จึงไม่ชอบ นั้น เห็นว่า มีการประเมินราคาเรือของกลางหลังหักค่าเสื่อมราคาแล้วคิดเป็นเงิน 41,161,824 บาท ซึ่งต้องเสียค่าภาษีศุลกากรรวมเป็นเงิน 13,583,401 บาท รวมเป็นเงิน 54,745,225 บาท ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวนี้ศาลล่างทั้งสองนำมาเป็นเกณฑ์คิดคำนวณค่าปรับที่ลงโทษแก่จำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาเท่านั้น หาได้รวมเอาค่าภาษีการค้าและภาษีเทศบาลเข้ามารวมเพื่อคิดคำนวณด้วยดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองในส่วนนี้จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ส่วนฎีกาข้ออื่น ๆ ของจำเลยทั้งสองนอกจากที่วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นล้วนไม่ใช่ข้อสาระสำคัญอันจะทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัยให้
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นประการสุดท้ายว่า คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองในส่วนที่ให้ริบเงินตามสัญญาประกันเท่ากับราคาเรือของกลางและให้จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับและเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุมผู้กระทำความผิดจากเงินตามสัญญาประกันชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เงินตามสัญญาประกันดังกล่าวเป็นค่าเสียหายที่บริษัทลาเด้นสไตน์ จำกัด ทำสัญญาไว้ต่อกรมศุลกากรในการขอรับเรือของกลางไปเก็บรักษาว่า หากเรือของกลางเสียหายหรือไม่สามารถส่งมอบเรือคืนให้ในสภาพเดิมได้ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กรมศุลกากรเป็นเงิน 133,821,659 บาท เงินจำนวนนี้จึงหาใช่เงินที่ศาลจะมีอำนาจสั่งริบแทนเรือของกลางซึ่งเป็นทรัพย์ที่ใช้กระทำความผิดคดีนี้โดยตรงได้ไม่ หากปรากฏว่าภายหลังศาลมีคำพิพากษาให้ริบเรือของกลางแล้ว บริษัทลาเด้นสไตน์จำกัด ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้อย่างไร กรมศุลกากรก็มีสิทธิฟ้องบังคับเงินค่าเสียหายจากบริษัทดังกล่าวได้เป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง แม้โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านในประเด็นดังกล่าวนี้ไว้ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย โจทก์มีสิทธิยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาดังกล่าว ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่ให้ริบเงินตามสัญญาประกันเท่ากับราคาเรือของกลางกับให้จ่ายสินบนและเงินรางวัลจากเงินตามสัญญาประกันนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์