คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4246/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในการรับขนของ โจทก์ผู้ขนส่งได้ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ขายหรือผู้ส่งของไว้ เป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขน ซึ่งระบุข้อความสำคัญเกี่ยวกับชนิดของหีบห่อลักษณะของสินค้าว่าผู้ส่งเป็นผู้บรรจุและตรวจนับสินค้าเข้าตู้สินค้า และสถานที่ส่งมอบสินค้าคือลานวางตู้สินค้า ท่าเรือกรุงเทพมหานคร จำเลยผู้สั่งซื้อสินค้าจึงมีหน้าที่มารับสินค้าจากโจทก์ ณ สถานที่ดังกล่าว แต่เมื่อสินค้าอยู่ในตู้สินค้าและการรับสินค้าต้องรับตู้สินค้าที่บรรจุสินค้านั้นไปด้วย เพราะจำเป็นต้องขนตู้สินค้าไปยังโกดังสินค้าของจำเลยเพื่อนำสินค้าออกจากตู้สินค้า จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยในการขนตู้สินค้าไปยังโกดังสินค้า และเมื่อจำเลยนำสินค้าออกจากตู้สินค้าแล้วก็ย่อมมีหน้าที่ต้องนำตู้สินค้าไปคืนให้แก่โจทก์หรือตัวแทนของโจทก์ภายในกำหนด14 วัน นับแต่เรือบรรทุกสินค้ามาถึงท่าเรือปลายทางเมื่อเรือบรรทุกสินค้ามาถึงท่าเรือกรุงเทพมหานครและได้มีการขนถ่ายสินค้าจากเรือโดยมีบริษัท ว. เป็นตัวแทนผู้ดำเนินพิธีการทางศุลกากรและรับสินค้าให้แก่จำเลย และได้นำสินค้าของจำเลยไปยังโกดังสินค้าของจำเลยโดยใช้บริการ ร.ส.พ. เมื่อตู้สินค้าตู้หนึ่งคนขับรถของ ร.ส.พ. มิได้นำไปคืนให้แก่ตัวแทนโจทก์จนล่วงเลยกำหนดเวลาดังกล่าวไปแล้ว จำเลยในฐานะตัวการของผู้ขนตู้สินค้าดังกล่าวไปยังโกดังสินค้าของจำเลยและเป็นผู้มีหน้าที่ต้องคืนตู้สินค้าแก่โจทก์จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในกรณีที่โจทก์ไม่ได้รับตู้สินค้าคืนจากจำเลยภายในกำหนดเวลา14 วัน นับแต่เรือบรรทุกสินค้ามาถึงท่าเรือปลายทาง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 143,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยส่งมอบตู้สินค้าแก่โจทก์และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายในอัตราวันละ 400 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะส่งมอบตู้สินค้าหมายเลข เอ็นวายเคยู 2215115 คืนให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 75,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจากความล่าช้าแก่โจทก์วันละ 200 บาท นับแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2538 เป็นต้นไป แต่ไม่เกินระยะเวลา 2 ปี ให้จำเลยส่งมอบตู้สินค้าหมายเลขเอ็นวายเคยู 2215115 แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 75,000 บาท และค่าปรับอีก 50,000 บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอเกี่ยวกับค่าปรับจำนวน 50,000 บาทตามฟ้องข้อ 4.2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยสั่งซื้อสินค้าวัตถุดิบสำหรับผลิตสมุดเก็บภาพจากบริษัทแซมวางอินดัสเตรียล จำกัด ซึ่งอยู่ที่ประเทศเกาหลีใต้ผู้ขายว่าจ้างโจทก์ให้ขนส่งสินค้ามายังประเทศไทยเพื่อส่งมอบให้แก่จำเลย โดยผู้ขายเป็นผู้บรรจุสินค้าในตู้สินค้าหรือตู้คอนเทนเนอร์พิพาทของโจทก์แล้วส่งมอบแก่โจทก์ โจทก์ได้ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ขายสินค้าดังกล่าวในฐานะผู้ส่งของตามเอกสารหมาย จ.1 เรือบรรทุกสินค้ามาถึงท่าเรือกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2538 และจำเลยรับสินค้าที่บรรจุในตู้สินค้าไปแล้วโดยมีการขนตู้สินค้าจากท่าเรือกรุงเทพมหานคร ไปยังโกดังสินค้าของจำเลยที่จังหวัดนครนายกเพื่อนำสินค้าออกจากตู้สินค้าคดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายในการไม่ส่งคืนตู้สินค้าที่บรรจุสินค้ามาด้วยหรือไม่โดยจำเลยฎีกาอ้างว่าความสัมพันธ์ที่จำเลยในฐานะผู้ทรงใบตราส่งต้องปฏิบัติต่อโจทก์ผู้ขนส่งเกี่ยวกับการขนส่งของตามข้อกำหนดในใบตราส่งตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 นั้น หมายถึงเรื่องเกี่ยวกับตัวสินค้าเท่านั้นไม่รวมถึงตู้สินค้าด้วย เมื่อจำเลยได้นำสินค้าที่บรรทุกอยู่ในเรือของโจทก์ออกไปภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่เรือบรรทุกสินค้ามาถึงท่าเรือปลายทางแล้วจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับตู้สินค้า ปัญหานี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่า การรับขนของในคดีนี้โจทก์ผู้ขนส่งได้ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ขายหรือผู้ส่งของไว้เป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งระบุข้อความสำคัญเกี่ยวกับชนิดของหีบห่อลักษณะสินค้าว่าผู้ส่งเป็นผู้บรรจุและตรวจนับสินค้าเข้าตู้สินค้าสถานที่ส่งมอบสินค้าคือลานวางตู้สินค้า ท่าเรือกรุงเทพมหานคร เมื่อใบตราส่งเอกสารหมาย จ.1 มีข้อกำหนดที่สำคัญว่าสถานที่ส่งมอบสินค้าคือ ลานวางตู้สินค้าท่าเรือกรุงเทพมหานคร ดังนั้น จำเลยจึงมีหน้าที่มารับสินค้าจากโจทก์ ณ สถานที่ดังกล่าว แต่เมื่อสินค้าอยู่ในตู้สินค้า และการรับสินค้าต้องรับตู้สินค้าที่บรรจุสินค้านั้นไปด้วย เพราะจำเป็นต้องขนตู้สินค้าไปยังโกดังสินค้าของจำเลยเพื่อนำสินค้าออกจากตู้สินค้า เช่นนี้จึงตกเป็นหน้าที่ของจำเลยในการขนตู้สินค้าบรรจุสินค้าไปยังโกดังสินค้านั้น และเมื่อจำเลยนำสินค้าออกจากตู้สินค้าที่โกดังสินค้าของจำเลยแล้วก็ย่อมมีหน้าที่ต้องนำตู้สินค้าไปคืนให้แก่โจทก์หรือตัวแทนโจทก์ภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่เรือบรรทุกสินค้ามาถึงท่าเรือปลายทางเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เรือเอเซี่ยน ปริ้นเซส บรรทุกสินค้ามาถึงท่าเรือกรุงเทพมหานครและได้มีการขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือโดยมีบริษัทเวิล์ดบริจ ทรานสปอร์ตเตชั่น จำกัด เป็นตัวแทนผู้ดำเนินพิธีการทางศุลกากรและรับสินค้าให้แก่จำเลย โดยสินค้าดังกล่าวบรรจุอยู่ในตู้สินค้า 2 ตู้ แล้วใช้รถบรรทุกขององค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ลากตู้สินค้าดังกล่าวไปที่โกดังสินค้าของจำเลยที่จังหวัดนครนายก หลังจากนั้นโจทก์ได้รับตู้สินค้าคืนจากจำเลยเพียงตู้เดียว ส่วนตู้สินค้าอีกหนึ่งตู้ปรากฏว่าคนขับรถขององค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ได้ลากไปไว้ในสถานที่แห่งอื่น มิได้นำไปคืนให้แก่ตัวแทนโจทก์จนล่วงเลยกำหนดระยะเวลาดังกล่าวไปแล้ว จำเลยในฐานะตัวการของผู้ขนตู้สินค้าดังกล่าวไปยังโกดังสินค้าของจำเลยและเป็นผู้มีหน้าที่ต้องคืนตู้สินค้าแก่โจทก์จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในกรณีที่โจทก์ไม่ได้รับตู้สินค้าคืนจากจำเลยภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่เรือบรรทุกสินค้ามาถึงท่าเรือปลายทางซึ่งเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ส่วนปัญหาที่ว่ามีบุคคลภายนอกจะต้องรับผิดต่อจำเลยในการกระทำดังกล่าวนั้นหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องไปว่ากล่าวกันต่างหากจากคดีนี้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share