คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4241/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีฯข้อ 85 กำหนดให้ผู้ซื้อทรัพย์ต้องชำระเงินทันที เว้นแต่ทรัพย์ซึ่งมีราคาตั้งแต่ 1,000บาทขึ้นไป เจ้าพนักงานอาจผ่อนผันให้ผู้ซื้อทรัพย์วางเงินมัดจำไม่เกินร้อยละ 25 ของราคาซื้อและทำสัญญาใช้เงินที่ค้างชำระภายในเวลาไม่เกิน 15 วัน ก็ได้นั้น ปรากฏว่าผู้ร้องได้ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวทุกประการโดยชำระราคาค่าเช่าซื้อทรัพย์ครบถ้วนแล้ว แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่ขายทอดตลาดให้ผู้ร้องได้เนื่องจากจำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด แม้ผู้ร้องจะได้รับเงินค่าซื้อทรัพย์คืนไปจำนวน 2,090,000 บาท เงินส่วนที่เหลือก็เป็นเงินที่ผู้ร้องวางไว้เป็นการชำระหนี้ส่วนหนึ่งของราคาทั้งหมด มิใช่เงินมัดจำที่วางไว้ในการซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดแต่อย่างใด เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ยกคำขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยแล้ว ผู้ร้องมีหน้าที่นำเงินค่าซื้อทรัพย์ที่รับคืนไปจำนวน2,090,000 บาทไปชำระแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่ซื้อ หากผู้ร้องไม่นำเงินดังกล่าวมาชำระแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามระยะเวลาที่กำหนด ผู้ร้องจึงตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องรับผิดชำระราคาส่วนที่ขาดอยู่ หากการขายทอดตลาดครั้งใหม่ได้ราคาต่ำกว่าราคาที่ผู้ร้องประมูลได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 516 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จึงมีสิทธิยึดเงินจำนวน 110,000 บาท ไว้เป็นประกันราคาทรัพย์ที่จะขายทอดตลาดครั้งใหม่ได้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและขอเงินจำนวน 110,000 บาทคืนได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2531 โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2533 และพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2533 ต่อมาวันที่ 3 ธันวาคม 2535 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 89980 แขวงสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ)เขตพญาไท (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลยออกขายทอดตลาด วันที่ 12 กรกฎาคม 2536 ผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อได้ในราคา 2,200,000 บาท และได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินในวันเดียวกันกับได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ปฏิบัติการแทนครบถ้วนแล้ว ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม 2536 จำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทวันที่ 19 ตุลาคม 2536 ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอให้คืนเงินค่าซื้อที่ดินพิพาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หักไว้เป็นเงินค่ามัดจำอัตราร้อยละ 5 เป็นเงิน 110,000 บาท และคืนให้ผู้ร้องเป็นเงิน 2,090,000 บาท ต่อมาวันที่ 17 เมษายน2540 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลย และวันที่ 3 กันยายน 2541 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งให้ผู้ร้องนำเงินค่าซื้อที่ดินจำนวน 2,090,000 บาท มาชำระภายใน 15 วัน และรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท มิฉะนั้นจะริบเงินมัดจำและนำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดใหม่ ซึ่งผู้ร้องจะต้องรับผิดในความเสียหายหากขายทอดตลาดได้ราคาต่ำกว่าเดิม

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี (ที่ถูก เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ให้มีการเลิกสัญญาซื้อขายและคืนเงินมัดจำจำนวน 110,000บาท ให้ผู้ร้อง

ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องของผู้ร้องแล้วมีคำสั่งงดไต่สวน และให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า ผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 89980 จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และผู้ร้องได้ชำระราคาที่ดินจำนวน 2,200,000 บาท ครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินที่ผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อได้และขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างการพิจารณา โดยขอให้ระงับการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินไว้ก่อน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองประโยชน์ให้ตามขอ ผู้ร้องจึงขอคืนราคาที่ดินที่ชำระไว้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คืนเงินจำนวน 2,090,000 บาท ให้ผู้ร้องโดยเหลือไว้เป็นเงินค่ามัดจำจำนวน 110,000บาท หลังจากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของจำเลย คดีถึงที่สุด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งให้ผู้ร้องทราบและมีคำสั่งให้ผู้ร้องนำเงินค่าซื้อที่ดินพิพาทจำนวน 2,090,000 บาทมาชำระแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทภายใน 15 วัน หากไม่ชำระภายในกำหนดจะริบเงินมัดจำและนำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดใหม่ หากได้เงินสุทธิไม่คุ้มราคาขายทอดตลาดเดิม ผู้ร้องจะต้องรับผิดในส่วนราคาที่ขาด คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องจะขอให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวและให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คืนเงินมัดจำให้แก่ผู้ร้องได้หรือไม่ เห็นว่า ตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ. 2522 ข้อ 85 ที่กำหนดให้ผู้ซื้อทรัพย์ต้องชำระเงินทันที เว้นแต่ทรัพย์ซึ่งมีราคาตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป เจ้าพนักงานอาจผ่อนผันให้ผู้ซื้อทรัพย์วางเงินมัดจำไม่เกินร้อยละ 25 ของราคาซื้อและทำสัญญาใช้เงินที่ค้างชำระภายในเวลาไม่เกิน 15 วันก็ได้นั้น ซึ่งปรากฏว่าผู้ร้องได้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมดังกล่าวทุกประการ โดยได้ชำระราคาค่าซื้อทรัพย์ครบถ้วนแล้ว แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่ขายทอดตลาดให้ผู้ร้องได้เนื่องจากจำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด แม้ผู้ร้องจะได้รับเงินค่าซื้อทรัพย์คืนไปจำนวน 2,090,000 บาท ก็ตาม เงินส่วนที่เหลือก็เป็นเงินที่ผู้ร้องวางไว้เป็นการชำระหนี้ส่วนหนึ่งของราคาทั้งหมด มิใช่เงินมัดจำที่วางไว้ในการซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดแต่อย่างใด เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ยกคำขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยแล้ว ผู้ร้องมีหน้าที่นำเงินค่าซื้อทรัพย์ที่รับคืนไปจำนวน 2,090,000 บาทไปชำระแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่ซื้อ หากผู้ร้องไม่นำเงินส่วนที่รับคืนไปมาชำระแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามระยะเวลาที่กำหนด ผู้ร้องจึงตกเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต้องรับผิดชำระราคาส่วนที่ขาดอยู่หากการขายทอดตลาดครั้งใหม่ได้ราคาต่ำกว่าราคาที่ผู้ร้องประมูลได้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 516 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีสิทธิยึดเงินจำนวน 110,000 บาทไว้เป็นประกันราคาทรัพย์ที่จะขายทอดตลาดครั้งใหม่ได้ คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบแล้ว ผู้ร้องไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและขอเงินจำนวน 110,000 บาทคืน ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง และศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share