คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 422/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อมีพฤติการณ์ที่ทำให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตใจว่า ผู้เสียหายทุจริตในขณะเป็นกรรมการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการ จำเลยจึงกล่าวข้อความเช่นนั้นในขณะพูดหาเสียงให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลซึ่งผู้เสียหายเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วย จึงเป็นการแสดงข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) และเนื่องจากจำเลยเป็นผู้สมัครสอบในครั้งนั้นด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตามมาตรา 329 (1) อีกด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้หมิ่นประมาทนายเกียรติผู้เสียหายด้วยการโฆษณาโดยใช้เครื่องกระจายเสียง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๒๖, ๓๒๘ ฯลฯ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๒๖, ๓๒๘ ลงโทษปรับ ๖๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยและนายบรรเทิง สมัครสอบเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยของเทศบาลเมืองมหาสารคาม นายบรรเทิงสอบได้จำเลยสอบไม่ได้ หลังจากนายบรรเทิงเข้าทำงานได้ประมาณ ๒เดือนก็ถูกนายเกียรติผู้เสียหายในฐานะนายกเทศมนตรีสั่งให้ออกจากงานฐานละทิ้งหน้าที่ราชการ นายคำบิดาของนายบรรเทิงมีหนังสือร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดว่า ในการสอบเข้าทำงานนายคำได้ให้เงินผู้เสียหาย ๑๕,๐๐๐ บาทตามคำเรียกร้องเพื่อช่วยให้นายบรรเทิงสอบได้ เมื่อนายบรรเทิงถูกผู้เสียหายสั่งให้ออกจากงานโดยไม่มีเหตุอันสมควรจึงขอเงินคืน แต่ผู้เสียหายไม่ให้ ต่อมาผู้เสียหายคืนเงินให้นายคำ นายคำจึงไปขอถอนคำร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดโดยอ้างว่าตามที่ร้องเรียนนั้นไม่เป็นความจริง เมื่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมาสอบสวนนายคำและนายบรรเทิงก็ให้การว่าถอนคำร้องเพราะได้รับเงินคืนจากผู้เสียหายแล้ว ตามพฤติการณ์ดังกล่าวมานี้แม้ข้อที่นายคำและนายบรรเทิงกล่าวหาผู้เสียหายนั้นจะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม แต่ก็มีเหตุที่ทำให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตใจว่าการที่นายบรรเทิงสอบได้เพราะผู้เสียหายช่วยเหลือเนื่องจากได้รับเงินเป็นค่าตอบแทน ส่วนจำเลยซึ่งไม่มีเงินให้จึงสอบไม่ได้ การที่จำเลยกล่าวข้อความว่า “นายเกียรติกินเงินผู้ที่สอบเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยของเทศบาลเมืองมหาสารคาม และนายเกียรติได้ใช้ให้รองปลัดเทศบาลตัดคะแนนของนายทวี (จำเลย) ตัวนายทวีเองเป็นคนจนไม่มีเงินให้นายเกียรติจึงสอบไม่ได้” ในขณะพูดหาเสียงให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล ก็เพื่อให้ประชาชนใช้ดุลพินิจเลือกคนดีมีความซื่อสัตย์สุจริตเข้าไปบริหารบ้านเมือง อันเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นส่วนรวม จึงถือได้ว่าเป็นการแสดงข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ต้องตามมาตรา ๓๒๙(๓) แห่งประมวลกฎหมายอาญา และเนื่องจากจำเลยเป็นผู้สมัครสอบในครั้งนั้นด้วยผู้หนึ่ง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมต้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙(๑) อีกด้วย
พิพากษายืน

Share