แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำว่าผู้ใดในพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493มาตรา 20 และพระราชบัญญัติชื่อเดียวกัน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2495 มาตรา 4 หมายความถึงคนต่างด้าวเท่านั้นคนที่เกิดในประเทศไทย แต่ถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเมื่อขาดต่ออายุใบสำคัญนี้ จึงไม่มีความผิดตามมาตราทั้งสองข้างต้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคนต่างด้าวมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวแล้วแต่ขาดต่ออายุใบสำคัญนั้น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493 และพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2495
จำเลยให้การว่าเป็นคนเกิดในประเทศไทย
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเกิดในประเทศไทย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาเป็นข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อฟังว่าจำเลยเกิดในประเทศไทยแล้วแม้จำเลยจะถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และขาดต่ออายุใบสำคัญนั้นก็ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าวพ.ศ. 2493 มาตรา 20 และพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2495 มาตรา 5 เพราะคำว่าผู้ใดในมาตราเหล่านี้หมายความถึงคนต่างด้าวเท่านั้น
พิพากษายืน