คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 419/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญามีข้อความระบุว่า โจทก์ขายฝากที่นาพิพาทแก่จำเลยมีกำหนดไถ่ 1 ปี ถ้าไม่ไถ่ถอนตามกำหนด โจทก์ยอมมอบที่นาให้จำเลยถือครองกรรมสิทธิ์ต่อไป และจะทำการโอนกรรมสิทธิ์ให้ต่อไปในภายหลังดังนี้ ข้อความดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาสละการครอบครองของโจทก์ในเมื่อโจทก์ไม่ไถ่ถอนภายในเวลาที่กำหนดสิทธิครอบครองที่นาพิพาทของโจทก์ย่อมสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. ม.1377

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยทั้งสองนำสืบว่าเมื่อวันที่ 15มีนาคม 2514 โจทก์เสนอขายที่นาพิพาทในราคา 30,000 บาท จำเลยทั้งสองตกลงซื้อและชำระราคาเป็นเงินสด 28,000 บาท อีก 2,000 บาทเอาข้าวเปลือก 3 เกวียนให้แทน แล้วไปทำสัญญาซื้อขายหมาย ล.1 กันที่บ้านนายจารย์ สายกระสุน กำนัน นายจารย์เป็นคนเขียนสัญญา ระบุว่าเป็นการขายฝากที่นาพิพาทเป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท กำหนดไถ่ 1 ปีนับแต่วันที่ 15 มีนาคม 2514 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2515 ถ้าไม่ไถ่ถอนตามกำหนด ก็ยอมมอบที่นาให้ถือครอบครองกรรมสิทธิ์ต่อไป และจะทำการโอนกรรมสิทธิ์ให้ต่อไปในภายหลัง จำเลยทั้งสองออกเงินกันคนละ 14,000บาทมอบให้นายจารย์จ่ายให้แก่โจทก์ โจทก์ได้พิมพ์ลายนิ้วมือไว้ในช่องผู้ขาย จำเลยทั้งสองลงชื่อเป็นผู้ซื้อ แล้วให้นายสุวรรณบุตรโจทก์กับนายจารย์ลงชื่อเป็นพยาน หลังจากทำสัญญากันแล้ว จำเลยทั้งสองต่างแบ่งกันทำนาพิพาทคนละครึ่งตลอดมา จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำสำรวจเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่และเสียภาษีที่นาพิพาท มีหลักฐานตามเอกสารหมาย ล.2ถึง ล.6 เมื่อเดือนเมษายน 2521 จำเลยทั้งสองได้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการรังวัดที่นาพิพาทเพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.)โจทก์กับนางเหลืองบุตรโจทก์จึงไปขอไถ่ที่นาพิพาทคืน แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมให้ไถ่เพราะเลยกำหนด 1 ปีแล้ว ที่นาพิพาทจึงตกเป็นสิทธิของจำเลย

ในปัญหาว่าโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาหมาย ล.1 กันไว้หรือไม่นั้นพิจารณาสัญญาหมาย ล.1 แล้ว เห็นว่า ข้อนำสืบของโจทก์ที่อ้างว่าโจทก์กู้เงินจำเลยแล้ว จำเลยให้โจทก์พิมพ์ลายนิ้วมือไว้ในกระดาษเปล่า ไม่สมเหตุผล เพราะข้อความในเอกสารดังกล่าวสิ้นสุดลงตรงช่วงที่โจทก์พิมพ์ลายนิ้วมือพอดี ทั้งข้อความในเอกสารก็มีใจความกลมกลืนกัน ไม่มีร่องรอยหรือความพิรุธใด ๆ ที่จะส่อให้เห็นว่าได้มีการเขียนข้อความขึ้นหลังจากโจทก์ได้พิมพ์ลายนิ้วมือลงไปแล้ว ยิ่งกว่านั้นนายจารย์กำนันผู้เขียนสัญญาซึ่งเป็นพยานโจทก์เองก็เบิกความสมข้อนำสืบของจำเลยว่า ได้เขียนสัญญาต่อหน้าจำเลยทั้งสองและนายสุวรรณบุตรโจทก์ซึ่งเคยเป็นสารวัตรกำนันแล้ว นำไปให้โจทก์พิมพ์ลายนิ้วมือ เพราะขณะนั้นโจทก์ป่วยอยู่ ได้ให้นายสุวรรณมาตกลงทำสัญญาแทน ถ้าหากข้อความในสัญญาไม่ตรงกับเจตนาของโจทก์แล้ว นายสุวรรณคงไม่ยอมให้โจทก์พิมพ์ลายนิ้วมือเป็นคู่สัญญาในเอกสารนั้น พยานจำเลยเบิกความสอดคล้องกัน มีน้ำหนักน่าเชื่อว่าข้อนำสืบของโจทก์ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์จำเลยได้ทำสัญญากันมีข้อความตามเอกสารหมาย ล.1 ที่โจทก์ฎีกาว่าข้อตกลงจะไถ่ที่นาพิพาทคืนภายใน 1 ปี เป็นเพียงกำหนดเวลาชำระหนี้ แปลความไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสละสิทธิครอบครองนั้น เห็นว่าสัญญาหมาย ล.1 ข้อ 3ตอนท้ายมีข้อความย้ำไว้ชัดเจนว่า เมื่อโจทก์มิได้ไถ่ถอนตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ โจทก์ยินยอมมอบที่นาพิพาทให้แก่จำเลยถือครอบครองกรรมสิทธิ์ต่อไป และโจทก์จะทำการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยต่อไปในภายหลัง ข้อความดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาสละการครอบครองของโจทก์ในเมื่อโจทก์ไม่ไถ่ภายในเวลาที่กำหนดสิทธิครอบครองที่นาพิพาทของโจทก์ย่อมสิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377”

พิพากษายืน

Share