คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4172/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยนำเข้าซึ่งสินค้าเส้นด้ายใย ประดิษฐ์ โดยแสดงว่าจะใช้ผลิตหรือผสมหรือประกอบส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศเพื่อขอคืนอากรโดยจำเลยได้สำแดงรายการเสียภาษีอากรไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าแล้วว่าต้องเสียภาษีอากรประเภทใด เป็นจำนวนเงินเท่าใด โดยมีธนาคารทำหนังสือค้ำประกันระบุจำนวนเงินไว้ต่อโจทก์ เพื่อขอรับของที่นำเข้าไปจากโจทก์ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ชำระภาษีอากรแล้ว เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินมิได้ทักท้วงเกี่ยวกับจำนวนภาษีอากรที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าว่าไม่ถูกต้องอย่างใด จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนค่าภาษีอากรสำหรับของที่จำเลยนำเข้า เมื่อจำเลยไม่ใช้ของที่นำเข้ามาผลิตหรือผสมหรือประกอบส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศภายใน 1 ปี จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยจะต้องชำระภาษีอากรตามจำนวนที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมด้วยเงินเพิ่ม และมิใช่หน้าที่โจทก์จะต้องติดตามทางถาม หรือแจ้งให้จำเลยนำค่าภาษีอากรไปชำระและมิได้มีบทบัญญัติมาตราใด แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร บัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินเรียกเก็บเงินจากธนาคารผู้ค้ำประกันทันทีดังนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินจะเรียกให้จำเลยหรือผู้ค้ำประกันชำระค่าภาษีอากรเมื่อใดก็ได้ภายในอายุความ จำเลยนำของเข้ามาในราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2518แต่จำเลยมิได้ใช้ของที่นำเข้ามานั้นผลิตหรือผสมหรือประกอบสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศภายใน 1 ปี ดังนี้โจทก์เกิดสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระภาษีอากรตามจำนวนที่จำเลยสำแดงไว้ นับถัด จากวันที่ครบ 1 ปี คือ วันที่ 1 มิถุนายน เป็นต้นไป เมื่อนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 30 พฤษภาคม 2529 ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนำสินค้าเส้นด้ายเข้ามาในราชอาณาจักร แต่มิได้นำไปใช้ในการผลิตหรือผสมหรือประกอบสินค้าเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศภายใน 1 ปี ขอให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 196,123.46 บาทและให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน จากจำนวนอากรขาเข้าที่จำเลยจะต้องชำระเพิ่มเติม125,522 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระอากรขาเข้าที่ค้างชำระให้แก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยชำระค่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินภาษีการค้า จำนวน 11,692.13 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเก็บภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล คดีขาดอายุความ จำเลยไม่ใช่ผู้นำเข้า จำเลยไม่ต้องรับผิด โจทก์มีสิทธิบังคับธนาคารผู้ค้ำประกันได้แต่ไม่เรียกจึงไม่มีสิทธิคิดเงินเพิ่ม
วันชี้สองสถาน ทนายจำเลยแถลงรับว่าโจทก์ที่ 1 มีอำนาจฟ้องเรียกเก็บภาษีอากรการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลได้ และรับว่าจำเลยเป็นผู้นำสินค้าเข้าจริง
ศาลภาษีอากรกลางงดการชี้สองสถานและงดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรพิจารณาแล้ว พิพากษายกคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ให้ศาลภาษีอากรกลางสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลภาษีอากรกลางสอบโจทก์จำเลย ทั้งสองฝ่ายรับข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 196,123.46 บาทแก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากจำนวนอากรขาเข้าที่จำเลยจะต้องชำระเพิ่มเติม 125,522 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามมาตรา 112 ทวิ วรรคแรก เป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินภาษีอากรของโจทก์ที่ 1 มีความเห็นว่าภาษีอากรที่ผู้นำของเข้าสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าที่ยื่นไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1ไม่ถูกต้อง จึงมีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนค่าภาษีอากรว่า ผู้นำของเข้าจะต้องเสียภาษีอากรประเภทใดและเป็นจำนวนเท่าใด ตามมาตรา 112ดังนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินจะต้องทำการประเมินภาษีอากรสำหรับของที่ผู้นำของเข้ามาเสียใหม่ เมื่อประเมินเสร็จแล้ว เป็นหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินจะต้องแจ้งให้ผู้นำของเข้าทราบถึงผลการประเมิน พร้อมทั้งกำหนดให้ผู้นำของเข้านำค่าภาษีอากรที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินไว้ไปชำระภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันทีได้รับแจ้งตามมาตรา 112 ทวิ วรรคแรก ทั้งนี้เพื่อให้โอกาสผู้นำของเข้า ถ้าไม่พอใจในการประเมินภาษีอากรดังกล่าว ก็อุทธรณ์การประเมินต่ออธิบดีของโจทก์ที่ 1 หรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน ตามมาตรา 112 ทวิวรรคสาม แต่ในกรณีที่จำเลยนำของเข้ามาโดยแสดงความจำนงว่าจะใช้ของนั้นผลิต หรือผสม หรือประกอบส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศเพื่อขอคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ จำเลยได้สำแดงรายการเสียภาษีอากรไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าแล้วว่าต้องเสียอากรประเภทใด เป็นจำนวนเท่าใด และได้ให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาสามแยก ทำหนังสือค้ำประกันระบุจำนวนเงินที่ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชอบวางประกันไว้ต่อโจทก์ที่ 1 เพื่อขอรับของที่นำเข้ามาไปจากโจทก์ที่ 1 ซึ่งการกระทำดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ชำระภาษีอากรแล้ว การที่โจทก์ที่ 1 ปล่อยหรือมอบของให้จำเลย โดยยอมรับหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาสามแยก เป็นประกัน ก็เป็นเพียงผ่อนผันการชำระภาษีอากรให้แก่ จำเลย มิใช่เป็นการยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระภาษีอากรที่จำเลยจะต้องชำระดังกล่าว เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินมิได้ทักท้วงเกี่ยวกับจำนวนภาษีอากรที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าว่าไม่ถูกต้องและพนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินก็มิได้ทำการประเมินภาษีอากรสำหรับของที่จำเลยนำเข้ามาเสียใหม่แต่อย่างใด จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนค่าภาษีอากรสำหรับของที่จำเลยนำเข้ามา และจำเลยก็ทราบดีอยู่แล้วว่าของที่จำเลยนำเข้ามาจะต้องเสียภาษีอากรประเภทใดเป็นจำนวนเท่าใด ตามที่จำเลยได้สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้ากรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 112 ทวิ วรรคแรก เมื่อจำเลยไม่ใช้ของที่นำเข้ามาผลิต หรือผสม หรือประกอบ ส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศภายใน 1 ปี จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยจะต้องนำภาษีอากรตามจำนวนที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าไปชำระแก่โจทก์ที่ 1 พร้อมด้วยเงินเพิ่ม ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มิใช่เป็นหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1จะต้องติดตามทวงถามหรือแจ้งให้จำเลยนำค่าภาษีอากรดังกล่าวไปชำระ ในเมื่อจำเลยไม่นำค่าภาษีอากรดังกล่าวไปชำระแก่โจทก์ที่ 1 ก็มิได้มีบทบัญญัติมาตราใดแห่งพระราชบัญญัติศุลกากรบัญญัติไว้ว่า ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินเรียกเก็บเงินจากธนาคารผู้ค้ำประกันได้ทันที และตามพระราชบัญญัติศุลกากรก็ดี ประมวลรัษฎากรก็ดี มิได้กำหนดระยะเวลาให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินติดตามทวงถามได้แต่อย่างใด ดังนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินจะเรียกให้จำเลยหรือผู้ค้ำประกันชำระค่าภาษีอากรที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าเมื่อใดก็ได้ภายในอายุความ และหลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินเรียกให้ธนาคารผู้ค้ำประกันจำเลยนำเงินตามจำนวนในหนังสือค้ำประกันมาหักชำระค่าภาษีอากรซึ่งจำเลยจะต้องชำระแล้วยังขาดอยู่เท่าใด พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยไม่นำภาษีอากรส่วนที่ขาดอยู่มาชำระภายในเวลาที่กำหนด จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มตามมาตรา 112 ตรี และมาตรา 112 จัตวา ส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686ที่บัญญัติไว้ว่า “ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใดท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น” ก็เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิเจ้าหนี้ในอันที่จะเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แก่ตนได้ตั้งแต่ลูกหนี้ผิดนัดเป็นต้นไป และเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แก่ตนเมื่อใดก็ได้ภายในอายุความ มิใช่เป็นบทบัญญัติที่บังคับให้เจ้าหนี้เรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แก่ตนทันทีที่ลูกหนี้ผิดนัดดังที่จำเลยอุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดตามจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องนั้น เห็นว่า ศาลฎีกาได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้วว่า หลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินเรียกให้ธนาคารผู้ค้ำประกันจำเลยนำเงินจำนวนตามหนังสือค้ำประกันมาหักชำระภาษีอากรที่จำเลยจะต้องชำระแล้วยังไม่คุ้มค่าภาษีอากรส่วนที่ยังขาดอยู่จำเลยจะต้องรับผิดชอบพร้อมทั้งเงินเพิ่ม ดังนั้น เมื่อจำเลยแถลงยอมรับไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลภาษีอากรกลาง ลงวันที่ 26 มีนาคม 2530 ว่าหลังจากโจทก์ที่ 1 เรียกร้องให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ชำระเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2527 แล้ว จำเลยจะต้องชำระค่าภาษีอากรเพิ่มเติมอีกจำนวน 138,383.34 บาท และเมื่อคำนวณถึงวันฟ้องจำเลยจะต้องชำระค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มต่าง ๆ รวมเป็นเงิน 196,123.46บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยจึงต้องรับผิดตามจำนวนเงินดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
ที่จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้วเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 บัญญัติไว้ว่า”อันอายุความนั้นท่านให้นับเริ่มแต่ขณะที่จะอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป…” คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยเป็นผู้นำของเข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2518 โดยแสดงความจำนงต่อโจทก์ที่ 1 ว่า จะใช้ของที่นำเข้ามาผลิต หรือผสมหรือประกอบส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศภายในกำหนด ปี นับแต่วันที่นำของดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อขอคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิและได้ให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาสามแยก เป็นผู้ทำหนังสือค้ำประกันมาวางประกันต่อโจทก์ที่ 1 เพื่อให้โจทก์ที่ 1 ปล่อยของให้จำเลยรับไป การที่จำเลยนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารวางประกันต่อโจทก์ที่ 1 ก็เพื่อให้โจทก์ที่ 1 ผ่อนผันให้จำเลยยังไม่ต้องชำระราคาภาษีอากร และถ้าจำเลยใช้ของที่นำเข้ามาผลิตหรือผสม หรือประกอบเป็นสินค้าส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่นำของดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักร โจทก์ที่ 1 ต้องคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารให้จำเลยไปซึ่งก็ถือเสมือนว่าเป็นการคืนอากรตามมาตรา 19 ตรี ดังนั้น ในระหว่าง 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยนำของเข้ามา โจทก์ทั้งสองยังไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระภาษีอากรที่จำเลยได้สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้า แต่เมื่อครบ 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยนำของเข้ามาแล้ว และจำเลยมิได้ใช้ของที่นำเข้ามาผลิต หรือผสม หรือประกอบ คืนสินค้าส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศ โจทก์ทั้งสองจึงเกิดสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระภาษีอากรตามจำนวนที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้า นับถัดจากวันที่ครบ 1 ปี คือวันที่ 1 มิถุนายน 2518 เป็นต้นไป และเมื่อนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 30 พฤษภาคม 2529 ยังไม่เกิน 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167 ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระภาษีอากรแก่โจทก์ทั้งสองตามฟ้องเป็นการชอบแล้วอุทธรณืของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เนื่องจากศาลภาษีอากรกลางมิได้สั่งเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมตามที่ศาลฎีกาพิพากษาไว้ ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้องจึงเห็นสมควรสั่งใหม่ให้ถูกต้องทั้งหมด”
พิพากษายืน.

Share