แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นผู้ได้รับอนุญาตผ่อนผันให้มีสิทธิทำกินชั่วคราวในที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อครบกำหนดอนุญาตแล้ว โจทก์ได้ยื่นหนังสือต่อทางราชการขอทำกินต่อไปอีก ปรากฏว่าโจทก์ซึ่งได้รับอนุญาตให้มีสิทธิทำกินชั่วคราวถึงปี 2531 นั้นเมื่อพ้นกำหนดเวลาทางราชการจะส่งเจ้าหน้าที่มารับคำขอเพื่อนำไปจัดทำใบ สทก.2ต่อไป แต่ในปี 2532 ทางราชการมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอจึงไม่ได้จัดส่งคนไปรับคำขอเพิ่งจะส่งเจ้าหน้าที่ไปรับคำขอเมื่อปี 2533 กรณีจึงเป็นเรื่องตกค้างจากปี 2533 ซึ่งป่าไม้เขตมีคำสั่งรับใบคำขอของโจทก์แล้ว ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิทำกินในที่ดินพิพาทอยู่ต่อเนื่องตลอดมา โจทก์ซึ่งมีสิทธิทำกินในที่ดินพิพาทย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยได้รับอนุญาตผ่อนผันให้มีสิทธิทำกินชั่วคราวจากกรมป่าไม้ เมื่อวันที่ 19มิถุนายน 2537 จำเลยได้ว่าจ้างรถแทรกเตอร์เข้าไปไถในที่ดินดังกล่าว โดยเจตนายึดถือเอาที่ดินทั้งหมดเป็นของตน ขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท และห้ามจำเลยหรือบริวารเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนสิทธิของโจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยซื้อมาจากโจทก์เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2532 ในราคา 30,000 บาท โจทก์เพิ่งขออนุญาตทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2534 ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากโจทก์ขายที่ดินให้จำเลยแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่กรรม นางไล พงษ์สุระ ทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทและห้ามจำเลยหรือบริวารเข้าไปกระทำการอันเป็นการรบกวนสิทธิของโจทก์ในที่ดินพิพาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์มีชื่อเป็นผู้ได้รับอนุญาตผ่อนผันให้มีสิทธิทำกินชั่วคราวในที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเรียกว่า สทก.1 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า ทางราชการอนุญาตให้โจทก์เข้าทำกินชั่วคราวในที่ดินพิพาทถึงวันที่ 31สิงหาคม 2531 เท่านั้น ต่อมาวันที่ 10 มิถุนายน 2534 โจทก์ได้ยื่นหนังสือต่อทางราชการเพื่อขอทำกินต่อไปอีก ไม่มีหนังสืออนุญาตว่าอนุญาตให้โจทก์เข้าทำกินชั่วคราวได้ถึงวันที่เท่าไร เท่ากับว่าโจทก์ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำกินต่อไปนั้นเห็นว่า โจทก์เป็นผู้ได้รับอนุญาตผ่อนผันให้มีสิทธิทำกินชั่วคราวในที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อครบกำหนดอนุญาตในวันที่ 31 สิงหาคม 2531 แล้วต่อมาวันที่ 10 มิถุนายน 2534 โจทก์ได้ยื่นหนังสือต่อทางราชการขอทำกินต่อไปอีกซึ่งได้ความจากคำเบิกความของนายประสงค์ไพรวัลย์ พนักงานป่าไม้ สำนักงานป่าไม้เขตอุบลราชธานี พยานโจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ 447/2532 ของศาลชั้นต้นว่า กรณีของโจทก์ซึ่งได้รับอนุญาตให้มีสิทธิทำกินชั่วคราวถึงปี 2531 เมื่อพ้นกำหนดเวลาทางราชการจะส่งเจ้าหน้าที่มารับคำขอเพื่อนำไปจัดทำใบสทก. 2 ต่อไป แต่ในปี 2532 ทางราชการมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอจึงไม่ได้จัดส่งคนไปรับคำขอ เพิ่งจะส่งเจ้าหน้าที่ไปรับคำขอเมื่อปี 2533 กรณีของโจทก์เป็นเรื่องตกค้างจากปี 2533 ซึ่งป่าไม้เขตอุบลราชธานีมีคำสั่งที่ 921/2534 รับใบคำขอของโจทก์ โจทก์ยื่นคำขอต่อพยานเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2534 ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิทำกินในที่ดินพิพาทอยู่ต่อเนื่องตลอดมา โจทก์ซึ่งมีสิทธิทำกินในที่ดินพิพาทย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า โจทก์ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยแล้วหรือไม่โจทก์และจำเลยต่างมีพยานบุคคลนำสืบตามข้ออ้างของตน โดยจำเลยนำสืบว่าโจทก์ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยแล้ว โจทก์นำสืบว่าไม่ได้ขาย แต่จำเลยเคยเบิกความไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ 447/2532 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์ฟ้องกรมทางหลวงบุกรุกที่ดินพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ซึ่งเป็นการเบิกความเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2534 เป็นเวลาหลังวันที่ 4 มกราคม 2532 ที่จำเลยอ้างว่าซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์ น่าเชื่อว่าที่ดินพิพาทยังเป็นของโจทก์ตลอดมาและโจทก์ไม่ได้ขายให้จำเลย ที่จำเลยฎีกาว่า เบิกความไปตามคำแนะนำของผู้รู้กฎหมายฟังไม่ขึ้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน