คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4135/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี รวม 40 กระทง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังคงลงโทษจำเลยแต่ละกระทงตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด แต่เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดเพียง 13 กระทง ถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อย จำเลยจึงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
แม้ อ. และ ธ. จะปลอมลายมือชื่อ ท. น. และ บ. ตามคำสั่งของจำเลยอันมีลักษณะเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่ก็ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟังคำเบิกความของ อ. และ ธ. เพียงแต่มีน้ำหนักน้อย หากไม่มีพยานหลักฐานอื่นประกอบจะไม่มีน้ำหนักพอฟังลงโทษจำเลยได้เท่านั้น ดังนั้น ศาลจึงรับฟังคำเบิกความของ อ. และ ธ. ได้
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ท. น. และ บ. ไม่ได้ลงลายมือชื่อในเอกสาร แต่ อ. และ ธ. เป็นผู้ลงลายมือชื่อแทน แม้ ท. น. และ บ. จะให้ความยินยอมก็ไม่ทำให้ลายมือชื่อปลอมกลายเป็นลายมือชื่อจริง ดังนั้นเอกสารดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 352, 353, 354, 91 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 4,500,000 บาท แก่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ก่อนสืบพยาน โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ในข้อหายักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353 และมาตรา 354 โจทก์และจำเลยแถลงไม่ค้าน ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะข้อหายักยอกเสียจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265 ตามมาตรา 268 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 40 กระทง เป็นจำคุก 40 ปี แต่กรณีความผิดดังกล่าวกฎหมายกำหนดอัตราโทษจำคุกอย่างสูงห้าปีซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี จึงให้ลงโทษจำคุกเพียง 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ให้ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 265 แต่กระทงเดียว การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 13 กระทง เป็นจำคุก 13 ปี จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วมทั้งหมดแล้ว อันเป็นการพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนับว่าเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี รวม 40 กระทง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังคงลงโทษจำเลยแต่ละกระทงตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด แต่เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดเพียง 13 กระทงถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อย จำเลยจึงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้ใช้ให้นางสาวอุไร ปลอมลายมือชื่อนางทองสุข กับนางสาวนิภา และไม่ได้ใช้ให้นายธรรมนูญ ปลอมลายมือชื่อนายบุญชัยในหนังสือมอบอำนาจ เอกสารการกู้ยืมเงิน และเอกสารการรับเงินกู้จากโจทก์ร่วมและฎีกาว่าจำเลยขาดเจตนาในการกระทำความผิด เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย จำเลยเป็นผู้ใช้ให้นางสาวอุไร และนายธรรมนูญ กระทำความผิดฐานปลอมเอกสารและปลอมเอกสารสิทธิ มิใช่เป็นตัวการดังที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งเป็นการแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ ย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ลงโทษจำเลยในข้อหาเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ถูกต้องแต่การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารและปลอมเอกสารสิทธิ ตามประมวลกกฎหมายอาญา มาตรา 86 ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ ไม่จำต้องยกฟ้อง เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แม้นางสาวอุไรและนายธรรมนูญจะปลอมลายมือชื่อนางสาวทองสุข นางสาวนิภา และนายบุญชัยตามคำสั่งของจำเลยอันมีลักษณะเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่ก็ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟังเพียงแต่มีน้ำหนักน้อย หากไม่มีพยานหลักฐานอื่นประกอบจะไม่มีน้ำหนักพอฟังลงโทษจำเลยได้เท่านั้น ดังนั้น ศาลจึงรับฟังคำเบิกความของนางสาวอุไรและนายธรรมนูญได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางสาวทองสุข นางสาวนิภา และนายบุญชัยไม่ได้ลงลายมือชื่อในเอกสาร แต่นางสาวอุไร และนายธรรมนูญเป็นผู้ลงลายมือชื่อแทน แม้นางสาวทองสุข นางสาวนิภา และนายบุญชัยจะให้ความยินยอมก็ไม่ทำให้ลายมือชื่อปลอมกลายเป็นลายมือชื่อจริง ดังนั้นเอกสารจึงเป็นเอกสารปลอม ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก และมาตรา 265 ประกอบมาตรา 86, มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก และมาตรา 265 จำเลยใช้เอกสารและเอกสารสิทธิโดยเป็นผู้สนับสนุนให้ปลอมเอกสารและเอกสารสิทธินั้นเอง ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารและเอกสารสิทธิปลอมแต่กระทงเดียว ตามมาตรา 268 วรรคสอง ซึ่งการใช้เอกสารและเอกสารสิทธิในแต่ละครั้ง เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share