คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 408/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จะวินิจฉัยว่าการแก้ไขอย่างไรเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยในคำฟ้องจำเป็นต้องดูคำบรรยายฟ้องของโจทก์ซึ่งตามปกติการขอแก้ไขเพิ่มเติมสภาพแห่งข้อหาคำขอบังคับและข้ออ้างอันเป็นที่อาศัยแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา172ถือว่าเป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมในข้อสาระสำคัญ โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาในการใช้บัตรสินเชื่อที่โจทก์ออกให้ไปใช้โดยจำเลยค้างชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน20,620บาทจำเลยต้องรับผิดชำระเงินให้โจทก์จำนวน20,620บาทพร้อมค่าธรรมเนียมผิดนัดอัตราร้อยละ2ต่อเดือนคำนวณถึงวันฟ้องจำนวน4,646.37บาทรวมเป็นเงิน25,266.37บาทซึ่งปกติถ้าโจทก์ไม่บรรยายคำฟ้องต่อไปว่าไม่ประสงค์เรียกร้องให้ตรงจำนวนหนี้แล้วโจทก์ก็ต้องบรรยายคำขอบังคับให้จำเลยชำระเงินจำนวนที่จำเลยต้องรับผิดดังกล่าวแต่โจทก์กลับบรรยายฟ้องขอบังคับให้จำเลยชำระเงินจำนวน4,646.37บาทพร้อมค่าธรรมเนียมผิดนัดอัตราร้อยละ2ต่อเดือนในต้นเงินจำนวน20,620บาทเห็นได้ชัดว่าการพิมพ์ฟ้องของโจทก์ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากเจตนาต้องถือว่าเป็นการผิดพลาดเล็กน้อยหรือผิดหลงเล็กน้อยซึ่งโจทก์ย่อมยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมได้แม้ภายหลังวันชี้สองสถานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา180 โจทก์ได้บรรยายวิธีการใช้บัตรสินเชื่อไว้ว่าเมื่อสมาชิกผู้มีบัตรประสงค์จะซื้อสินค้าใช้บริการหรืออื่นๆสมาชิกสามารถนำบัตรดังกล่าวไปแสดงต่อบุคคลนิติบุคคลหรือร้านค้าต่างๆซึ่งตกลงรับบัตรที่โจทก์ออกให้โดยไม่ต้องชำระเงินสดซึ่งโจทก์จะเป็นผู้ชำระเงินแทนสมาชิกแล้วภายหลังจึงเรียกเก็บจากสมาชิกเป็นรายเดือนโดยแนบใบแจ้งยอดบัญชีกับหลักฐานซึ่งแสดงว่าสมาชิกได้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการแต่ละครั้งไปด้วยฟ้องโจทก์บรรยายชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาผิดสัญญาคำขอบังคับและข้ออ้างอันเป็นที่อาศัยแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา172แล้วไม่เคลือบคลุม ตามวิธีการใช้บัตรสินเชื่อของโจทก์เมื่อจำเลยนำบัตรของโจทก์ไปใช้โจทก์จะชำระหนี้แทนจำเลยจำเลยมีหน้าที่จะชำระเงินคืนโจทก์ภายในกำหนดซึ่งกรณีนี้จำเลยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมผิดนัดแต่หากจำเลยไม่ชำระเงินคืนให้โจทก์ภายในกำหนดโจทก์จะเรียกค่าธรรมเนียมผิดนัดโดยไม่เรียกค่าเสียหายอย่างอื่นอีกค่าธรรมเนียมผิดนัดไม่ใช่ดอกเบี้ยตามความหมายของพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพ.ศ.2475แต่มีลักษณะคล้ายเบี้ยปรับเมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าธรรมเนียมผิดนัดได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยได้ตกลงเข้าเป็นสมาชิกกับโจทก์ โดยตกลงจะปฏิบัติตามเงื่อนไข ระเบียบข้อบังคับและเงื่อนไขอื่น ๆ ที่โจทก์ได้ออกเกี่ยวกับการใช้บัตร และตกลงด้วยว่าเมื่อโจทก์ออกเงินเพื่อชำระหนี้แทนจำเลยไปแล้ว จำเลยจะชำระเงินคืนโจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ระบุไว้ในใบแจ้งหนี้รายเดือนหากจำเลยผิดนัดยอมชำระค่าธรรมเนียมแก่โจทก์อัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของยอดหนี้ค้างชำระนับแต่วันเริ่มค้างชำระเป็นต้นไป ต่อมาจำเลยได้นำบัตรที่โจทก์ออกให้ไปใช้ตามข้อตกลงหลายครั้ง โจทก์ได้ชำระเงินแทนจำเลยทุกครั้งแต่เฉพาะในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2532จำเลยได้นำบัตรที่โจทก์ออกให้ไปใช้ โจทก์ได้ออกใบแจ้งหนี้ให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ 1 ฉบับ เมื่อถึงกำหนดจำเลยเพิกเฉยไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ ปรากฏว่า ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2532จำเลยค้างชำระจำนวน 20,620 บาท โจทก์ทวงถาม จำเลยไม่ชำระจำเลยต้องรับผิดชำระเงินจำนวน 20,620 บาท พร้อมค่าธรรมเนียมผิดนัดอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่28 กุมภาพันธ์ 2532 คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 4,646.37 บาทรวมเป็นเงิน 25,266.37 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน25,266.37 บาท พร้อมค่าธรรมเนียมผิดนัดอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนในต้นเงินจำนวน 20,620 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยใช้บัตรสินเชื่อดังกล่าวจำเลยไม่ได้เป็นผู้ก่อหนี้ตามใบแจ้งยอดหนี้ และยอดหนี้ที่เป็นค่าธรรมเนียมเบิกเงินสดล่วงหน้า โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาจากจำเลยได้ เพราะจำเลยไม่ได้เป็นผู้ก่อหนี้ ฟ้องโจทก์และคำขอท้ายฟ้องเคลือบคลุม ค่าธรรมเนียมตามคำขอท้ายฟ้องเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราจึงเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 20,620 บาท พร้อมค่าธรรมเนียมอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2532ไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ย (น่าจะเป็นค่าธรรมเนียม)ถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 4,646.37 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายข้อแรกว่าที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลลงวันที่29 สิงหาคม 2533 อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องตามคำร้องของโจทก์ ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2533 ซึ่งขอแก้ไขคำขอท้ายฟ้องจากคำว่า “ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 4,646.37 บาท” เป็น “ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 25,266.37 บาท” นั้นไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 เพราะคำร้องของโจทก์ยื่นต่อศาลภายหลังวันชี้สองสถาน ทั้ง ๆ ที่โจทก์สมควรทราบและยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น และไม่ใช่เป็นขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นการแก้ไขในข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย เห็นว่า การที่จะวินิจฉัยว่าการแก้ไขอย่างไรเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยนั้นจำเป็นต้องดูคำบรรยายฟ้องของโจทก์ คดีนี้โจทก์ไม่ได้ขอแก้ไขเพิ่มเติมสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างอันเป็นที่อาศัยแห่งข้อหา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172อันปกติถือว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในข้อสาระสำคัญ แต่ขอแก้ไขตัวเลขจำนวนเงินในคำขอบังคับท้ายฟ้อง ซึ่งโดยปกติต้องสอดคล้องกับข้ออ้างอันเป็นที่อาศัยแห่งข้อหา และเจตนารมณ์ในคำฟ้องของโจทก์จะเห็นได้ว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญาในการใช้บัตรสินเชื่อไดเนอร์สคลับที่โจทก์ออกให้ไปใช้ ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2532 โดยจำเลยค้างชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 20,620 บาทโจทก์ทวงถามแล้วไม่ชำระ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินให้โจทก์จำนวน 20,620 บาท พร้อมค่าธรรมเนียมผิดอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2532 คำนวณถึงวันฟ้องจำนวน 4,646.37บาท รวมเป็นเงิน 25,266.37 บาท ซึ่งปกติถ้าโจทก์ไม่บรรยายคำฟ้องต่อไปว่าไม่ประสงค์เรียกร้องให้ตรงจำนวนหนี้แล้ว โจทก์ก็ต้องบรรยายคำขอบังคับให้จำเลยชำระเงินจำนวนที่จำเลยต้องรับผิดดังกล่าว แต่โจทก์กลับบรรยายฟ้องขอบังคับให้จำเลยชำระเงินจำนวน 4,646.37 บาท พร้อมค่าธรรมเนียมผิดนัดอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนในต้นเงินจำนวน 20,620 บาท เห็นได้ชัดว่าการพิมพ์ฟ้องของโจทก์ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากเจตนาต้องถือว่าเป็นการผิดพลาดเล็กน้อยหรือผิดหลงเล็กน้อย ซึ่งโจทก์ย่อมยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมได้แม้ภายหลังวันชี้สองสถาน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 180 ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาเป็นข้อกฎหมายต่อมาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้บรรยายฟ้องว่า การใช้บัตรตามคำฟ้องใช้อย่างไรนั้นเห็นว่าโจทก์ได้บรรยายวิธีการใช้บัตรสินเชื่อไดเนอร์สคลับไว้แล้วว่าเมื่อสมาชิกผู้มีบัตรประสงค์จะซื้อสินค้า ใช้บริการ หรืออื่น ๆสมาชิกสามารถนำบัตรดังกล่าวไปแสดงต่อบุคคล นิติบุคคล หรือร้านค้าต่าง ๆ ซึ่งตกลงรับบัตรที่โจทก์ออกให้ โดยไม่ต้องชำระเงินสดเป็นค่าซื้อสินค้าค่าใช้บริการดังกล่าว ซึ่งโจทก์จะเป็นผู้ชำระเงินแทนสมาชิกแล้วภายหลังจึงเรียกเก็บจากสมาชิกเป็นรายเดือน โดยแนบใบแจ้งยอดบัญชีกับหลักฐานซึ่งแสดงว่าสมาชิกได้ซื้อสินค้า หรือใช้บริการแต่ละครั้งไปด้วย ฟ้องโจทก์บรรยายชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาผิดสัญญา คำขอบังคับและข้ออ้างอันเป็นที่อาศัยแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172แล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าธรรมเนียมผิดนัดอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน จากจำนวนเงินที่ค้างชำระเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายนั้น ปรากฏว่า ตามวิธีการของการใช้บัตรสินเชื่อไดเนอร์สคลับ เมื่อจำเลยนำบัตรของโจทก์ไปใช้ โจทก์จะชำระหนี้แทนจำเลย จำเลยมีหน้าที่จะชำระเงินคืนโจทก์ภายในกำหนดในกรณีนี้ จำเลยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมผิดนัดแต่หากจำเลยไม่ชำระเงินคืนให้โจทก์ภายในกำหนด โจทก์จะเรียกค่าธรรมเนียมผิดนัดอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน โดยไม่ปรากฏว่าเรียกค่าเสียหายอย่างอื่นอีก จึงเห็นได้ว่า ค่าธรรมเนียมผิดนัดไม่ใช่ดอกเบี้ยตามความหมายของพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพุทธศักราช 2475 แต่มีลักษณะคล้ายเบี้ยปรับ เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าธรรมเนียมผิดนัดดังกล่าวได้”
พิพากษายืน

Share