คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4065/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นซึ่งใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 และเป็นผู้มีส่วนได้เสียซึ่งชอบจะยกเอาความเสียเปล่าแห่งนิติกรรมที่เป็นโมฆะขึ้นกล่าวอ้างได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์อ้างว่าใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 นั้น บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิฟ้องแทนหรือฟ้องเพื่อประโยชน์ของบริษัทกรณีที่บริษัทไม่ฟ้องและเป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการของบริษัทเท่านั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทโดยมีคำขอให้พิพากษาว่า หนังสือยืนยันการชำระค่าหุ้นและการเก็บรักษาค่าหุ้น สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตกเป็นโมฆะ หาใช่เป็นการฟ้องเพื่อเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสามไม่ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม ส่วนที่โจทก์อ้างว่าเป็นการยกเอาความเสียเปล่าแห่งนิติกรรมซึ่งตกเป็นโมฆะขึ้นกล่าวอ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง นั้น ในการเพิกถอนนิติกรรมซึ่งได้กระทำโดยจำเลยทั้งสามในฐานะกรรมการมิใช่กระทำในฐานะส่วนตัว บริษัท ท. ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียซึ่งชอบที่จะยกเอาความเสียเปล่าแห่งนิติกรรมที่เป็นโมฆะขึ้นกล่าวอ้างได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง โจทก์เป็นเพียงผู้ถือหุ้นและไม่มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม การที่โจทก์ขอให้หมายเรียกบริษัท ท. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) และมาตรา 57 (3) (ข) นั้น เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และไม่มีสิทธิก้าวล่วงเข้าไปจัดการงานของบริษัท จึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะเรียกบริษัท ท. เข้ามาเป็นจำเลยร่วม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่า หนังสือยืนยันการชำระค่าหุ้นและการเก็บรักษาค่าหุ้น ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2546 สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 3/2546 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2546 และบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2546 ตกเป็นโมฆะ กับให้เพิกถอนสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 3/2546 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2546 ไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเพื่อทำการขีดฆ่าทำลายรายการหุ้นของจำเลยที่ 3 ในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่เกิดขึ้นภายหลังทุกฉบับ และมีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทปรับลดจำนวนหุ้นในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2546 ของผู้ถือหุ้นลำดับที่ 2 ถึงที่ 5 เฉพาะจำนวนหุ้นที่เกิดขึ้นโดยมิชอบเพราะมิได้ชำระค่าหุ้นกันจริง โดยให้คงเหลือจำนวนหุ้นเดิมไว้ในบัญชีผู้ถือหุ้นฉบับดังกล่าวและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นฉบับอื่นต่อมาทุกฉบับ เพิกถอนบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2546 โดยมีคำสั่งไปยังกระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้รับโอนบรรดาทรัพย์สิน สมุดบัญชีและเอกสารทั้งหมดจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยซึ่งได้ยุบเลิกไปแล้ว และมีคำสั่งไปยังจำเลยทั้งสามกับผู้เกี่ยวข้องกับนิติกรรมซึ่งตกเป็นโมฆะดังกล่าว หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของกระทรวงการคลัง จำเลยทั้งสามและผู้เกี่ยวข้อง
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องว่า หากศาลพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยให้เพิกถอนนิติกรรมซึ่งตกเป็นโมฆะแล้ว บริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด จะต้องรับผิดชอบต่อผลของการกระทำของจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนด้วยเช่นกัน กรณีมีความจำเป็นที่จะต้องให้บริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด เข้ามาในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) เพื่อให้โจทก์สามารถไล่เบี้ยและบังคับให้เป็นไปตามคำขอของโจทก์ต่อไปและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอให้หมายเรียกบริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด ซึ่งมีจำเลยทั้งสามเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 3/2546 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2546 ที่ประชุมใหญ่มีมติยืนยันตามมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2546 เพื่อให้เป็นมติพิเศษตามกฎหมาย ให้เพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด จาก 30,000,000 บาท เป็น 60,000,000 บาท จำเลยที่ 3 เป็นผู้แสดงความประสงค์จองซื้อหุ้นเพิ่มทุน 1,875,000 หุ้น โดยออกเช็คสั่งจ่ายเงิน 15,000,000 บาท เพื่อชำระค่าหุ้นดังกล่าว วันที่ 30 กรกฎาคม 2546 บริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด นำมติพิเศษดังกล่าวไปจดทะเบียนโดยทำหนังสือยืนยันการชำระค่าหุ้นและการเก็บรักษาค่าหุ้น ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2546 เป็นหลักฐานประกอบการจดทะเบียนมติพิเศษต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท วันที่ 8 กันยายน 2546 บริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด ยื่นสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 3/2546 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2546 ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท วันที่ 7 ตุลาคม 2546 บริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด ทำบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ และวันที่ 8 ตุลาคม 2546 บริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด นำเช็คที่ได้รับจากจำเลยที่ 3 ไปเรียกเก็บเงิน
ก่อนวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์ สมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้พิพากษาว่า หนังสือยืนยันการชำระค่าหุ้นและการเก็บรักษาค่าหุ้น ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2546 สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 3/2546 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2546 และบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2546 ตกเป็นโมฆะ กับให้เพิกถอนสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นซึ่งใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 ประการหนึ่ง และเป็นผู้มีส่วนได้เสียซึ่งชอบที่จะยกเอาความเสียเปล่าแห่งนิติกรรมซึ่งตกเป็นโมฆะขึ้นกล่าวอ้างตามมาตรา 172 วรรคหนึ่ง อีกประการหนึ่ง ที่โจทก์อ้างว่าใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ตามมาตรา 1169 นั้น บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิฟ้องแทนหรือฟ้องเพื่อประโยชน์ของบริษัทเฉพาะกรณีที่บริษัทไม่ฟ้องและเป็นการฟ้องเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการของบริษัทเท่านั้น แต่การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด โดยมีคำขอให้พิพากษาว่า หนังสือยืนยันการชำระค่าหุ้นและการเก็บรักษาค่าหุ้น ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2546 สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 3/2546 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2546 และบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2546 ตกเป็นโมฆะ กับให้เพิกถอนสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าว หาใช่เป็นการฟ้องเพื่อเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสามไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในส่วนนี้ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าเป็นการยกเอาความเสียเปล่าแห่งนิติกรรมซึ่งตกเป็นโมฆะขึ้นกล่าวอ้างตามมาตรา 172 วรรคหนึ่ง นั้น ในการเพิกถอนนิติกรรมซึ่งได้กระทำโดยจำเลยทั้งสามในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด มิใช่กระทำในฐานะส่วนตัว บริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียซึ่งชอบที่จะยกเอาความเสียเปล่าแห่งนิติกรรมซึ่งตกเป็นโมฆะขึ้นกล่าวอ้างตามมาตรา 172 วรรคหนึ่ง โจทก์เป็นเพียงผู้ถือหุ้นและไม่มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด คงมีสิทธิเพียงควบคุมการดำเนินงานของบริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด บางประการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น จึงหาอาจก้าวล่วงเข้าไปจัดการงานของบริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด โดยกล่าวอ้างว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการนี้เสียเองหาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในส่วนนี้เช่นกัน ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า มีเหตุอันสมควรที่จะเรียกบริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ตามคำร้องสอดของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องสอดของโจทก์ ฉบับลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 และฉบับลงวันที่ 3 มีนาคม 2558 โจทก์ขอให้ศาลหมายเรียกบริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) และมาตรา 57 (3) (ข) ตามลำดับ โดยโจทก์อ้างในอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา ฉบับลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ว่าโจทก์ยื่นคำร้องสอดเพื่อขอให้ศาลหมายเรียกบริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามมาตรา 57 (3) (ข) มาตั้งแต่แรก มิใช่คำร้องสอดที่ยื่นเข้ามาตามมาตรา 57 (3) (ก) ดังนี้ เมื่อโจทก์มิใช่ผู้มีส่วนได้เสียซึ่งชอบที่จะยกเอาความเสียเปล่าแห่งนิติกรรมซึ่งตกเป็นโมฆะขึ้นกล่าวอ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และไม่มีสิทธิก้าวล่วงเข้าไปจัดการงานของบริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด ในการนี้เสียเองดังที่วินิจฉัยข้างต้นแล้ว ศาลย่อมไม่อาจพิพากษาให้บริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด รับผิดตามคำขอของโจทก์ได้ กรณีไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเรียกบริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด เข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ทั้งมิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้บริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด เข้ามาในคดี จึงไม่มีเหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) (ข) ที่จะเรียกบริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ตามคำร้องสอดของโจทก์ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องสอดของโจทก์ชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์นั้นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share