คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4065/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ย. ดัดแปลงหรือจัดให้ผู้อื่นดัดแปลงรถยนต์กระบะบรรทุกให้เป็นรถยนต์นั่งและจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงลักษณะรถเมื่อเดือนสิงหาคม2529 จึงถือได้ว่า ย. เป็นผู้ประกอบการค้าในฐานะผู้ผลิต มีหน้าที่เสียภาษีการค้าของเดือนสิงหาคม 2529 อันเป็นเดือนภาษีนั้นโจทก์ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2530 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ด้วยในขณะนั้น จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าให้แก่จำเลย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเงินค่าภาษีการค้าที่ชำระไปคืนได้ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอเสียภาษีการค้ากรณีดัดแปลงรถยนต์กับแบบแสดงรายการการค้าต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลย เจ้าหน้าที่ของจำเลยคำนวณเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ตามที่โจทก์ชำระก็โดยอาศัยประมวลรัษฎากรเป็นหลัก จึงเป็นการได้มาโดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ขณะรับทรัพย์นั้น กรณีมิใช่ลาภมิควรได้ อันจะขาดอายุความ 1 ปี โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันที่ 7 มีนาคม 2532 แต่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2531 เป็นการเกินไปกว่าคำขอไม่ชอบด้วยป.วิ.พ. มาตรา 142 ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 ปัญหานี้แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลยี่ห้อ อีซูซุ คันหมายเลขทะเบียน 4 ร-0559 กรุงเทพมหานคร จดทะเบียนไว้เมื่อวันที่25 มีนาคม 2528 เป็นรถยนต์กระบะบรรทุก ต่อมาเมื่อวันที่ 26สิงหาคม 2529 เจ้าของเดิมได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงลักษณะของรถเป็นรถยนต์นั่งสองตอนสองแถว เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2530 โจทก์ซื้อรถคันดังกล่าวจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร จำกัด ต่อมาจำเลยประกาศแจ้งให้เจ้าของรถยนต์ที่มีการทำหรือ ดัดแปลงจะต้องทำการยื่นคำร้องขอเสียภาษีการค้าพร้อมกับแบบแสดงรายการการค้า (ภ.ค.40)และชำระภาษีการค้าภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2530 โดยผู้ยื่นไม่ต้องเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่มและไม่ต้องรับผิดทางอาญาใด ๆ ทั้งสิ้นด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าโจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์ที่มีการทำหรือดัดแปลงและเกรงว่าจะมีความผิดทางอาญาตามที่จำเลยได้ประกาศไว้ โจทก์จึงได้ยื่นคำร้องขอเสียภาษีการค้าและชำระภาษีการค้าต่อจำเลยเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2530 เป็นจำนวนเงิน 11,880 บาทต่อมาโจทก์ได้ทราบว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่เสียภาษี ดังนั้น เมื่อวันที่21 ธันวาคม 2531 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีการค้า (ค.10)จำนวน 11,880 บาทจากจำเลย แต่จำเลยได้ปฏิเสธที่จะคืนเงินให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยคืนเงินจำนวน11,880 บาทให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 7 มีนาคม 2532 จนกว่าจำเลยจะคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ครบถ้วน
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้ดัดแปลงรถยนต์บรรทุกให้เป็นรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน โดยมิใช่เพื่อขายซึ่งตามกฎหมายได้กำหนดให้ถือเป็นการขาย และให้ถือว่าเจ้าของรถยนต์ที่ทำหรือดัดแปลงเป็นผู้ประกอบการค้าและมีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าตามมาตรา 79 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และโจทก์ได้ชำระภาษีให้แก่จำเลยซึ่งมีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรและตามกฎหมายอื่นให้แก่รัฐบาลไว้เป็นเงิน 11,880 บาท เป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่โจทก์อ้างว่าได้ชำระภาษีไปเพราะความเข้าใจคลาดเคลื่อนนั้นไม่มีเหตุผลเพียงพอ เนื่องจากตามกฎหมายได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่าให้ผู้ทำหรือ ดัดแปลง หรือจัดให้ผู้อื่นทำหรือดัดแปลงสิ่งใด ๆ ให้เข้าลักษณะเป็นสินค้าตามประเภทการค้า 1ชนิด 4 แห่งบัญชีอัตรา ภาษีการค้าโดยมิใช่เพื่อขาย ให้ถือว่าเป็นการขายสินค้า และให้ถือว่าผู้เป็นเจ้าของสินค้าที่ทำหรือดัดแปลงเป็นผู้ประกอบการค้า และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้า ตามมาตรา 79ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และการที่โจทก์ได้ชำระภาษีการค้าดังกล่าวให้แก่จำเลยโดยไม่มีหน้าที่ต้องชำระตามที่กล่าวอ้างก็ตาม เงินที่จำเลยรับไว้จากโจทก์ดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นลาภมิควรได้ เมื่อจำเลยได้รับไว้โดยสุจริตและไม่มีเหลืออยู่ในขณะที่โจทก์เรียกคืนจำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 412 โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน คือวันที่ 30 ธันวาคม2530 จึงเป็นอันขาดอายุความ ห้ามมิให้ฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์จำนวน11,880 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่21 ธันวาคม 2531 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อแรกมีว่า โจทก์มีหน้าที่เสียภาษีการค้าที่รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 4ร-0559 กรุงเทพมหานคร ได้มีการดัดแปลงลักษณะรถจากรถยนต์กระบะบรรทุกเป็นรถยนต์นั่งสองตอนสองแถวหรือไม่ เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 78 บัญญัติว่า ผู้ประกอบการค้าตามที่ระบุในบัญชีอัตราภาษีการค้าท้ายหมวดนี้ มีหน้าที่เสียภาษีการค้าจากรายรับของทุกเดือนภาษีตามอัตราในบัญชีอัตราภาษีการค้าและผู้ประกอบการค้านั้น ประมวลรัษฎากร มาตรา 77 ให้หมายความว่าบุคคลธรรมดา นิติบุคคล คณะบุคคล หรือรัฐวิสาหกิจใด ๆ ซึ่งเข้าลักษณะตามที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีการค้าและประกอบการค้าในราชอาณาจักร โดยการค้านั้นเป็นการค้าตามประเภทที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีการค้า และหมายความรวมถึงผู้ที่บัญญัติในหมวดนี้ให้ถือว่าเป็นผู้ประกอบการค้าด้วย ซึ่งประมวลรัษฎากร มาตรา 79 ทวิอันเป็นบทบัญญัติในหมวด 4 หมวดเดียวกับมาตรา 77 บัญญัติว่ากรณีต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นการขายสินค้าและให้ถือมูลค่าของสินค้าดังกล่าวเป็นรายรับ…(5) การทำหรือดัดแปลง หรือจัดให้ผู้อื่นทำหรือดัดแปลงสิ่งใด ๆ ให้เข้าลักษณะเป็นสินค้าตามประเภทการค้า1 ชนิด 4 แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้าโดยมิใช่เพื่อขาย แต่ทั้งนี้มิให้รวมถึงผลงานของผู้ประดิษฐ์ค้นคว้าซึ่งมิได้ผลิตขึ้นเพื่อขายสินค้าตามประเภทการค้า 1. ชนิด 4 แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้าที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่ 26 สิงหาคม 2529 คือ (ก) รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนนอกจากที่ระบุใน (ข)และ (ข) คือรถยนต์ตาม (ก) เฉพาะที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล บัญชีอัตราภาษีการค้าดังกล่าวกำหนดให้ผู้ประกอบการค้าที่มีหน้าที่เสียภาษีการค้าคือ ผู้นำเข้าหรือผู้ผลิต ผู้ผลิตนั้นประมวลรัษฎากร มาตรา77 ให้หมายความว่า ผู้ประกอบการค้าที่ทำการผลิต และผลิตหมายความว่า… ประกอบแปรรูป แปรสภาพสินค้าหรือทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้มีขึ้นซึ่งสินค้าไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ … ไม่ว่าจะทำเองหรือตกลงให้ผู้อื่นทำให้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางยุภา ดัดแปลงหรือจัดให้ผู้อื่นดัดแปลงรถยนต์กระบะบรรทุกให้เป็นรถยนต์นั่งและจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงลักษณะรถเมื่อเดือนสิงหาคม 2529 จึงถือได้ว่านางยุภา เป็นผู้ประกอบการค้าในฐานะผู้ผลิต มีหน้าที่เสียภาษีการค้าของเดือนสิงหาคม 2529 อันเป็นเดือนภาษีนั้น โจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ด้วยในขณะนั้น จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าให้แก่จำเลย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเงินค่าภาษีการค้าที่ชำระไปจำนวน 11,880 บาท คืนได้
ปัญหาต่อไปมีว่า เงินที่จำเลยรับไว้จากโจทก์เป็นลาภมิควรได้อันจะขาดอายุความ 1 ปี หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอเสียภาษีการค้ากรณีดัดแปลงรถยนต์กับแบบแสดงรายการการค้าต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลย เจ้าหนี้ที่ของจำเลยคำนวณเรียกเก็บภาษีจากโจทก์จำนวน 11,880 บาท ตามที่โจทก์ชำระก็โดยอาศัยประมวลรัษฎากรเป็นหลัก จึงเป็นการได้มาโดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ขณะรับทรัพย์นั้น กรณีมิใช่ลาภมิควรได้ อันจะขาดอายุความ 1 ปี
อนึ่ง โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินจำนวน 11,880 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 มีนาคม 2532 แต่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ จำนวน 11,880บาท พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21ธันวาคม 2531 เป็นการเกินไปกว่าคำขอไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17ปัญหานี้แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง เห็นควรแก้ไขให้ถูกต้องโดยให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยแต่วันที่ 7 มีนาคม 2532 เป็นต้นไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ จำนน 11,880 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 มีนาคม 2532จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง.

Share