คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4041/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จำเลยอาศัยที่ดินพิพาทของโจทก์อยู่ หากต่อมาประสงค์จะแย่งการครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยต้องแจ้งให้แก่โจทก์ผู้ครอบครองทราบ เพื่อเปลี่ยนลักษณะแห่งการครอบครองว่าต่อไปจะครอบครองเพื่อตนเอง เมื่อจำเลยมิได้กระทำอย่างใดให้เห็นว่าเป็นการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาท การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยจึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ยกฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งสองมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ซึ่งโจทก์ก็มีบันทึกเอกสารหมาย จ.4 มาเป็นหลักฐานว่า จำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อในบันทึกดังกล่าว ยอมตกลงว่าจะย้ายออกจากที่ดินพิพาทภายในวันที่1 พฤษภาคม 2527 เพราะโจทก์จะเข้าทำกิน โดยมีชื่อจำเลยที่ 2เป็นพยานรู้เห็นด้วย แม้จำเลยที่ 2 จะเบิกความปฏิเสธว่าไม่ใช่ลายมือของจำเลยที่ 2 แต่เมื่อเปรียบเทียบลายมือของจำเลยที่ 2ในเอกสารหมาย จ.4 กับ ใบแต่งทนายความของจำเลยที่ 2 แล้วเห็นว่า ลายมือชื่อคล้ายคลึงกันน่าเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 เพราะไม่มีเหตุผลใดที่จะมีผู้ปลอมลายมือชื่อจำเลยที่ 2ในเอกสารดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองอาศัยที่ดินของโจทก์อยู่ จำเลยทั้งสองจึงได้ทำบันทึกยอมออกจากที่ดินพิพาทภายในกำหนดเวลาตามบันทึกนั้น โจทก์จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหากจำเลยที่ 2 จะแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์จำเลยที่ 2ต้องแจ้งให้แก่โจทก์ทราบเพื่อเปลี่ยนลักษณะแห่งการครอบครองว่าจะครอบครองเพื่อตนเองจึงจะเป็นการแย่งการครอบครองจากโจทก์แต่จำเลยที่ 2 มิได้กระทำอย่างใดให้เห็นว่าเป็นการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาท จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 2 อาศัยที่ดินพิพาทของโจทก์อยู่เป็นการครอบครองแทนโจทก์ จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่ายกฟ้องแย้ง ให้จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินของโจทก์ ห้ามเกี่ยวข้องต่อไป และส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย

Share