คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4034/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์ร่วมตกลงว่าไม่ประสงค์ที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลย โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยต้องออกไปจากที่ดินของโจทก์ร่วมภายในกำหนด 2 เดือน ถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายเพราะมิได้ตกลงว่าจะไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยตลอดไป แต่จะไม่ดำเนินคดีต่อเมื่อจำเลยออกไปจากที่ดินของโจทก์ร่วมภายในกำหนด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมไม่ระงับตามป.วิ.อ. มาตรา 39(2).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 359
ระหว่างพิจารณาผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 จำคุก 6 เดือน ปรับ 2,000 บาท จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นควรให้โอกาสแก่จำเลยเพื่อกลับตัวประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป โทษจำคุกจึงเห็นควรให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลย โจทก์ร่วม อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ภายหลังจากจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวให้ออกไปจากที่ดินและโจทก์ร่วมได้ฟ้องขับไล่จำเลยต่อศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยยังตัดฟันต้นฝรั่งในที่ดินของโจทก์ร่วมอีก โจทก์ร่วมจึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสามพราน… พนักงานสอบสวนเรียกจำเลยมาที่สถานีตำรวจ โจทก์ร่วมและจำเลยตกลงกันโดยโจทก์ร่วมไม่ประสงค์ที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลย แต่ต้องการให้จำเลยย้ายออกไปจากที่ดินดังกล่าวซึ่งจำเลยก็รับว่าจะออกจากที่ดินดังกล่าวภายในกำหนด 2 เดือน นับแต่วันที่17 กันยายน 2531 เป็นต้นไป และรับว่าจะไม่เรียกร้องค่ารื้อถอนจากโจทก์ร่วมแต่อย่างใด ปรากฏตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.3 หรือ ล.4 นั้น เห็นว่า การที่โจทก์ร่วมตกลงว่าโจทก์ร่วมไม่ประสงค์ที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยก็โดยมีเงื่อนไขว่า จำเลยต้องออกไปจากที่ดินของโจทก์ร่วมภายในกำหนด 2 เดือนนับแต่วันที่ 17 กันยายน 2531 แต่จำเลยยังไม่ออกจากที่ดินของโจทก์ กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายเพราะโจทก์ร่วมมิได้ตกลงว่าจะไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยตลอดไป แต่จะไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยต่อเมื่อจำเลยออกไปจากที่ดินของโจทก์ร่วมภายในกำหนด 2 เดือน นับแต่วันที่ 17 กันยายน 2531ดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share