คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4027/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่ผู้สั่งจ่ายเช็คตาย อำนาจและหน้าที่ของธนาคารซึ่งใช้เงินตามเช็คสิ้นสุดลงเมื่อธนาคารทราบว่าผู้สั่งจ่ายตาย ผู้ทรงเช็คจึงไม่ต้องนำเช็คไปขอรับเงินจากธนาคารอีก กรณีเช่นนี้ไม่อยู่ในบังคับว่าผู้ทรงเช็คจะต้องนำเช็คเรียกเก็บเงินจากธนาคารเสียก่อนดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 990 แม้จะถือว่าการนำเช็คไปยื่นต่อธนาคารก่อนกำหนดวันสั่งจ่ายเงินเป็นการมิชอบ ก็หาทำให้ผู้สลักหลังพ้นความรับผิดไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ เป็นบิดามารดาและเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของนางสาวรวมพร โจทก์เป็นผู้ทรงเช็ค ๔ ฉบับซึ่งเป็นนางสาวรวมพรเป็นผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ ๓ เป็นผู้สลักหลัง เช็คฉบับแรกลงวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๒๕ เงิน ๖๐,๐๐๐ บาท ฉบับที่ ๒ ลงวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๒๕ เงิน ๕๐,๐๐๐ บาท ฉบับที่ ๓ลงวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๕ เงิน ๔๐,๐๐๐ บาท และฉบับที่ ๔ ลงวันที่ ๒๘ มีนาคม๒๕๒๕ เงิน ๘๐,๐๐๐ บาท นางสาวรวมพรถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๒๕ โจทก์นำเช็ค ๒ ฉบับแรกไปเบิกเงินธนาคารเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๒๕ และนำเช็ค ๒ ฉบับหลังไปเบิกเงินจากธนาคาร เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๒๕ ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่าผู้สั่งจ่ายถึงแก่กรรม โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสามแล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ตามเช็คพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า จำเลยทั้งสองมิใช่ทายาท เช็คที่ฟ้องมีรายการไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอม โจทก์มิใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบ
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยอ้างว่า ผู้สั่งจ่ายถึงแก่กรรม มิใช่แสดงว่าผู้สั่งจ่ายผิดนัดชำระหนี้ จำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้สลักหลังยังไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามเช็ค
ศาลอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้สลักหลังเช็คต้องรับผิดจ่ายเงินสำหรับเช็ค ๒ ฉบับแรก ส่วนเช็ค ๒ ฉบับหลังโจทก์นำไปขอเบิกเงินก่อนถึงวันกำหนดจ่ายเงิน การผิดนัดยังไม่เกิดขึ้น พิพากษาให้จำเลยที่ ๓ ชำระเงินตามเช็ค ๒ ฉบับแรกพร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ ๓ ชดใช้เงินตามเช็ค ๒ ฉบับหลังพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีที่ผู้สั่งจ่ายเช็คตายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๙๒ บัญญัติให้หน้าที่และอำนาจของธนาคารซึ่งใช้เงินตามเช็คสิ้นสุดลงเมื่อธนาคารทราบว่าผู้สั่งจ่ายตาย จึงไม่มีเหตุผลใดที่ผู้ทรงเช็คจะต้องนำเช็คไปขอรับเงินจากธนาคารอีก กรณีเช่นนี้ไม่อยู่ในบังคับว่าผู้ทรงจะต้องนำเช็คเรียกเก็บเงินจากธนาคารเสียก่อน ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๙๐ เมื่อโจทก์ในฐานะผู้ทรงเช็คไม่ต้องนำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารก่อนเช่นนี้แล้วแม้จะถือว่าการที่โจทก์นำเช็คไปยื่นต่อธนาคารก่อนกำหนดวันสั่งจ่ายเงินเป็นการมิชอบ ก็หาเป็นผลดีแก่คดีของจำเลยที่ ๓ แต่อย่างใดไม่
พิพากษายืน

Share