แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อน แต่เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันขอให้ศาลวินิจฉัยประเด็นข้อเดียวว่าภาพการ์ตูนที่จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้เหมือนหรือคล้ายกับภาพการ์ตูนสนูปปี้ของโจทก์หรือไม่ หากเหมือนหรือคล้ายกันจะเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์จำเลยไม่ติดใจสืบพยานต่อไป เช่นนี้ ต้องถือว่าจำเลยได้สละข้อต่อสู้อื่นๆ แล้ว โจทก์จึงไม่ต้องสืบพยานว่าสิทธิของโจทก์ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไทยหรือไม่
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม ฯลฯ ลิขสิทธิในศิลปกรรมจะมีขึ้นได้ก็ต้องเป็นศิลปกรรมที่ทำขึ้นในแผนกศิลป เช่น รูปศิลป ดังนี้ รูปการ์ตูนสุนัขของโจทก์ซึ่งเป็นเพียงรูปคล้ายสุนัขธรรมดาทั่วๆ ไปที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ซึ่งการขีดเขียนอาจเหมือนหรือคล้ายกันได้เป็นธรรมดา จึงไม่ใช่ลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมตามความหมายของพระราชบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแห่งมลรัฐนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกาและเป็นผู้ค้นคิดสร้างสรรค์งานการ์ตูนโดยประดิษฐ์ภาพเขียนตัวละครเด่นตัวหนึ่งเป็นรูปสุนัขที่มีท่วงทีลีลาคล้ายคนเรียกกันว่า “สนูปปี้”จึงเป็นศิลปกรรมและวรรณกรรมที่จดทะเบียนลิขสิทธิ์ได้ตามกฎหมายไทยและในสหรัฐอเมริกา ซึ่งโจทก์ได้จดทะเบียนลิขสิทธิ์ไว้กับสำนักงานลิขสิทธิ์แห่งสหรัฐอเมริกา ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. งานการ์ตูนและตัวละครเอก”สนูปปี้” เป็นที่รู้จักแก่มหาชนทั่วโลก ต่อมาเมื่อระหว่างเดือนกรกฎาคม2519 จำเลยได้ลอกเลียนภาพเขียน “สนูปปี้” ไปพิมพ์ประทับลงในสินค้าประเภทเสื้อผ้าอาภรณ์ แล้วนำออกจำหน่ายแก่มหาชนทั่วไป โดยอาศัยเกียรติคุณและชื่อเสียงในภาพเขียนดังกล่าวไปแสวงหาประโยชน์ทำให้โจทก์เสียหาย ทั้งจำเลยยังนำภาพเขียนของโจทก์แอบอ้างเป็นของจำเลยไปจดทะเบียนต่อกองทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นเหตุให้นายทะเบียนหลงเชื่อจึงรับจดทะเบียนให้จำเลย ปรากฏตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 93381 โจทก์แจ้งให้จำเลยเลิกใช้ภาพเขียนของโจทก์และขอให้ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้ศาลพิพากษาบังคับ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การว่า รูปการ์ตูน “สนูปปี้” ไม่ใช่ศิลปกรรม จำเลยเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าขึ้นเอง โจทก์ไม่มีสิทธิห้ามจำเลยหรือขอให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนของจำเลย โจทก์ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ขอให้ยกฟ้อง
ในวันสืบพยานโจทก์ โจทก์จำเลยตกลงกันขอให้ศาลวินิจฉัยว่าภาพการ์ตูนที่จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ เหมือนหรือคล้ายกับภาพการ์ตูน “สนูปปี้” ของโจทก์หรือไม่ หากเหมือนหรือคล้ายกันจะเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์จำเลยไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นเห็นชอบตามที่โจทก์จำเลยตกลงกันและให้งดสืบพยาน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ภาพการ์ตูนของโจทก์และจำเลยมีลักษณะคล้าย ๆ หรือเหมือนกัน แต่จำเลยไม่ได้นำออกใช้อย่างวรรณกรรมและศิลปกรรม ไม่เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่าสิทธิของโจทก์ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไทยหรือไม่ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามแบบพิธีที่บัญญัติโดยกฎหมายถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช2474 มาตรา 29(ก) แต่โจทก์ไม่สืบพยาน คดีจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีสิทธิในงานภาพการ์ตูนสุนัข “สนูปปี้” ในประเทศไทย และไม่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องศาลอุทธรณ์เห็นด้วยในผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้น พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์จำเลยตกลงกันขอให้ศาลวินิจฉัยประเด็นข้อเดียวว่า ภาพการ์ตูนที่จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ เหมือนหรือคล้ายกับภาพการ์ตูน “สนูปปี้” ของโจทก์หรือไม่ หากเหมือนหรือคล้ายกันจะเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์จำเลยไม่ติดใจสืบพยานซึ่งศาลชั้นต้นก็เห็นชอบด้วยและให้งดสืบพยาน เช่นนี้ ต้องถือว่าจำเลยได้สละข้อต่อสู้อื่น ๆ แล้ว โจทก์จึงไม่ต้องสืบพยานในประเด็นที่ว่าสิทธิของโจทก์ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไทยหรือไม่อีกต่อไปตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
สำหรับประเด็นที่โจทก์จำเลยขอให้ศาลวินิจฉัย เห็นว่า จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปการ์ตูนสุนัขไว้ก่อนพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521ประกาศใช้บังคับ จึงต้องวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมที่โจทก์จะมีขึ้นได้ต้องเป็นศิลปกรรมที่ได้ทำขึ้นในแผนศิลป เช่นรูปศิลป รูปการ์ตูนสุนัขตามเอกสารท้ายฟ้องไม่ใช่รูปศิลป แต่เป็นเพียงรูปคล้ายสุนัขธรรมดาทั่ว ๆ ไปที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ การขีดเขียนจึงอาจเหมือนหรือคล้ายกันได้เป็นธรรมดารูปการ์ตูนสุนัขของโจทก์จึงไม่ใช่ลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมตามความหมายของพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยโดยอ้างว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน