แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้จำเลยไม่ใช่เจ้าของอาคารผู้ดำเนินการก่อสร้างต่อเติมอาคารขณะที่โจทก์ทราบเรื่องการก่อสร้างต่อเติมอาคารก็ตามแต่ข้อหาตามที่โจทก์ฟ้องเป็นเรื่องที่กล่าวหาว่าจำเลยเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารที่ก่อสร้างต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยสามีจำเลยเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างต่อเติม ซึ่งตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 ประกอบมาตรา 40 ให้อำนาจโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งการให้ผู้ดำเนินการก่อสร้างต่อเติมหรือจำเลยเจ้าของผู้ครอบครองอาคารให้รื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างต่อเติมดังกล่าวได้ เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามโจทก์ก็มีอำนาจฟ้องบังคับได้และไม่ขัดต่อมาตรา 71 เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง คำให้การและคำเบิกความพยานโจทก์เพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้แล้วก็อาจมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยที่เหลือได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยเจ้าของผู้ครอบครองอาคารที่ก่อสร้างต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาตให้รื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างต่อเติมเป็นการบังคับให้จำเลยกระทำการทางแพ่ง ไม่ได้ฟ้องให้ลงโทษจำเลยทางอาญา เมื่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ ไม่ได้บัญญัติเรื่องอายุความฟ้องร้องไว้เป็นพิเศษจึงต้องถือหลักอายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 คือ 10 ปี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยในฐานะเป็นเจ้าของผู้ครอบครองอาคารตึกแถวเลขที่ 261/82 และเลขที่ 191/101 หมู่ 3 ถนนสรงประภาแขวงสีกัน เขตบางเขต กรุงเทพมหานคร ทำการรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างต่อเติม ถ้าจำเลยไม่ยอมรื้อถอน ขอให้โจทก์เป็นผู้ทำการรื้อถอนตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน
จำเลยให้การว่า นายเทียม สามีของจำเลย ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างต่อเติมอาคาร จำเลยได้ซื้ออาคารดังกล่าวมาจากผู้รับเหมาก่อสร้าง และโอนกรรมสิทธิ์กันเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2524เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2524 การก่อสร้างต่อเติมได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว การก่อสร้างต่อเติมอาคารอันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 และขัดต่อขัอบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2522 ข้อ 76(3) จำเลยหรือนายเทียมมิได้เป็นผู้กระทำเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2524 จำเลยยังไม่ได้เป็นเจ้าของอาคารตามฟ้องการที่โจทก์มีหนังสือสั่งให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองอาคารรื้อถอนอาคารเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย เพราะจำเลยไม่ได้เป็นเจ้าของอาคารและผู้ครอบครองอาคารขณะกระทำผิด ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม คดีโจทก์ขาดอายุความจำเลยมิได้เป็นผู้เป็นผู้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารตึกแถวที่พิพาทและมิได้เป็นผู้ต่อเติมอาคารเชื่อมตามฟ้อง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยในฐานะเป็นเจ้าของผู้ครอบครองอาคารตึกแถวทำการรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างต่อเติม ถ้าจำเลยไม่รื้อถอนให้โจทก์เป็นผู้ทำการรื้อถอนโดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แม้จะฟังว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าของอาคารผู้ดำเนินการก่อสร้างต่อเติมอาคารดังกล่าวขณะที่โจทก์ทราบเรื่องการก่อสร้างต่อเติมอาคารเมื่อเดือนกันยายน 2524 ก็ตามแต่ข้อหาตามที่โจทก์ฟ้องเป็นเรื่องที่กล่าวหาว่าจำเลยเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารที่ก่อสร้างต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยนายเทียม เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างต่อเติมซึ่งตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 ประกอบมาตรา 40ให้อำนาจโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งการให้นายเทียมผู้ดำเนินการก่อสร้างต่อเติม หรือจำเลยเจ้าของผู้ครอบครองอาคารให้รื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างต่อเติมดังกล่าวได้ เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามโจทก์ก็มีอำนาจฟ้องบังคับได้ตามอำนาจที่กฎหมายให้ไว้และไม่ขัดต่อมาตรา 71 และเมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง คำให้การและคำเบิกความพยานโจทก์เพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้แล้วก็อาจมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยที่เหลือได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 คดีมีปัญหาต่อไปว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องหรือไม่โดยจำเลยฎีกาว่าตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มีโทษทางอาญาแก่ผู้ฝ่าฝืนจึงต้องนำอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 มาใช้บังคับนายเทียม ดำเนินการก่อสร้างต่อเติมเสร็จเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2524โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2528 เกิน 1 ปี นับแต่โจทก์ทราบคดีจึงขาดอายุความ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยเจ้าของผู้ครอบครองอาคารที่ก่อสร้างต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาตให้รื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างต่อเติม เป็นการบังคับให้จำเลยกระทำการทางแพ่ง ไม่ได้ฟ้องให้ลงโทษจำเลยทางอาญา เมื่อพระราชบัญญัตินี้ไม่ได้บัญญัติเรื่องอายุความฟ้องร้องไว้เป็นพิเศษ จึงต้องถือหลักอายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164คือ 10 ปี โจทก์ทราบการกระทำผิดวันที่ 2 ตุลาคม 2526 และโจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2528 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ”
พิพากษายืน