คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3967/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ในเช็คแต่ละฉบับเป็นความผิดแต่ละกระทงเรียงกันไป การพิจารณาว่ากระทงใดต้องห้ามอุทธรณ์หรือไม่ ต้องพิจารณาถึงจำนวนเงินที่ระบุในเช็คแต่ละฉบับว่าหากศาลลงโทษปรับสองเท่าของจำนวนเงินที่ระบุในเช็คเพราะธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแล้วเกินกว่าหกหมื่นบาทหรือไม่ ถ้าไม่เกินกว่าหกหมื่นบาท เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง กรณีก็ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 193 ทวิ ที่แก้ไขแล้ว จะนำจำนวนเงินตามที่ระบุในเช็คฉบับอื่นแม้จะลงวันสั่งจ่ายวันเดียวกันมารวมคำนวณด้วยหาได้ไม่
ความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ที่แก้ไขแล้ว
โจทก์ได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับเช็คที่นำมาฟ้องเป็นจำนวนหลายสิบฉบับ และได้บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนว่า เช็คแต่ละฉบับนั้นเป็นของธนาคารใดพร้อมกับระบุสาขาของธนาคาร อันถือว่าเป็นสถานที่ที่เกิดการกระทำความผิดเนื่องจากธนาคารแห่งนั้นปฏิเสธการจ่ายเงินไว้ด้วย จึงหาจำเป็นที่จะต้องระบุแขวงและเขตอีกไม่การที่โจทก์นำเอาชื่อแขวงและเขตที่เกิดการกระทำความผิดไปกล่าวรวมไว้ในตอนท้ายเพื่อบอกสถานที่เกิดเหตุย่อมเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันฉ้อโกงนายจิระ วัฒนกุลจรัส ผู้เสียหาย โดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งเอาเช็คของผู้อื่นและที่จำเลยทั้งสองสั่งจ่าย มาขอแลกเงินสดจากผู้เสียหายหลายครั้ง ๆ ละหลายฉบับ หลอกลวงว่าผู้สั่งจ่ายทุกคนมีฐานะดี เป็นลูกค้าชั้นหนึ่งของธนาคาร ต้องการซื้อพืชไร่มาตุนไว้ ความจริงผู้สั่งจ่ายทุกคนมิได้ประกอบอาชีพและธุรกิจเป็นหลักฐาน ผู้เสียหายหลงเชื่อยอมให้แลกเงินสดไป เมื่อผู้เสียหายนำเช็คไปเข้าบัญชี ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทุกฉบับ จำเลยทั้งสองออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่มีการใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๘๓ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ ให้จำเลยคืนเงินจำนวน ๑๒,๒๖๓,๗๒๓ บาทแก่ผู้เสียหาย และขอให้นับโทษจำเลยติดต่อกับโทษในคดีอื่น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
นายจิระ วัฒนกุลจรัส ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดในข้อหาฉ้อโกง และยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ ได้กระทำผิดในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค สำหรับจำเลยที่ ๒ มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ จำเลยที่ ๒ ออกเช็ค ๒ ฉบับ เป็นความผิดสองกระทง ให้จำคุกกระทงละ ๑ ปี รวมจำคุก ๒ ปี คำให้การของจำเลยที่ ๒ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ ๒ ไว้มีกำหนด ๑ ปี ๔ เดือน นับโทษจำเลยที่ ๒ ต่อจากโทษในคดีอื่น ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ร่วมและจำเลยที่ ๒ ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ ๒ ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ นำเช็คหลายฉบับที่บุคคลอื่นเป็นผู้สั่งจ่ายไปขอแลกเงินสดจากโจทก์ร่วม แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คในจำนวนนี้มีเช็คที่จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายรวม ๒ ฉบับ คือเช็คเอกสารหมาย จ.๑๑๙ และ จ.๑๒๓ แล้ววินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของโจทก์ร่วมในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ สำหรับเช็คตามเอกสารหมาย จ.๑ และ จ.๑๒๗ โดยอ้างว่า จำนวนเงินตามเช็คทั้งสองฉบับมีเพียงฉบับละ ๑๐,๐๐๐ บาท เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง กรณีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๓ ทวิ ที่แก้ไขแล้ว เป็นการไม่ชอบ เพราะเช็คตามเอกสารหมาย จ.๑ เกี่ยวข้องกับเช็คตามเอกสารหมาย จ.๓ และเช็คตามเอกสารหมาย จ.๑๒๗ เกี่ยวข้องกับเช็คตามเอกสารหมาย จ.๑๒๐ เนื่องจากลงวันสั่งจ่ายวันเดียวกัน ซึ่งเมื่อรวมจำนวนเงินตามเช็คทั้งสองฉบับที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน ก็จะมีจำนวนเงินเกินกว่าหกหมื่นบาท กรณีจึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงดังข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ ในเช็คแต่ละฉบับเป็นความผิดแต่ละกระทงเรียงกันไป จึงต้องพิจารณาถึงจำนวนเงินที่ระบุในเช็คแต่ละฉบับว่าหากศาลลงโทษปรับสองเท่าของจำนวนเงินที่ระบุในเช็คเพราะธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแล้วเกินกว่าหกหมื่นบาทหรือไม่ ถ้าไม่เกินกว่าหกหมื่นบาทเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง กรณีก็ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๓ ทวิที่แก้ไขแล้ว จะนำจำนวนเงินตามที่ระบุในเช็คฉบับอื่นแม้จะลงวันสั่งจ่ายวันเดียวกันมารวมคำนวณด้วยตามที่โจทก์ร่วมฎีกาหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ร่วมฎีกาอีกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยความผิดข้อหาฉ้อโกงโดยอ้างว่า ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๓ ทวิ ที่แก้ไขแล้ว เป็นการไม่ชอบเพราะคดีนี้จำเลยที่ ๑ ได้วางแผนทุจริตฉ้อโกงโจทก์ร่วม โดยร่วมกับพวกนำเช็คของบุคคลอื่นมาขอแลกเงินสดไปจากโจทก์ร่วมหลายครั้งเป็นจำนวนเงินกว่าสิบล้านบาท รวมทั้งแสดงตนเป็นบุคคลอื่น ซึ่งความผิดเช่นว่านี้มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท คดีจึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงดังข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันฉ้อโกงผู้เสียหาย (โจทก์ร่วม) โดยนำเช็คมาขอแลกเงินสดและขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ ซึ่งความผิดตามมาตราดังกล่าวมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๓ ทวิ ที่แก้ไขแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมในความผิดข้อหาฉ้อโกงจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
ส่วนฎีกาของจำเลยที่ ๒ ที่ว่า โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับที่เกิดเหตุไว้หลายแขวงและหลายเขตโดยไม่ระบุให้ชัดว่าเหตุแห่งการกระทำผิดครั้งใดเกิดที่แขวงใดและเขตใดฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่มีได้กล่าวให้แจ้งชัดถึงการกระทำของจำเลยและสถานที่ที่เกิดการกระทำนั้น ๆ พอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเคลือบคลุมนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับเช็คที่นำมาฟ้องเป็นจำนวนหลายสิบฉบับและได้บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนว่าเช็คแต่ละฉบับนั้นเป็นของธนาคารใดพร้อมกับระบุสาขาของธนาคารอันถือว่าเป็นสถานที่ที่เกิดการกระทำผิดเนื่องจากธนาคารแห่งนั้นปฏิเสธการจ่ายเงินไว้ด้วยจึงหาจำเป็นที่จะต้องระบุแขวงและเขตอีกไม่ เพราะการที่โจทก์นำเอาชื่อแขวงและเขตที่เกิดการกระทำผิดไปรวมกล่าวไว้ในตอนท้ายเพื่อบอกสถานที่เกิดเหตุย่อมเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจได้ดีแล้ว และจำเลยก็ไม่ได้หลงต่อสู้คดีแต่ประการใด ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยที่ ๒ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share