คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3951/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ดุลพินิจในการอนุญาตให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี เป็นดุลพินิจอันเด็ดขาดของผู้พิพากษาผู้มีคำสั่งตามคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์นั้นจะอุทธรณ์ฎีกาต่อไปไม่ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับขี่รถยนต์บรรทุกด้วยความประมาทหรือน่าหวาดเสียวและแซงผ่านขึ้นหน้ารถอื่นล้ำเข้าไปในเส้นกึ่งกลางของทางเดินรถที่กำหนดไว้ เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกของจำเลยชนกับรถยนต์บรรทุกอีกคันหนึ่งที่วิ่งสวนทางมา เกิดความเสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 47, 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเชื่อว่า จำเลยขับขี่รถยนต์โดยประมาทและน่าหวาดเสียวทั้งแซงขึ้นหน้ารถอื่นล้ำเข้าไปในเส้นกึ่งกลางทางเดินรถที่กำหนดไว้ เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ทรัพย์สินของบุคคลอื่นตามฟ้อง จึงพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43, 47, 157 ให้ปรับจำเลย 500 บาท ถ้าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง พร้อมทั้งยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องของจำเลยว่ายังไม่สมควรอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ให้ยกคำร้องและสั่งไม่รับอุทธรณ์
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า เมื่อศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง และสั่งไม่รับอุทธรณ์แล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้ ให้ยกคำร้อง
จำเลยฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในปัญหาที่ว่าในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง และผู้พิพากษาดังที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ตรีได้มีคำสั่งไม่อนุญาให้อุทธรณ์โดยพิเคราะห์เห็นว่า ไม่มีเหตุสมควรอนุญาต เช่นนี้จะถือว่าเป็นดุลพินิจที่เด็ดขาด หรือว่าศาลอุทธรณ์ยังมีอำนาจพิเคราะห์อีกชั้นหนึ่งว่าเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์หรือไม่ได้พิจารณาปัญหานี้แล้วเห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 193 ตรีนั้น กฎหมายมอบให้เป็นดุลพินิจอันเด็ดขาดของผู้พิพากษาผู้พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นที่จะใช้ดุลพินิจอนุญาตให้อุทธรณ์หรือไม่ และเมื่อสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว จำเลยจะใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาอีกหาได้ไม่ ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจพิจารณาอีกชั้นหนึ่งว่า ปัญหาที่ไม่อนุญาตให้อุทธรณ์นั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์หรือไม่ คำสั่งของศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share