คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3950/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่จะยกบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งขึ้นวินิจฉัยคดีได้นั้น จำต้องเป็นกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้เท่านั้น แต่กรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของโจทก์โดยถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องนั้น มีบทกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องที่โจทก์จะต้องอุทธรณ์ฎีกา หรือจะขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบในกรณีศาลสั่งจำหน่ายคดีโดยผิดหลงที่จะยกขึ้นปรับแก่คดีได้โดยเฉพาะอยู่แล้ว ศาลจึงไม่อาจยกประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 166 มาปรับแก่คดีของโจทก์ในฐานะที่เป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๓ มาตรา ๓ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งให้ประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา ให้โจทก์นำหมายเรียกแก่จำเลยภายใน ๗ วัน ปรากฏว่าโจทก์มิได้นำส่งหมายเรียกภายในเวลาที่ศาลกำหนด ศาลชั้นต้นจึงสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ให้จำหน่ายคดี โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ อ้างว่ามิได้จงใจทิ้งฟ้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ว มีคำสั่งว่า คำร้องของโจทก์เป็นการขอให้มีการยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่หลังจากที่ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีแล้ว จึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๖๖ โจทก์ไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง ให้ยกคำร้องของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์เพียงว่าเมื่อโจทก์ทิ้งฟ้องในคดีอาญาและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๓๒ และ ๑๗๔ แล้วนั้น โจทก์จะขอให้ศาลยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๖๖ โดยถือว่าเป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔ ได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่ากรณีที่จะยกบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งขึ้นวินิจฉัยได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้เท่านั้น แต่กรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของโจทก์โดยถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องในคดีนี้นั้น มีบทกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการที่โจทก์จะต้องอุทธรณ์และฎีกา หรือการที่โจทก์จะขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบในกรณีที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์โดยผิดหลงที่จะยกขึ้นปรับแก่คดีได้โดยเฉพาะอยู่แล้ว ศาลจึงไม่อาจยกประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๖๖ มาปรับแก่คดีของโจทก์ในฐานะเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามฎีกาของโจทก์ได้”
พิพากษายืน

Share