แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่16 เมษายน 2515 ข้อ 47(4) ที่กำหนดว่าละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรนั้น หมายถึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะต้องละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันมิใช่การละทิ้งหน้าที่นั้นกระทำไปโดยไม่สมควรเพราะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของนายจ้าง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2524 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่จ่ายค่าชดเชยให้ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน เป็นเงิน 9,720 บาท
จำเลยให้การว่า โจทก์ขาดงานตั้งแต่วันที่ 24 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2524 รวม 7 วัน โดยไม่ส่งใบลา หรือไม่แจ้งเหตุที่ไม่สามารถไปทำงานให้จำเลยทราบถือว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาเกินกว่าสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ละทิ้งหน้าที่เกินสามวันทำงานติดต่อกันเพราะป่วย ถือว่ามีเหตุอันสมควร กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จะเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47(4) จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อ 46 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์จำนวน 9,720 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 54 บาท ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยข้อ 5.2 กำหนดว่า ถ้าลูกจ้างเจ็บป่วยไม่สามารถทำงานได้ให้แจ้งหัวหน้างานหรือผู้จัดการทราบโดยเร็ว ถ้าไม่อาจทำได้ ให้แจ้งในวันแรกที่มาทำงาน ข้อ 5.4 กำหนดว่า การลาป่วยตั้งแต่ 3 วันขึ้นไปต้องมีใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งมาแสดงหากไม่สามารถหาแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งมาได้ ให้ลูกจ้างแจ้งให้นายจ้างทราบ เมื่อระหว่างวันที่ 15 ถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2524 ระหว่างวันที่ 18 ถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2524 และระหว่างวันที่ 22 ถึงวันที่ 23 มิถุนายน 2524 โจทก์ลาป่วย 3 ครั้ง โดยมีใบรับรองแพทย์มาแสดง จำเลยอนุญาตทุกครั้งครั้นตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2524 เป็นต้นมา โจทก์ละทิ้งหน้าที่เพราะป่วยยังไม่หาย แต่มิได้แจ้งให้จำเลยทราบหรือยื่นใบลา วันที่ 27 มิถุนายน 2524 จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ ต่อมาระหว่างวันที่ 6 ถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2524 โจทก์ไปขอเข้าทำงานจึงทราบว่าจำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์แล้ว เห็นว่าคำว่า “โดยไม่มีเหตุอันสมควรในข้อ 47(4) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ซึ่งกำหนดว่า ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรนั้นหมายถึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะต้องละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันมิใช่การละทิ้งหน้าที่นั้นกระทำไปโดยไม่สมควรเพราะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับฉะนั้น การที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปโดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบหรือยื่นใบลาตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จึงหาใช่การละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรไม่ โจทก์ละทิ้งหน้าที่เกินสามวันทำงานติดต่อกันเพราะป่วยถือว่ามีเหตุอันสมควร
พิพากษายืน