คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลพิพากษาให้คู่ความฝ่ายใด เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินใดแล้ว คณะกรรมการสำรวจตาม พระราชบัญญัติการสำรวจการออกโฉนดที่ดิน ไม่มีอำนาจสั่งยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลได้ เจ้าพนักงานที่ดินในท้องที่นั้นมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งตามคำพิพากษาของศาล พระราชบัญญัติสำรวจการออกโฉนดที่ดินไม่กินความถึงคดีที่ศาลพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้ว

ย่อยาว

คดี 4 สำนวนนี้ ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน ในคำฟ้องมีความว่านายตระกูล มาลีกรัย จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ อยู่ในบังคับบัญชากรมที่ดิน จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดินและพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินเมื่อ พ.ศ. 2493 โจทก์ได้ฟ้องบุคคลหลายคนต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ และจำเลยบางคนได้ประนีประนอมยอมความกับโจทก์ และศาลได้พิพากษาตามยอมให้โจทก์จำเลยแบ่งที่นากัน ดังปรากฏในสำนวน และคดีถึงที่สุดเสร็จเด็ดขาด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 แล้ว ซึ่งผลแห่งคำพิพากษาโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ส่วนที่เกี่ยวกับคดี ที่โจทก์ฟ้องนายตระกูล มาลีกรัย เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ และกรมที่ดิน 4 สำนวนนี้คือ

1. ในสำนวนของศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ 228/2493คดีหมายเลขแดงที่ 159/2494 ซึ่งนายท้วม แสงครุธเป็นจำเลยนั้นโจทก์ได้ประมาณ 30 ไร่

2. ในสำนวนของศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ 229/2493คดีหมายเลขแดงที่ 160/2494 ซึ่งนายเล็ก แสงครุธ เป็นจำเลยนั้นโจทก์ได้ประมาณ 23 ไร่ 2 งาน 66 ตารางวา

3. ในสำนวนของศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ 235/2493 คดีหมายเลขแดงที่ 186/2494 ซึ่งนายใบ ชมวิหค เป็นจำเลยนั้น โจทก์ได้ประมาณ 75 ไร่เศษ (โดยจำเลยเอาที่ดินใช้หนี้ แทนเงินโจทก์อีก 10 ไร่ รวมกับที่โจทก์ได้ตามคำพิพากษา 65 ไร่ จึงเป็น 75 ไร่เศษ)

4. ในสำนวนของศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ 230/2493 คดีหมายเลขแดงที่ 161/2494 ซึ่งนายจวน แสงครุธเป็นจำเลยนั้น โจทก์ได้ประมาณ 26 ไร่ 2 งาน

ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ได้มีหนังสือเป็นคำสั่งไปยังจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ ให้ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ตั้งแต่ พ.ศ. 2494 จำเลยที่ 1ได้ทราบคำสั่งนั้นดีแล้วและได้ทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินอันเป็นชั้นต้นในการออกโฉนดนั้น ๆ แล้ว

แต่รายนายท้วม แสงครุธ ครั้งแรกจำเลยทั้งสองได้เตรียมโฉนดเลขที่ 3997 เพื่อมอบแก่โจทก์ สำหรับที่ดินที่โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ตามคำพิพากษา เนื้อที่ 30 ไร่ แล้ว แต่ไม่ยอมมอบโฉนดนี้ให้แก่โจทก์

รายนายเล็ก แสงครุธ ได้เตรียมโฉนดเลขที่ 3974 เพื่อมอบแก่โจทก์ สำหรับที่ดินที่โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ตามคำพิพากษา เนื้อที่ 23 ไร่ 2 งาน 66 ตารางวา แต่ไม่ยอมมอบโฉนดนี้ให้แก่โจทก์

รายนายใบ ชมวิหค ได้ออกโฉนดให้แก่โจทก์ยึดถือตามคำสั่งศาล และตามพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดินแล้ว เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2496 เป็นเนื้อที่ 75 ไร่ 2 งาน 71 วา ออกให้นายใบ ชมวิหค เนื้อที่ 60 ไร่ และในวันนั้นเอง นายใบได้จำนองที่ดิน 60 ไร่ นี้แก่โจทก์อีกเป็นเงิน 12,000 บาท ต่อหอทะเบียนที่ดินถูกต้องตามกฎหมาย โฉนดของนายใบอยู่ในความยึดถือของโจทก์ และที่ดิน 75 ไร่เศษส่วนของโจทก์นั้น นายใบได้เช่าโจทก์ไปทำนามีหนังสือสัญญาต่อกัน

รายนายจวน แสงครุธ ได้เตรียมโฉนดเลขที่ 3973 เพื่อมอบแก่โจทก์ สำหรับที่ดินที่โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ตามคำพิพากษา เนื้อที่ 26 ไร่ 2 งาน แล้ว แต่ไม่ยอมมอบโฉนดนี้แก่โจทก์

ครั้นวันที่ 30 กรกฎาคม 2496 คณะกรรมการสำรวจการออกโฉนดที่ดินได้มีคำสั่งยกเลิกโฉนดที่ 3997 อันมีชื่อนายท้วม แสงครุธและโจทก์ถือกรรมสิทธิ์นั้นเสีย และให้ออกโฉนดแก่นายท้วมถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว 60 ไร่ ยกเลิกโฉนดที่ 3974 อันมีชื่อนายเล็ก แสงครุธและโจทก์ถือกรรมสิทธิ์เสีย และให้ออกโฉนดใหม่แก่นายเล็กถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว 50 ไร่ 1 งาน 32 ตารางวา ยกเลิกโฉนดที่ 3981 อันมีชื่อนายใบ ชมวิหค และโจทก์ถือกรรมสิทธิ์นั้นเสีย และให้ออกโฉนดใหม่แก่นายใบถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว และยกเลิกโฉนดที่ 3973 อันมีชื่อนายจวน แสงครุธ และโจทก์ถือกรรมสิทธิ์นั้นเสีย และให้ออกโฉนดใหม่แก่นายจวนถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว 53 ไร่ เป็นคำสั่งลบล้างอำนาจศาลในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลบล้างโฉนดซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้เคยออกไว้สำหรับโจทก์โดยอาศัยคำสั่งศาลและพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน โดยพระบรมราชานุญาตในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งประเทศไทยเป็นคำสั่งซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จำเลยทั้งสองได้ทราบหรือควรจะทราบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งคำสั่งของคณะกรรมการนั้นและชอบที่จะยืนยันคงปฏิบัติตามคำพิพากษา และคำสั่งศาลให้โจทก์ได้มีโฉนดตามกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายแต่กลับจงใจฝ่าฝืนคำสั่งศาลโดยเจตนาออกโฉนดให้แก่บุคคลทั้ง 4 ไปใหม่โดยโจทก์ไม่มีชื่อในโฉนดเลยทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้โฉนดของโจทก์ ซึ่งได้มาโดยคำสั่งศาลกระทำการใด ๆ อันเป็นการใช้สิทธิในที่ดินนั้นได้และสิทธิจำนอง ซึ่งนายใบชมวิหค ได้จำนองที่ดินไว้แก่โจทก์นั้นจำเลยทั้งสองก็มิได้จดแจ้งลงทะเบียนไว้ในรายการหลังโฉนด โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ทราบถึงความเสียหายและขอให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาล และปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจำนองนั้นจำเลยก็เพิกเฉยเสีย ไม่มีทางอื่นที่โจทก์จะรักษาสิทธิของโจทก์นอกจากนำคดีมาฟ้องร้องใช้สิทธิทางศาล ขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยดังนี้

ในสำนวนที่ 1 ให้จำเลยออกโฉนดเลขที่ 3997 สำหรับที่ดินซึ่งโจทก์มีกรรมสิทธิ์อยู่แล้วตามคำพิพากษา ในสำนวนของศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีแดงที่ 159/2494 ให้แก่โจทก์

ในสำนวนที่ 2 ให้จำเลยออกโฉนดเลขที่ 3974 สำหรับที่ดินซึ่งโจทก์มีกรรมสิทธิ์อยู่แล้วตามคำพิพากษา ในสำนวนของศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีแดงที่ 160/2494 ให้แก่โจทก์

ในสำนวนที่ 3 ให้จำเลยออกโฉนดสำหรับที่ดินซึ่งโจทก์ มีกรรมสิทธิ์อยู่แล้วตามคำพิพากษาในสำนวนของศาลจังหวัดสมุทรปราการคดีแดงที่ 186/2494 ให้แก่โจทก์ และให้จดทะเบียนรับรองว่านายใบ ชมวิหค ได้จำนองกรรมสิทธิ์ที่ดินของนายใบตามโฉนดที่ 3981 (ฉบับเดิม) เนื้อที่ 60 ไร่ ไว้แก่โจทก์เป็นจำนวน 12,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2496

ในสำนวนที่ 4 ให้จำเลยออกโฉนดเลขที่ 3973 สำหรับที่ดินซึ่งโจทก์มีกรรมสิทธิ์อยู่แล้ว ตามคำพิพากษาในสำนวนของศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีแดงที่ 161/2494 ให้แก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธคำฟ้องโจทก์ ต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ ได้ปฏิบัติตามหนังสือของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ในการทำหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 3997, 3974, 3981, 3973 ตามส่วนที่โจทก์กับนายท้วม แสงครุธ นายเล็ก แสงครุธ นายใบ ชมวิหค และนายจวน แสงครุธ จำเลยในคดีนั้น ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลได้พิพากษาไปตามยอมนั้นแล้ว จำเลยทั้งสองมิได้ฝ่าฝืนคำพิพากษาของศาลหรือคำสั่งใดที่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งมิได้มีเจตนาไม่ยอมมอบโฉนดให้แก่โจทก์ตามฟ้อง การที่โจทก์ไม่ได้รับหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินโฉนดดังกล่าวเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามส่วนในฟ้อง ไม่ใช่เกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสองโดยพลการ อันปราศจากอำนาจที่ชอบด้วยกฎหมายหากเกิดจากผลแห่งกฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการสำรวจการออกโฉนดที่ดิน พ.ศ. 2496 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการสำรวจการออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496 กับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการนี้และข้อวินิจฉัยคำสั่งของคณะกรรมการสำรวจการออกโฉนดที่ดิน จำเลยทั้งสองเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายกฎข้อบังคับ และคำสั่งที่บัญญัติบังคับไว้ จะขัดขืนไม่ได้ ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อโจทก์และไม่ได้เป็นผู้กระทำให้โจทก์เสียหายโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยคำสั่งของคณะกรรมการสำรวจการออกโฉนดที่ดินหาขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 ไม่เพราะเป็นการชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการสำรวจการออกโฉนดที่ดิน และเป็นวิธีการทางฝ่ายบริหารเพื่อความเป็นธรรมของประชาชนเพื่อมิให้ประชาชนผู้ยากจนได้รับความเดือดร้อนอันเป็นเหตุให้เกิดประหัสประหารซึ่งกันและกัน ซึ่งย่อมเกิดความไม่สงบภายใน และไม่เป็นผลให้ราษฎรประสพสันติสุข จึงตกเป็นหน้าที่ฝ่ายบริหารต้องดำเนินการ จำเลยทั้งสองไม่อาจปฏิบัติการฝ่าฝืนได้เพราะจะต้องรับผิดทางอาญา และอย่างอื่น จำเลยทั้งสองไม่อาจกระทำการตามประสงค์ของโจทก์ตามคำขอท้ายฟ้องได้ด้วยเป็นการพ้นวิสัย และโจทก์ไม่มีอำนาจที่จะให้ผู้ใดกระทำการใดอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนได้ ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 ศาลไม่ควรรับไว้พิจารณา จำเลยทั้งสองปฏิบัติการตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายย่อมได้รับนิรโทษกรรม หาต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ประการใดไม่คำสั่งของคณะกรรมการสำรวจการออกโฉนดเป็นคำสั่งเด็ดขาดการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเพื่อแก้ไขคำสั่งให้เป็นอย่างอื่น ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการสำรวจการออกโฉนดที่ดิน พ.ศ. 2496 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นตั้งประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การว่า

1. จำเลยได้ฝ่าฝืนคำสั่งและคำพิพากษาของศาลหรือไม่

2. คำสั่งของคณะกรรมการสำรวจการออกโฉนดที่ดินขัดหรือลบล้างคำสั่งคำพิพากษาของศาลหรือไม่

3. คำสั่งของคณะกรรมการสำรวจการออกโฉนดที่ดินเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คือขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือไม่

4. การที่จำเลยปฏิบัติการไปตามคำสั่งคณะกรรมการสำรวจการออกโฉนดที่ดิน ทำลายโฉนดฉบับเดิมที่โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมอยู่ด้วย แล้วออกโฉนดใหม่ให้แก่นายท้วม แสงครุธ นายเล็ก แสงครุธ นายใบ ชมวิหค และนายจวน แสงครุธ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ที่ดินแต่ละแปลงทั้งหมด และมิได้จดทะเบียนจำนองไว้ในรายการหลังโฉนดของนายใบให้ปรากฏนั้น เป็นการชอบด้วยหน้าที่ของจำเลยหรือไม่แล้ววินิจฉัยว่า คำสั่งของคณะกรรมการสำรวจการออกโฉนดที่ดินเป็นคำสั่งที่ชอบ การที่จำเลยปฏิบัติไปตามคำสั่งคณะกรรมการ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้ง 4 สำนวน

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าคำสั่งคณะกรรมการสำรวจการออกโฉนดที่ดินในเรื่องที่ดินรายนี้นอกเหนืออำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการสำรวจการออกโฉนดที่ดิน พ.ศ. 2496 ไม่มีผลลบล้างสิทธิของโจทก์ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดสมุทรปราการคดีหมายเลขแดงที่ 159/2494, ที่ 160/2494, ที่ 186/2494 และที่ 161/2494 หรือยกเลิกโฉนดที่ดินซึ่งได้ออกไปตามคำพิพากษาได้ จำเลยมีหน้าที่จัดการเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินใหม่ตามคำสั่งของคณะกรรมการสำรวจการออกโฉนดที่ดินนั้น ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 และจัดการให้โจทก์ได้รับหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินหรือโฉนดที่ดินตามคำพิพากษาและคำสั่งบังคับของศาลในคดี 4 สำนวนดังกล่าวนั้นต่อไป และโจทก์ยังคงมีสิทธิในการที่นายใบ ชมวิหค ได้จำนองที่ดิน 60 ไร่รายนี้ตามที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วนั้นอยู่คำสั่งของคณะกรรมการสำรวจการออกโฉนดที่ดินที่ให้ออกโฉนดใหม่แก่นายใบ ชมวิหค นั้น ไม่มีผลปลดเปลื้องการจดทะเบียนจำนองไว้ก่อนนั้น จำเลยมีหน้าที่ให้จดทะเบียนการจำนองนี้ไว้ในหนังสือสำคัญหรือโฉนดสำหรับที่ดิน 60 ไร่นี้ด้วย

จำเลยจึงได้ฎีกาขึ้นมา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้ว ได้ความว่า เดิมโจทก์ฟ้องนายท้วมแสงครุธ นายเล็ก แสงครุธ นายใบ ชมวิหค และนายจวน แสงครุธ เป็นจำเลย และได้ประนีประนอมยอมความกัน ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษาตามยอมให้โจทก์กับจำเลยแบ่งนากันดังปรากฏในสำนวนคดีถึงที่สุดเสร็จเด็ดขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 แล้ว ซึ่งผลแห่งคำพิพากษาโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามนั้นศาลจังหวัดสมุทรปราการมีหนังสือเป็นคำสั่งไปยังจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินให้ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยที่ 1 ได้ทราบคำสั่งนั้นแล้ว และได้ทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินอันเป็นขั้นต้นในการออกโฉนดนั้น ๆ แล้ว แต่ในที่สุดจำเลยกลับออกโฉนดใหม่สำหรับที่ดินรายนี้ให้แก่จำเลยในคดีนั้นเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เสียทั้งหมดแต่ผู้เดียว อ้างว่า การที่โจทก์ไม่ได้รับหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินโฉนดดังกล่าวเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามส่วนในคำฟ้อง เกิดจากผลแห่งกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการสำรวจการออกโฉนดที่ดิน พ.ศ. 2496 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการสำรวจการออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496 กับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการนี้ และข้อวินิจฉัยคำสั่งของคณะกรรมการสำรวจการออกโฉนดที่ดินที่ 7/2496, 9/2496, 10/2496 และ 8/2496 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2496 ให้ออกโฉนดใหม่แก่นายท้วม นายเล็กนายใบและนายจวนจำเลยแต่ละคนถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว ให้ยกเลิกโฉนดฉบับเดิมนั้น จำเลยเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามขัดขืนไม่ได้

ได้ความเช่นนี้ ปรึกษาเห็นว่า กรณีมีนัยเช่นเดียวกับคดีทั้ง 4 สำนวนนี้ ศาลฎีกาเคยพิพากษาไว้ในฎีกาที่ 887/2499 ระหว่าง นางลิ้นจี่ ชยากร โจทก์ นายใบ ชมวิหค จำเลย ว่า “พระราชบัญญัติว่าด้วยการสำรวจการออกโฉนดที่ดิน มิได้หมายความหรือกินความถึงว่า ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งยกเลิกโฉนดที่ออกโดยเนื่องจากคำพิพากษาชี้ขาดของศาลยุติธรรมแต่อย่างใด” เพราะฉะนั้น คณะกรรมการสำรวจฯ จึงไม่มีอำนาจสั่งยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลได้ จำเลยชอบที่จะปฏิบัติไปตามคำสั่งศาลดังคำวินิจฉัยศาลอุทธรณ์

ส่วนฎีกาจำเลยที่ตัดฟ้องว่า ความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการสำรวจออกโฉนดที่ดิน บัญญัติว่า “คำสั่งของคณะกรรมการสำรวจการออกโฉนดที่ดินตามความในมาตรา 5 ให้ถือเป็นเด็ดขาดผู้ใดจะนำไปฟ้องคดีเพื่อแก้ไขเป็นอย่างอื่นมิได้” และการที่โจทก์นำคดีมาฟ้อง จึงต้องห้ามตามกฎหมายมาตรานี้ นั้น ก็ไม่เกี่ยวกับคดีนี้ เพราะได้วินิจฉัยมาแล้วแต่ต้นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการสำรวจฯ ไม่กินความถึงคดีที่ศาลพิพากษาเด็ดขาดแล้ว ข้อตัดฟ้องจึงฟังไม่ขึ้น

เหตุนี้ จึงพิพากษายืน ให้จำเลยเสียค่าทนายแก่โจทก์สำนวนละ 50 บาท

Share