คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3875/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การแบ่งสินสมรสระหว่างสามีภรรยาที่หย่ากันโดยคำพิพากษาต้องแบ่งตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533 บัญญัติไว้ คือแบ่งสินสมรสให้ชายหญิงได้ส่วนเท่ากัน จะแบ่งโดยวิธีตีราคาสินสมรสทั้งหมด แล้วคิดคำนวณส่วนที่แต่ละฝ่ายจะได้รับแล้วนำมาหักกลบลบกันหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 15มิถุนายน 2505 ต่างคนต่างมีทรัพย์สินติดตัวมาไม่มากนัก เกิดบุตรด้วยกัน5 คน หลังสมรสแล้วโจทก์ได้ดำเนินธุรกิจการค้าโดยมีจำเลยเป็นผู้ช่วยเหลือและเป็นแม่บ้านได้ร่วมกับญาติตั้งบริษัทขึ้น 3 บริษัท กิจการค้าได้เจริญรุ่งเรืองตลอดมาจนถึง พ.ศ. 2517 ก็เริ่มขาดทุน โจทก์ได้นำทรัพย์สินที่มีชื่อโจทก์และบุตรผู้เยาว์ไปค้ำประกันหนี้ธนาคาร ทำให้ทรัพย์สินที่มีชื่อโจทก์และบุตรแทบจะไม่เหลือ จำเลยประพฤติตัวเสื่อมเสีย กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภรรยาอย่างร้ายแรงจึงไม่สมควรจะเป็นผู้ปกครองดูแลบุตรผู้เยาว์ ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันและให้จำเลยแบ่งสินสมรสให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าทรัพย์สินที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าเป็นสินสมรสส่วนใหญ่เป็นสินเดิมของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่งที่โจทก์อ้างว่ากิจการค้าขาดทุนโจทก์ต้องนำทรัพย์สินที่มีชื่อโจทก์และบุตรไปค้ำประกันธนาคารจนแทบจะไม่เหลือนั้นเป็นเรื่องที่โจทก์ปฏิบัติไม่ถูกต้องเพราะเป็นเรื่องของบริษัทจึงไม่ผูกพันจำเลยและบุตร จำเลยไม่เคยประพฤติตัวเสื่อมเสีย และกระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภรรยาไม่เคยมีชู้ดังโจทก์อ้าง โจทก์ไม่อุปการะเลี้ยงดูจำเลย และยังอยู่กินกับหญิงอื่นฉันสามีภริยา บุตรทั้ง 5 จึงควรอยู่ในความปกครองของจำเลยสำหรับสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยได้ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของบ้างใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของบ้าง ส่วนที่มีชื่อโจทก์คิดเป็นเงิน 1,400,000บาท โจทก์ไม่มีสินเดิม และสินส่วนตัวแต่จำเลย มีสินเดิมและสินส่วนตัวจำเลยจึงมีสิทธิได้ส่วนแบ่งในสินสมรส 2 ใน 3 ส่วน คิดเป็นเงินประมาณ933,000 บาท จึงฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันให้ยกฟ้องโจทก์และให้โจทก์แบ่งสินสมรสให้จำเลย 933,000 บาท

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์มีสินเดิมจึงต้องแบ่งสินสมรสคนละครึ่งทรัพย์ที่จำเลยอ้างว่าเป็นสินเดิมของจำเลยความจริงเป็นสินสมรส

ก่อนเริ่มต้นสืบพยาน โจทก์จำเลยแถลงตกลงหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากันตามฟ้องและฟ้องแย้ง ขอให้ศาลพิจารณาในประเด็นอื่นต่อไป

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า ส่วนแบ่งสินสมรสที่โจทก์มีสิทธิได้จากจำเลยคิดเป็นเงิน 1,467,000 บาท ส่วนที่จำเลยมีสิทธิได้จากโจทก์คิดเป็นเงิน600,000 บาท เมื่อหักกลบลบกันแล้วโจทก์มีสิทธิได้จากจำเลย 867,200บาท คำขอเกี่ยวกับอำนาจปกครองผู้เยาว์นั้นอยู่ในอำนาจของศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางจึงไม่จำต้องวินิจฉัย พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากัน ให้จำเลยชำระเงิน 867,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ ให้โจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพให้จำเลยเดือนละ 10,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาว่า การแบ่งสินสมรสจะใช้วิธีหักกลบลบกันดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษานั้นไม่ถูกต้อง ให้จัดแบ่งตามกฎหมายว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวมพิพากษาแก้ให้แบ่งสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยคนละครึ่ง ถ้าไม่สามารถแบ่งได้ให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินแบ่งกัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยมีหุ้นในบริษัทหลายบริษัท ที่ดินหลายแปลง สิทธิในการเช่าที่ดินก็มี ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533 บัญญัติว่า เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายหญิงได้ส่วนเท่ากัน ดังนั้นจึงต้องแบ่งสินสมรสดังกล่าวทั้งหมดให้โจทก์จำเลยได้ส่วนเท่ากันหรือคนละครึ่ง ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ควรได้รับชดใช้จากจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น หากแบ่งตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้ว ผลที่สุดก็ต้องขายทอดตลาดทุกรายการ เห็นว่า โจทก์จำเลยมีสิทธิได้รับสินสมรสทั้งหมดเท่ากัน ซึ่งโจทก์จำเลยจะแบ่ทรัพย์สินต่าง ๆระหว่างโจทก์จำเลยเองก็ได้หรือขายทรัพย์สินนั้นเอาเงินที่ขายได้แบ่งกันก็ได้ หรือขายโดยประมูลราคากันเองระหว่างโจทก์จำเลยหรือขายทอดตลาดก็ได้ จำเลยเป็นคู่สมรสของโจทก์ ไม่ใช่ลูกหนี้โจทก์ จึงไม่มีหนี้เงินที่จะต้องชดใช้ให้โจทก์

พิพากษายืน

Share