คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3854/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สถานีรถไฟปาดังเบซาร์อยู่ในประเทศมาเลเซียห่างเขตแดนประเทศไทย 500 เมตร ภายในสถานีมีด่านศุลกากรของไทยและมาเลเซียเมื่อเวลา 8 นาฬิกานายตรวจศุลกากรประจำด่านของไทยยึดเห็ดหอม ไม่ปรากฏเจ้าของมาจากที่ทำการพนักงานตรวจรถไฟซึ่งอยู่ติดสถานีเพื่อเก็บในด่านศุลกากร ขณะรอคนเปิด ประตูห้องจำเลยเข้ามาแสดงตัวเป็นเจ้าของขอคืน แล้วเกิดทำร้ายกันขึ้น เมื่อเป็นความผิดตามกฎหมายภาษีศุลกากรกับความผิดซึ่งเกี่ยวเนื่องกันคือต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและเอาของกลางไปดังนี้ ศาลไทยมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้
จำเลยนำเห็ดหอมไปวาง ณ ที่ทำการพนักงานตรวจรถไฟ ยังไม่เป็นความผิดฐานนำสินค้าต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรตาม พระราชบัญญัติศุลกากร ฯ ม.27 แม้เพียงขั้นพยายามกระทำผิด และเมื่อไปนำกลับคืนมาจึงไม่มีความผิดตาม ประมวลกฎหมาย มาตรา142

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลักลอบนำเห็ดหอมจำนวน 2 ถุง อันเป็นสินค้าต่างประเทศที่ยังมิได้ผ่านด่านศุลกากรและยังมิได้เสียอากรในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร จากนอกราชอาณาจักรเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิได้ผ่านด่านตรวจของเจ้าพนักงานศุลกากรและมิได้เสียภาษีศุลกากรตามกฎหมาย และจำเลยกับพวกได้บุกรุกเข้าไปในห้องเก็บของอันเป็นสถานที่ราชการโดยไม่มีเหตุอันสมควรกับได้ต่อสู้ทำร้ายร่างกาย นายจำลองกลิ่นส่ง เจ้าหน้าที่ศุลกากรซึ่งทำการจับกุมจำเลยกับพวก เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย อันเป็นการต่อสู้และขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่ และจำเลยกับพวกได้ร่วมกันนำเห็ดหอม 2 ถุงดังกล่าวอันเป็นสินค้าที่ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ยึดรักษาไว้เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายไป ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร ฯลฯ ประมวลกฎหมายอาญา ฯลฯ และริบของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 296 ข้อหาอื่นให้ยก เห็ดหอมของกลางไม่ริบ

โจทก์จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 กระทงหนึ่ง ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 142, 83 กระทงหนึ่ง และผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138,140, 296 อีกกระทงหนึ่ง ฯลฯ ของกลางริบ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบและการเผชิญสืบของศาลชั้นต้นรับกันว่า สถานีรถไฟปาดังเบซาร์ที่เกิดเหตุตั้งอยู่ในประเทศมาเลเซียห่างเขตแดนประเทศไทย 500 เมตร เรียกกันทั่วไปว่าสถานี 1ภายในสถานีมีที่ทำการด่านศุลกากรของไทยและมาเลเซียโดยของไทยอยู่ด้านทิศเหนือ มีเจ้าหน้าที่ปฎิบัติการเกี่ยวกับภาษี และยังมีสถานี 2ในประเทศไทยห่างเขตแดน 300 – 400 เมตร เพื่อให้ขบวนรถไฟหยุดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ศุลกากรร่วมกันตรวจค้นจับกุมของหนีภาษีและผิดกฎหมายโดยเฉพาะไม่มีการให้เสียภาษีกันอีก ที่จอดรถไฟที่เรียกกันว่าสถานี 2 นี้ ไม่มีอาคารสถานีหรือที่ทำการด่านศุลกากรแต่อย่างใด ตามวันเวลาเกิดเหตุ นายจำลอง กลิ่นส่ง นายตรวจศุลกากร 3ประจำด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ได้ยึดเห็ดหอม ซึ่งเป็นสินค้าต่างประเทศไม่ปรากฏเจ้าของมาจากที่ทำการพนักงานตรวจรถไฟ (พ.ต.ร.) ซึ่งอยู่ติดกับอาคารสถานีรถไฟทางด้านเหนือมาเพื่อเก็บในด่านศุลกากร ขณะที่รอคนเปิดประตูห้องอยู่นั้น จำเลยได้เข้ามาแสดงตัวเป็นเจ้าของขอของคืนนายจำลองไม่ยอมคืน จึงเกิดทำร้ายกัน

ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการแรกก็คือ ข้อหาตามฟ้องของโจทก์ศาลไทยมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือไม่ และเพียงใด

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเหตุคดีนี้เกิดที่รัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซียสถานที่เกิดเหตุเป็นสถานีร่วมปาดังเบซาร์ ซึ่งมีประกาศกระแสพระบรมราชโองการให้ใช้สัญญาว่าด้วยการเดินรถไฟ ระหว่างพระราชอาณาจักรสยามกับกลันตัน ไทรบุรี เปอร์ลิสและสหรัฐมลายู ลงวันที่ 24 ธันวาคม2467 ข้อ 17 ว่า “เมื่อเจ้าพนักงานศุลการักษ์ของประเทศที่ไม่ใช่ผู้เป็นเจ้าของแห่งที่ตั้งสถานีร่วม ฤาทางร่วม พบผู้กระทำผิดต่อกฎหมายภาษีฤากฎข้อบังคับของประเทศแห่งตนภายในสถานีร่วม ฤาในทางร่วมให้เจ้าพนักงานผู้นั้นใช้กฎหมายนั้นบังคับคดี และให้ใช้อำนาจตามกฎหมายอนุญาตเพื่อทำการไต่สวน บันทึกสำนวนความผิด ยึดของกลาง,จับผู้กระทำผิด, จำหน่ายของกลางที่ริบไว้, ยอมไกล่เกลี่ยเปรียบเทียบและทำการอื่น ๆ ที่จำเป็นเพื่อระงับปราบปรามเหตุการณ์ทุจริตต่าง ๆในเรื่องลอบลักหนีภาษีให้น้อยลง” และข้อ 18 ว่า “ความผิดที่บุคคลได้กระทำในสถานีร่วมฤาในทางร่วมอันฝ่าฝืนต่อกฎหมายภาษีและกฎข้อบังคับของประเทศที่ไม่ใช่ผู้เป็นเจ้าของแห่งที่ตั้งสถานีร่วมนั้นให้ชำระในศาลของประเทศนั้น และให้ลงโทษตามกฎหมายของประเทศนั้นได้” เช่นนี้ เมื่อเหตุเกิดขึ้นที่ที่ทำการพนักงานตรวจรถซึ่งอยู่ภายในบริเวณสถานีร่วมและเป็นความผิดตามกฎหมายภาษีศุลกากรกับความผิดซึ่งเกี่ยวเนื่องกัน คือข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและเอาของกลางไป ศาลไทยจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้

ในข้อหาลักลอบนำสินค้าต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้ผ่านการตรวจและเสียภาษีศุลกากรนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าเห็ดหอมของจำเลย 2 ถุง วางอยู่ในที่พักพนักงานตำรวจรถไฟ ซึ่งอยู่ติดกับสถานีรถไฟปาดังเบซาร์อันเป็นที่ตั้งด่านศุลกากรไทยในประเทศมาเลเซีย ห่างเขตแดนประเทศไทยถึง 500 เมตร ดังนี้ ถือว่าจำเลยนำสินค้าต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ยังไม่ได้ แม้หากจำเลยตั้งใจจะนำเข้ามาในราชอาณาจักร จำเลยก็ยังมีโอกาสกลับใจหรือนำของไปเสียภาษีให้ถูกต้องดังที่จำเลยนำสืบก็เป็นได้ และการวางของเช่นนี้ไม่ปรากฏว่าเป็นที่หวงห้ามแต่ประการใด การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นความผิดแม้เพียงขั้นพยายามกระทำผิด

ในข้อหาฐานต่อสู้ขัดขวางทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140 และ 296นั้น ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย จำคุก 1 ปี 6 เดือนตามมาตรา 296 ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลย จำคุก 1 ปี6 เดือนเช่นกัน แต่ปรับบทว่าเป็นความผิดตามมาตรา 140 ซึ่งเป็นบทหนักจึงเป็นการแก้น้อย ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

สำหรับความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งของกลางอันเจ้าพนักงานได้ยึดได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 142 นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยที่นำเห็ดหอมไปวางไว้ไม่เป็นความผิด การที่จำเลยไปนำกลับคืนจึงหามีความผิดไม่

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาฐานลักลอบนำสินค้าต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิได้ผ่านการตรวจและเสียภาษีศุลกากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 และให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาพาเอาไปเสียซึ่งของกลางอันเจ้าพนักงานได้ยึดไว้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 142 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ของกลางคืนเจ้าของ

Share