คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3832/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีทั้งสองสำนวนนี้โจทก์ที่ 1 ฟ้องขอแบ่งมรดกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจำนวน 1 ใน 7 ส่วน คิดเป็นเงิน 220,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 ได้รับส่วนแบ่งมรดกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจำนวน 1 ใน14 ส่วน คิดเป็นเงิน 110,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ที่ 1 ฎีกาขอให้แบ่งที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 1 ใน 7 ส่วนตามฟ้องแม้คดีทั้งสองสำนวนนี้จะรวมพิจารณาและโจทก์ที่ 1 จะยื่นฎีการวมกันมากับโจทก์ที่ 2 แต่การคำนวณทุนทรัพย์ในการที่จะใช้สิทธิฎีกานี้ต้องแยกต่างหากจากกันดังนั้นทุนทรัพย์พิพาทในชั้นฎีกาสำหรับโจทก์ที่ 1 คือส่วนแบ่งอีกจำนวน 1 ใน14 ส่วน คิดเป็นเงิน 110,000 บาท จึงไม่เกินสองแสนบาท ซึ่งต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ.มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาว่า ที่ดินทั้งสองแปลงไม่ใช่สินสมรสระหว่าง บ.และ ส. นั้นเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สำหรับฎีกาโจทก์ที่ 1 ที่ว่า นางสอนต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดก กับที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าบุคคลเหล่านี้มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งด้วยเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นนั้น แม้ศาลฎีกาจะวินิจฉัยไปในทางใดก็ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของโจทก์ที่ 1 ในการได้รับส่วนแบ่งมรดกน้อยลงหรือทำให้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกเพิ่มขึ้นแต่ประการใด ดังนี้ ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
ที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่172 เดิมมีชื่อ ส.ภริยาเป็นเจ้าของ ส่วนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 173 มีชื่อ บ.สามีเป็นเจ้าของ ส.และ บ.ต่างนำที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวไปขายฝากไว้กับ อ.มีกำหนด 5 ปี แล้วไม่ไถ่ถอน ต่อมา บ.ได้ซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวจาก อ. ซึ่งขณะนั้น บ.และ ส.เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย เงินที่นำไปซื้อที่ดินเป็นเงินจากการขายสวนของ บ.ซึ่งเป็นสินสมรสระหว่าง บ.และ ส. ดังนั้น ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจึงเป็นสินสมรสระหว่าง บ.และ ส.
โจทก์มิได้ฟ้อง ส.กับพวกซึ่งเป็นภริยาและบุตรของ บ.เจ้ามรดกเป็นจำเลย แม้ ส.กับพวกจะเคยยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นจำเลยร่วมแต่ในที่สุดก็ได้ถอนคำร้องดังกล่าวไปโดยโจทก์มิได้คัดค้านและศาลชั้นต้นก็ได้อนุญาตให้ ส.กับพวกถอนคำร้องสอดไปแล้ว ส.กับพวกดังกล่าวจึงมิได้มีฐานะเป็นคู่ความต่อไป จึงไม่มีประเด็นที่จะวินิจฉัยว่า นางสอนกับพวกดังกล่าวซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของ ส. จึงต้องฟังว่านางสอนกับพวกดังกล่าวซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ บ.ยังคงมีสิทธิรับมรดกของนายสมบูรณ์ตามสัดส่วนของตน
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอแบ่งมรดก ซึ่งจำเป็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่าทรัพย์มรดกมีอะไรบ้าง ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกมีกี่คน แต่ละคนมีสิทธิได้รับมรดกเท่าใด การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่านางสอน นายเฉลิมนายถนอม นายสมัยมีส่วนแบ่งในทรัพย์พิพาทเพียงใดก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสองมีส่วนแบ่งเท่าใดเท่านั้น ซึ่งอยู่ในประเด็นที่ว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับมรดกในที่ดินพิพาททั้งสองหรือไม่เพียงใดนั่นเอง จึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใด

Share