คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3831/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์ให้บริการการใช้บัตรเครดิตแก่สมาชิกโดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียม โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่างๆ ให้สมาชิก และการที่โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่เจ้าหนี้ของสมาชิกไปก่อนแล้วจึงเรียกเก็บจากสมาชิกภายหลัง เป็นการเรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปก่อน กรณีจึงถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่างๆ เรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปก่อน สิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) โจทก์แจ้งยอดบัญชีส่งให้จำเลยทราบในแต่ละงวดที่เรียกเก็บและถือว่าหนี้ถึงกำหนดตามที่ระบุในใบแจ้งหนี้ เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ตามกำหนด โจทก์ก็อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่จำเลยผิดนัด แต่เมื่อจำเลยชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2539 อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นมา โจทก์เพิ่งฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2546 พ้นกำหนด 2 ปี แล้วคดีโจทก์จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามมูลหนี้บัตรเครดิตรวม 66,706.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 30,321.03 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยาน จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
ศาลชั้นต้นสอบทนายโจทก์แล้วรับว่า จำเลยได้ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2539 ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยแล้ววินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่จำเลยได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา พอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่งแล้ว คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นลูกค้าของโจทก์ตามบัตรเครดิต 2 ประเภท คือ บัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพและบัตรวีซ่าธนาคารกรุงเทพ จำเลยนำบัตรเครดิต 2 ประเภท ไปชำระค่าสินค้าครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2539 และวันที่ 1 มีนาคม 2539 โจทก์ส่งใบแจ้งยอดค่าใช้จ่ายไปให้จำเลยชำระเงินคืนให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 25 เมษายน 2539 และวันที่ 25 มีนาคม 2539 ตามลำดับ แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ให้ครบถ้วน โดยนำเงินไปชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2539 ศาลฎีกาเห็นว่า การให้บริการบัตรเครดิตเป็นวัตถุประสงค์ของธนาคารโจทก์ การที่โจทก์ให้บริการการใช้บัตรเครดิตแก่สมาชิกโดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียม โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่างๆ ให้แก่สมาชิกและการที่โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่เจ้าหนี้ของสมาชิกแทนสมาชิกไปก่อนแล้วจึงเรียกเก็บจากสมาชิกภายหลัง เป็นการเรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปก่อนกรณีจึงถือได้ว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่างๆ เรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปก่อน สิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) หาได้มีอายุความ 10 ปี ตามที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ คำพิพากษาฎีกาที่โจทก์อ้างเป็นคนละเรื่องกับคดีนี้ โจทก์แจ้งยอดบัญชีส่งให้จำเลยทราบในแต่ละงวดที่เรียกเก็บและให้ถือว่าหนี้ถึงกำหนดตามที่ระบุไว้ในใบแจ้งหนี้ กรณีเช่นนี้เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ตามกำหนด โจทก์ก็อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่จำเลยผิดนัด แต่เมื่อจำเลยชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2539 อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นมา โจทก์เพิ่งฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2546 พ้นกำหนด 2 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share