แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คดีร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1727บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียต้องร้องขอก่อนการปัน มรดก เสร็จสิ้นกรณีมิใช่คดีฟ้องเรียกทรัพย์มรดก หรือคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 และ 1733 ที่จะนำอายุความตามมาตราดังกล่าวมาใช้บังคับ.
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นบุตรนางมุก และเป็นน้องนายห้อง ผู้จัดการมรดกนางมุก เมื่อ พ.ศ. 2525 และ พ.ศ. 2528นายห้องแบ่งขายที่ดินมรดกของนางมุกตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 533 เนื้อที่ 6 ไร่เศษ ให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย 2 ครั้งรวมเนื้อที่ 1 ไร่ 99 ตารางวา โดยไม่แบ่งให้แก่ทายาททั้งหมดที่ดินที่เหลืออยู่อีกประมาณ 4 ไร่ ก็เพิกเฉยไม่ยอมแบ่งปันแก่ทายาท กลับโอนเป็นชื่อของตนโดยลำพัง เป็นการปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการมรดกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ถอนนายห้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก และตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางมุกต่อไป
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของนางมุก เนื่องจากผู้ร้องได้รับส่วนแบ่งมรดกของนางมุกจากที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 533 ไปตามส่วนเรียบร้อยแล้วผู้ร้องไม่มีสิทธิที่จะได้รับที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 533 อีก จึงไม่มีอำนาจร้องเป็นคดีนี้ ที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 533 ปรากฏชื่อผู้คัดค้านในฐานะส่วนตัวมิใช่ในฐานะผู้จัดการมรดก การจัดการมรดกได้เสร็จสิ้นไปนานแล้ว ผู้ร้องยื่นคำร้องเกินกำหนด 1 ปี นับแต่นางมุกถึงแก่ความตาย โดยผู้ร้องทราบเหตุการตายดีอยู่แล้วคดีของผู้ร้องจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับให้ถอนผู้คัดค้านออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกนางมุกเจ้ามรดก
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบไม่โต้เถียงกันคงฟังยุติได้ว่าผู้ร้อง ผู้คัดค้าน และนางม่อมเอมสุรินทร์ เป็นบุตรนางมุก เชื้อนคร นางมุกถึงแก่กรรมโดยมิได้ทำพินัยกรรมเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2515 ขณะถึงแก่กรรม นางมุกมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่533 ตำบลศุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 6 ไร่20 ตารางวา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกนางมุก เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2524 ผู้คัดค้านได้จดทะเบียนรับมรดกและจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของตนคนเดียวทั้งหมด เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2524 ต่อมาได้จดทะเบียนโอนขายให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทยไป 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14กรกฎาคม 2525 ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2528 รวมเนื้อที่1 ไร่ 99 ตารางวา และได้ขอรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2530 โดยแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นที่ดินที่ได้มาโดยรับมรดกจากนางมุกผู้ร้องและนางม่อมแจ้งผู้คัดค้านให้แบ่งเงินที่ได้จากการขายที่ดินและแบ่งที่ดินที่ยังเหลือแก่ผู้ร้องและนางม่อมแล้ว ผู้คัดค้านปฏิเสธไม่ยอมแบ่ง ผู้ร้องจึงร้องขอให้ถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดกนางมุกเป็นคดีนี้…ที่ผู้คัดค้านฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่าคดีของผู้ร้องขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 และ 1733เพราะผู้ร้องยื่นคำร้องเกินกำหนด 1 ปี นับแต่ทราบถึงความตายของนางมุกเจ้ามรดก และเกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงนั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลงเท่านั้นมิใช่คดีฟ้องเรียกร้องทรัพย์มรดก หรือคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกจะนำอายุความฟ้องคดีมรดกและคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 และ 1733 มาใช้บังคับหาได้ไม่ คดีของผู้ร้องจึงไม่ขาดอายุความ…”
พิพากษายืน.