คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3821/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทโจทก์มีลูกจ้าง 70 คน ประจำสำนักงานไม่ถึง 20คนนอกนั้น ประจำอยู่ในเรือบรรทุกสินค้า3 ลำรับจ้างบรรทุกสินค้าระหว่างท่าเรือ ในกรุงเทพมหานครและในจังหวัดสมุทรปราการกับต่างประเทศ เรือสินค้า ของโจทก์จะกลับมาประเทศไทยอย่างเร็วประมาณ1 เดือนอย่างช้า ประมาณ4เดือนครั้งหนึ่งและจะอยู่ในประเทศไทยไม่เกิน 7 วันดังนี้แม้ว่างานและเวลาส่วนใหญ่ลูกจ้างโจทก์จะทำงานในต่างประเทศ แต่การบรรทุกสินค้าเพื่อไปส่งต่างประเทศก็ดีบรรทุกสินค้าจากต่างประเทศ กลับมายังท่าเรือในเขตกรุงเทพมหานครก็ดี การเริ่มต้นงานและสิ้นสุดงาน แต่ละเที่ยวเกิดในเขตกรุงเทพมหานครทั้งสิ้นถือได้ว่าลูกจ้างโจทก์ทำงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ความมุ่งหมายที่กฎหมายตั้งกองทุนเงินทดแทนขึ้นมานั้นมิใช่เพื่อ หาประโยชน์แต่เพื่อคุ้มครองลูกจ้างโดยทั่วไปมิใช่เฉพาะลูกจ้างของโจทก์ เท่านั้นเพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินทดแทนโดยมิต้องเสี่ยงกับฐานะการเงิน ของนายจ้างกองทุนเงินทดแทนอาจต้องจ่ายเงินทดแทนจำนวนมากกว่า เงินสมทบทุนที่เรียกเก็บจากนายจ้างก็ได้ดังนั้น เมื่อกฎหมายกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนตั้งแต่ปีพ.ศ. 2526 โจทก์ก็ต้องปฏิบัติตาม แม้ว่ากองทุนเงินทดแทนจะไม่มีโอกาสจ่ายค่าทดแทน ให้แก่ลูกจ้างโจทก์ในปีดังกล่าวก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ชำระเงินสมทบทุนกองทุนเงินทดแทนปี พ.ศ. 2526, 2527 โดยโจทก์มีลูกจ้างไม่ถึง 20 คน และลูกจ้างโจทก์ทำงานประจำอยู่ต่างประเทศ จึงไม่ต้องจ่ายเงินตามคำสั่ง โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนแล้ว คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนดังกล่าว
จำเลยให้การว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนชอบแล้ว เพราะโจทก์ประกอบกิจการงานขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศมีสถานประกอบการค้าอยู่ในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ 1 มกราคม 2526 ถึง พ.ศ. 2527โจทก์มีลูกจ้าง 70 คน สภาพการจ้างเกิดในประเทศไทย ทำงานอยู่ที่บริษัทโจทก์โดยประจำสำนักงานและเป็นลูกเรือ ไม่ได้ประจำทำงานในต่างประเทศ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบทุนเงินทดแทนคำสั่งของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนชอบแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โจทก์อุทธรณ์ว่ามีลูกจ้าง70 คน ประจำสำนักงานไม่ถึง 20 คน นอกนั้นประจำอยู่ในเรือบรรทุกสินค้า 3 ลำรับจ้างบรรทุกสินค้าจากท่าเรือต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร และในจังหวัดสมุทรปราการไปส่งต่างประเทศ และรับจ้างบรรทุกสินค้าจากประเทศต่าง ๆ ไปอีกประเทศหนึ่งและกลับมายังประเทศไทยด้วย เรือสินค้าของโจทก์จะกลับมาประเทศไทยอย่างเร็วประมาณ 1 เดือน อย่างช้าประมาณ 4 เดือนครั้งหนึ่ง และจะอยู่ในประเทศไทยไม่เกิน 7 วัน ดังนี้โจทก์เห็นว่า ลูกจ้างของโจทก์ทำงานอยู่ในเรือและประจำอยู่ต่างประเทศมิได้ทำงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยคือลักษณะการทำงานในเรือของลูกจ้างโจทก์ดังกล่าวถือว่าทำงานอยู่ในกรุงเทพมหานครหรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จริงอยู่งานและเวลาส่วนใหญ่ลูกจ้างโจทก์ทำงานในต่างประเทศ แต่การบรรทุกสินค้าเพื่อไปส่งต่างประเทศก็ดี บรรทุกสินค้าจากต่างประเทศกลับมายังท่าเรือในเขตกรุงเทพมหานครก็ดี เห็นได้ว่าการเริ่มต้นงานและสิ้นสุดงานแต่ละเที่ยวล้วนเกิดในเขตกรุงเทพมหานครทั้งสิ้นถือได้ว่าลูกจ้างโจทก์ทำงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร ดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไว้ชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ควรจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนเริ่มแต่ปี พ.ศ. 2528 เพราะการจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนเพื่อเป็นทุนให้มีการจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้างแทนนายจ้าง กรมแรงงานทราบว่าบริษัทโจทก์จะต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนเมื่อปลายปี พ.ศ. 2527 โอกาสที่จะจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างโจทก์แทนโจทก์ได้ผ่านไปแล้วและไม่มีโอกาสที่จะต้องจ่ายบริษัทโจทก์จึงควรจะต้องเริ่มจ่ายแต่ปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นไปนั้น ศาลฎีกาเห็นว่ากฎหมายแรงงานกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 โจทก์ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แม้ว่ากองทุนเงินทดแทนจะไม่มีโอกาสจ่ายค่าทดแทนให้แก่ลูกจ้างโจทก์แทนโจทก์ในปีดังกล่าวก็ตามเพราะความมุ่งหมายที่กฎหมายตั้งกองทุนเงินทดแทนขึ้นมานั้นมิใช่เพื่อหาประโยชน์แต่เพื่อคุ้มครองลูกจ้างโดยทั่วไป มิใช่เฉพาะลูกจ้างโจทก์เท่านั้น เพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินทดแทนอย่างแน่นอน มิต้องเสี่ยงกับฐานะการเงินของนายจ้างซึ่งไม่แน่ว่าลูกจ้างจะได้รับเงินทดแทนหรือไม่ กองทุนเงินทดแทนอาจต้องจ่ายเงินทดแทนจำนวนมากกว่าเงินสมทบทุนที่เรียกเก็บจากนายจ้างก็ได้ อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ
พิพากษายืน

Share