คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3819/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้รับประกันภัยที่ถูกผู้เอาประกันภัยยื่นคำร้องขอให้เรียกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมเพื่อให้ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้รับประโยชน์ซึ่งเป็นโจทก์ฟ้องผู้เอาประกันภัยให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ที่ถูกคนร้ายลักไป มีสิทธิยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคแรก ขึ้นต่อสู้ได้
ภายหลังจากที่รถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไป โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อและจำเลยผู้เช่าซื้อได้ติดต่อให้จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน การที่จำเลยร่วมมิได้ปฏิเสธความรับผิด แต่ให้นำบันทึกประจำวันจากพนักงานสอบสวนไปประกอบด้วยนั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นการทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องอันเป็นการรับสภาพหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคแรก
ส. ซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เช่าซื้อนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปจอดไว้บริเวณซอยลาดพร้าว 84อันเป็นสถานที่ซึ่งคนทั่วไปรวมทั้งคนร้ายสามารถเข้าออกได้โดยสะดวก ส. ควรคาดหมายได้ว่าอาจมีคนร้ายเข้าไปลักรถยนต์ไปได้โดยง่าย จึงอาจป้องกันมิให้คนร้ายลักรถยนต์ได้โดยระมัดระวังให้มากกว่าที่กระทำดังกล่าว การที่ ส. เพียงแต่ล็อกคลัตซ์และกุญแจประตูรถ ยังไม่พอที่จะถือว่าได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น เมื่อรถยนต์ถูกคนร้ายลักไปจึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่จะทำให้ผู้เช่าซื้อพ้นความรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2532 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ ในราคา 326,592 บาท ตกลงผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือนรวม 48 งวด มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ภายหลังทำสัญญา จำเลยที่ 1 ได้รับมอบรถยนต์ไปจากโจทก์แล้วยังไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ที่เช่าซื้อก็สูญหายไปทำให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน จำเลยทั้งสามมีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดแก่โจทก์ แต่ไม่ยอมชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงิน 326,592 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

เนื่องจากโจทก์ไม่เสียค่าขึ้นศาลสำหรับคำขอส่วนดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับคำขอส่วนนี้

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกบริษัทเอราวัณประกันภัยจำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การว่า การที่รถยนต์หายเป็นเหตุสุดวิสัย จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยร่วมให้การว่า คดีขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 230,000 บาท แก่โจทก์ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยร่วม

โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยทั้งสามฎีกาข้อแรกว่า อายุความสองปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคแรกใช้บังคับเฉพาะกรณีผู้รับประโยชน์ฟ้องเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยเท่านั้น ไม่ใช่บังคับในกรณีผู้เอาประกันถูกผู้รับประโยชน์ฟ้องและผู้เอาประกันภัยเรียกผู้รับประกันภัยเข้ามาเป็นคู่ความเช่นในคดีนี้ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้เรียกผู้รับประกันภัยเข้ามาเป็นจำเลยร่วมก็เพื่อจะให้ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้รับประโยชน์นั่นเอง ฉะนั้นผู้รับประกันภัยจึงมีสิทธิยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคแรก ขึ้นต่อสู้ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยร่วมรับสภาพหนี้ต่อโจทก์แล้วอายุความจึงสะดุดหยุดลงคดีไม่ขาดอายุความ เพราะภายหลังจากที่รถยนต์คันพิพาทถูกคนร้ายลักไป โจทก์และจำเลยได้ติดต่อให้จำเลยร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำเลยร่วมมิได้ปฏิเสธความรับผิดเพียงแต่แจ้งให้นำบันทึกประจำวันจากพนักงานสอบสวนมาประกอบด้วยเท่านั้น เห็นว่า การที่จำเลยร่วมมิได้ปฏิเสธความรับผิดแต่ให้นำบันทึกประจำวันจากพนักงานสอบสวนไปประกอบด้วยนั้น ยังไม่พอฟังว่าเป็นการทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องอันเป็นการรับสภาพต่อเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคแรก ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น (มาตรา 193/14(1) ที่แก้ไขใหม่) ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกจำเลยร่วมผู้รับประกันภัยเข้ามาในคดีเกินสองปีนับจากวันวินาศภัยคดีสำหรับจำเลยร่วมขาดอายุความจึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

จำเลยทั้งสามฎีกาต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เพราะรถยนต์พิพาทถูกคนร้ายลักไปเป็นเหตุสุดวิสัย ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยจำเลยทั้งสามมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า นายสมฤทธิ์ สอนใจ ลูกจ้างจำเลยที่ 1 นำรถยนต์พิพาทไปจอดไว้ที่ซอยลาดพร้าว 84 หน้าบ้านพักของนายสมฤทธิ์ ได้ล็อกคลัตซ์ และกุญแจประตูรถยนต์เห็นว่า กรณีจะเป็นเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 จะต้องเป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้บุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏข้างต้นเห็นได้ว่าสถานที่ที่นายสมฤทธิ์นำรถยนต์พิพาทไปจอดไว้ เป็นบริเวณซอยลาดพร้าว 84 อันเป็นสถานที่ซึ่งคนทั่วไปรวมทั้งคนร้ายสามารถเข้าออกได้โดยสะดวก นายสมฤทธิ์จึงควรคาดหมายได้ว่า อาจมีคนร้ายเข้าไปลักเอารถยนต์พิพาทไปได้โดยง่าย ฉะนั้น นายสมฤทธิ์จึงอาจป้องกันมิให้คนร้ายลักรถยนต์พิพาทได้โดยระมัดระวังให้มากกว่าที่กระทำในคดีนี้ การที่นายสมฤทธิ์เพียงแต่ล็อกคลัตซ์และกุญแจประตูรถยังไม่เพียงพอที่จะถือว่า ได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น กรณีจึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ฎีกาจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share