คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3794/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องโจทก์บรรยายว่า กรรมการผู้มีอำนาจสองในสามคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัทกระทำการแทนและผูกพันโจทก์ตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือรับรองบริษัทเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1 โดยโจทก์แนบสำเนาหนังสือรับรองมาเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง หนังสือรับรองดังกล่าวสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ออกให้และปรากฏชื่อ ธ.กับว. รวมอยู่ในรายชื่อกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทด้วยและโจทก์มอบอำนาจให้ผู้มีชื่อตามหนังสือมอบอำนาจท้ายคำฟ้องหมายเลข 3 จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้ในเรื่องอำนาจฟ้องเพียงว่า สำเนาภาพถ่ายหนังสือรับรองของบริษัทเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1 ไม่ใช่ต้นฉบับของทางราชการ หรือมีการรับรองสำเนาถูกต้องโดยทางราชการ และหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 3 เป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไป มิใช่หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ดังนี้คำให้การของจำเลยมิได้ให้การโดยชัดแจ้งถึงเรื่องกรรมการบริษัทโจทก์ขณะที่โจทก์ยื่นคำฟ้องว่ามิได้เป็นไปตามเอกสารท้ายคำฟ้อง ซึ่งจำเลยมีหน้าที่จะต้องให้การโดยชัดแจ้งว่าจำเลยยอมรับข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้น ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง การที่จำเลยยกเหตุที่หนังสือรับรองอำนาจกรรมการบริษัทโจทก์เป็นเพียงสำเนาที่ไม่มีการรับรองสำเนาถูกต้องโดยทางราชการ ซึ่งไม่เกี่ยวกับข้อต่อสู้เรื่องการมอบอำนาจตามเอกสารท้ายฟ้อง และศาลอุทธรณ์นำหนังสือรับรองตามเอกสารหมาย จ.1 ไปเปรียบเทียบกับหนังสือรับรองอำนาจของกรรมการบริษัทโจทก์ขณะที่มอบอำนาจให้ผู้มีชื่อในหนังสือมอบอำนาจทำสัญญาเช่าซื้อกับลูกค้าแทนบริษัทโจทก์ได้แล้ววินิจฉัยว่าขณะยื่นคำฟ้อง กรรมการบริษัทโจทก์คนหนึ่งไม่มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือจากคำให้การของจำเลย คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงเป็นการไม่ชอบ จำนวนกรรมการและรายชื่อกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทโจทก์ตามต้นฉบับหนังสือรับรองตรงกับสำเนาหนังสือรับรองตามเอกสารท้ายฟ้องเมื่อจำเลยทั้งสามมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าขณะยื่นคำฟ้องอำนาจของกรรมการบริษัทโจทก์มีอยู่จริงและการมอบอำนาจเป็นการมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ตามฟ้อง จำนวนเงินที่โจทก์เรียกร้องคดีนี้มีสามกรณี คือค่าขาดประโยชน์ระหว่างที่จำเลยที่ 1 ยังคงครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อก่อนที่โจทก์จะยึดรถคืนค่าใช้จ่ายในการติดตามยึดรถยนต์ กับค่าเสียหายเพราะเหตุอื่นอันผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบเนื่องจากการผิดสัญญาโดยทั่วไป เพราะเมื่อมีการผิดสัญญาเช่าซื้อและยึดรถยนต์ที่เช่าคืนมาแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ยังขาดอยู่ การที่สัญญาเช่าซื้อระบุว่าถ้าราคาที่ได้ขายทรัพย์สินที่เช่าซื้อไม่พอชำระหนี้ต่าง ๆ ที่ผู้เช่าต้องรับผิดตามสัญญานี้ผู้เช่าซื้อ ตกลงยินยอมที่จะชำระเงินที่ยังขาดอยู่อีกให้แก่เจ้าของจนครบมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ เมื่อโจทก์ขอมาสูงเกินไปศาลก็ชอบที่จะลดลงได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 การที่โจทก์นำสืบถึงค่าเสียหายโดยไม่ได้แยกว่าส่วนใดโจทก์ลดลงมาเท่าใด แม้ว่าเป็นการนำสืบที่ไม่ชัดแจ้งแต่ในเรื่องค่าเสียหาย ศาลก็อาจกำหนดค่าเสียหายให้ชดใช้ตามที่เห็นสมควรได้สำหรับดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องมาอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากที่โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาตามสัญญาเช่าซื้อที่ระบุว่า ถ้าผู้เช่าซื้อไม่ชำระเงินค่าเช่าซื้อให้ครบถ้วนถูกต้องตามจำนวนและกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ ผู้เช่าซื้อตกลงยินยอมให้เจ้าของคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี แต่เมื่อค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อและค่าเสียหายที่โจทก์ขายรถยนต์ไม่ได้ราคาเท่ากับค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระหลังจากหักเงินที่โจทก์รับไว้แล้ว ตลอดจนค่าติดตามยึดรถคืนไม่ใช่ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระตามสัญญาดังกล่าว เป็นความเสียหายที่เกิดจากการผิดสัญญา จึงให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในจำนวนเงินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 นับถัดจากวันที่โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนมาตามคำขอของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายชายน้อง ดิษบรรจง และหรือนายชุมสาย ชุมสายย ณ อยุธยา ฟ้องคดีแทน เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2533จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อไปจากโจทก์ 2 คันราคาเช่าซื้อคันละ 1,381,608 บาท ตกลงชำระเงินค่าเช่าซื้อเป็นงวดรายเดือน รวม 36 งวด งวดละ 38,378 บาท ต่อคัน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 2 มีนาคม 2533 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 2 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดและจำเลยที่ 3 หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 2 ร่วมทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมต่อมาจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์เพียง 6 งวด แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ทั้งสองคันตั้งแต่งวดที่ 7 ประจำเดือนกันยายน 2533 เป็นต้นมา เป็นการผิดนัดสองงวดติดต่อกัน โจทก์บอกเลิกสัญญาให้ส่งมอบรถคืนและให้ใช้ค่าเสียหาย จำเลยทั้งสามเพิกเฉยโจทก์ติดตามยึดรถคืนได้เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2535 โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 1,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่โจทก์ได้รับรถคันเช่าซื้อคืนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงินรวม 143,606 บาท
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง หนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 เป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไปมิใช่มอบอำนาจให้ฟ้องคดีและการมอบอำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย การมอบอำนาจตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 ขณะที่มอบอำนาจโจทก์ยังไม่มีอำนาจ ขณะยึดรถคืนเป็นเวลาหลังจากจำเลยที่ 1 ครอบครองใช้รถคันเช่าซื้อเพียงชั่วระยะเวลาอันสิ้น รถยังอยู่ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีมิได้ชำรุดเสียหาย ค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์ขออัตราวันละ 1,000 บาทหรือเดือนละ 30,000 บาท ต่อคันนั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเนื่องจากสัญญาเช่าซื้อยังไม่สิ้นสุด อย่างไรก็ตามค่าเช่าตามปกติทั่วไปอย่างมากไม่เกินวันละ 500 บาทหรือเดือนละ 15,000 บาท โจทก์ยังมิได้นำรถออกขายจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการขายรถขาดไปจากค่าเช่าซื้อ ค่าใช้จ่ายในการติดตามยึดรถคืน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเพราะไม่เกี่ยวกับค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลล่างทั้งสองฟังมาว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์และให้เช่าซื้อรถยนต์ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2533จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อยี่ห้อนิสสันไปจากโจทก์สองคัน ราคาเช่าซื้อคันละ 1,381,608 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวดรายเดือน งวดละ 38,378 บาท ต่อคัน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 2 มีนาคม 2533 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 2 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบมีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด และจำเลยที่ 3 หุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 2 ร่วมกันทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เพียง 6 งวด แล้วไม่ชำระอีก โจทก์บอกเลิกสัญญาและติดตามรถยนต์ทั้งสองคันคืนมาได้เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2535 แล้วนำคดีนี้มาฟ้องและระหว่างการพิจารณาคดี โจทก์ขายรถยนต์ทั้งสองคันไปในราคาคันละ 600,000 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า หนังสือรับรองตามเอกสารหมาย จ.1 ระบุว่ากรรมการบริษัทโจทก์มี 8 คน รวมทั้งนายธีรศักดิ์สุวรรณยศ และนายวราวุธ เครือสินธ์ุ แต่หนังสือรับรองดังกล่าวออกให้เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2536 ส่วนหนังสือรับรองตามเอกสารหมาย จ.6 ระบุว่ากรรมการบริษัทโจทก์มี 5 คน ไม่มีนายวราวุธรวมอยู่ด้วย โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2536 การนำสืบถึงอำนาจกรรมการจึงไม่อาจรับฟังได้นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ในส่วนของกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทโจทก์นั้น โจทก์บรรยายว่ากรรมการผู้มีอำนาจสองในสามคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัทกระทำการแทนและผูกพันโจทก์ รายละเอียดปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือรับรองบริษัท เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1โดยโจทก์แนบสำเนาหนังสือรับรองมาเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง หนังสือรับรองดังกล่าวสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครกรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ออกให้เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2535และปรากฏชื่อนายธีรศักดิ์กับนายวราวุธรวมอยู่ในรายชื่อกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทด้วยและโจทก์มอบอำนาจให้ผู้มีชื่อตามหนังสือมอบอำนาจท้ายคำฟ้องหมายเลข 3 จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้ในเรื่องอำนาจฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือไม่จำเลยไม่ทราบและไม่รับรอง เนื่องจากสำเนาภาพถ่ายหนังสือรับรองของบริษัท เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1 ไม่ใช่ต้นฉบับของทางราชการหรือมีการรับรองสำเนาถูกต้องโดยทางราชการ และหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 3 เป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไป มิใช่หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดี ประกาศกระทรวงจึงไม่มีอำนาจฟ้องจากคำให้การของจำเลยทั้งสามมิได้ให้การโดยชัดแจ้งถึงเรื่องกรรมการบริษัทโจทก์ยื่นคำฟ้องว่ามิได้เป็นไปตามเอกสารท้ายคำฟ้องซึ่งจำเลยมีหน้าที่จะต้องให้การโดยชัดแจ้งว่าจำเลยยอมรับข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จำเลยยกเหตุที่หนังสือรับรองอำนาจกรรมการบริษัทโจทก์เป็นเพียงสำเนาที่ไม่มีการรับรองสำเนาถูกต้องโดยทางราชการ ซึ่งไม่เกี่ยวกับข้อต่อสู้เรื่องการมอบอำนาจตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2นำหนังสือรับรองตามเอกสารหมาย จ.1 ไปเปรียบเทียบกับหนังสือรับรองตามเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งเป็นหนังสือรับรองอำนาจของกรรมการบริษัทโจทก์ ขณะที่มอบอำนาจให้ผู้มีชื่อในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.5 ทำสัญญาเช่าซื้อกับลูกค้าแทนบริษัทโจทก์ได้แล้ววินิจฉัยว่าขณะยื่นคำฟ้องกรรมการบริษัทโจทก์คนหนึ่งไม่มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือจากคำให้การของจำเลยทั้งสาม ทั้งยังปรากฏด้วยว่าหนังสือรับรองตามเอกสารหมาย จ.1 จำนวนกรรมการและรายชื่อกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทโจทก์ก็ตรงกับสำเนาหนังสือรับรองตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 เมื่อจำเลยทั้งสามมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะยื่นคำฟ้องอำนาจของกรรมการบริษัทโจทก์มีอยู่จริง และการมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.3 เป็นการมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและเนื่องจากคดีนี้มีการสืบพยานสิ้นกระแสความแล้ว ศาลฎีกาเห็นเป็นการสมควรที่จะวินิจฉัยคดีไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยในประเด็นที่ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามได้หรือไม่เพียงใด
สำหรับประเด็นดังกล่าว จำนวนเงินที่โจทก์เรียกร้องคดีนี้มีสามกรณีคือค่าขาดประโยชน์ระหว่างที่จำเลยที่ 1 ยังคงครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อก่อนที่โจทก์จะยึดรถคืน ค่าใช้จ่ายในการติดตามยึดรถยนต์กับค่าเสียหายเพราะเหตุอื่นอันผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบเนื่องจากการผิดสัญญาโดยทั่วไป เพราะเมื่อมีการผิดสัญญาเช่าซื้อและยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ยังขาดอยู่ การที่สัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมายจ.7 และ จ.8 ข้อ 5.5 ระบุว่าถ้าราคาที่ได้ขายทรัพย์สินที่เช่าซื้อไม่พอชำระหนี้ต่าง ๆ ที่ผู้เช่าต้องรับผิดตามสัญญานี้ผู้เช่าซื้อตกลงยินยอมที่จะชำระเงินที่ยังขาดอยู่อีกให้แก่เจ้าของจนครบ มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ เมื่อโจทก์ขอมาสูงเกินไปศาลก็ชอบที่จะลดลงได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 การที่โจทก์นำสืบว่าค่าเสียหายรวมคันละ 1,270,340 บาท แต่ขอคิดคันละ800,000 บาท โดยไม่ได้แยกว่าส่วนใดโจทก์ลดลงมาเท่าใด แม้ว่าเป็นการนำสืบที่ไม่ชัดแจ้งแต่ในเรื่องค่าเสียหาย ศาลอาจกำหนดค่าเสียหายให้ชดใช้ตามที่เห็นสมควรได้ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหาย ดังนี้ ค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อระหว่างจำเลยที่ 1 ครอบครองรถยนต์อยู่ ให้ชดใช้คันละ 200,000 บาทค่าใช้จ่ายในการติดตามยึดรถยนต์คืนมาคันละ 2,000 บาท ค่าเสียหายจากการที่โจทก์ขายรถยนต์ไม่ได้ราคาเท่ากับค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระหลังจากหักเงินที่โจทก์รับไว้แล้วคันละ 200,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายคันละ 402,000 บาท ส่วนดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องมาอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากที่โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมานั้น แม้ในสัญญาเช่าซื้อตาม เอกสารหมาย จ.7 และ จ.8ข้อ 2 จะระบุว่าถ้าผู้เช่าซื้อไม่ชำระเงินค่าเช่าซื้อให้ครบถ้วนถูกต้องตามจำนวนและกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ ผู้เช่าซื้อตกลงยินยอมให้เจ้าของคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี แต่ค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อและค่าเสียหายที่โจทก์ขายรถยนต์ไม่ได้ราคาเท่ากับค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระหลังจากหักเงินที่โจทก์รับไว้แล้ว ตลอดจนค่าติดตามยึดรถคืนไม่ใช่ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระตามสัญญาดังกล่าว แต่เป็นความเสียหายที่เกิดจากการผิดสัญญา จึงให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในจำนวนเงินดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224นับถัดจากที่โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนมาตามคำขอของโจทก์
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 804,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้เงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จ

Share