แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยขุดดินทำคันนาในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุอันเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องมาจากการกระทำความผิดในคดีก่อนคือการยึดถือครอบครองที่เกิดเหตุที่ศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยไปแล้ว การขุดดินทำคันนาเป็นการแสดงออกว่าจำเลยยังคงเป็นผู้ยึดถือครอบครองอยู่ ถือไม่ได้ว่าจำเลยทำลายและทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติขึ้นใหม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2523 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม2524 จำเลยบุกรุกเข้ายึดถือ ครอบครองแผ้วถางป่าดงคันไทรซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติเพื่อยึดถือครอบครองที่ดินดังกล่าว เป็นการทำลายและทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานและมิได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 3กฎกระทรวงฉบับที่ 380 (พ.ศ. 2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2511 และสั่งให้จำเลยกับบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่จำเลยยึดถือครอบครองด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธและต่อสู้ว่าจำเลยเคยถูกพนักงานอัยการฟ้องมาครั้งหนึ่งแล้ว คดีถึงที่สุด ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 3 วางโทษจำคุกและปรับโทษจำคุกให้รอการลงโทษ ให้จำเลยและบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่จำเลยครอบครองนับแต่วันพิพากษาเป็นต้นไป
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยยึดถือครอบครองที่เกิดเหตุตลอดมาหาได้ออกไปแล้วกลับเข้ายึดถือครอบครองใหม่ไม่ แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจำเลยขุดดินทำคันนาในที่เกิดเหตุ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2523 ก็เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องมาจากการกระทำความผิดในคดีก่อน คือการยึดถือครอบครองที่เกิดเหตุที่ศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยไปแล้ว การขุดดินทำคันนาเป็นการแสดงออกว่าจำเลยยังคงเป็นผู้ยึดถือครอบครองอยู่ ถือไม่ได้ว่าจำเลยทำลายและทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติขึ้นใหม่
พิพากษายืน