แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การประกอบธุรกิจหางานให้แก่คนงานตามพระราชบัญญัติจัดหาและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 นั้น หมายถึงงานหรือการประกอบธุรกิจที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้เสียหายทั้งสองได้รับการติดต่อจากจำเลยให้ไปค้าประเวณีที่ต่างประเทศ จึงเป็นงานรับจ้างให้เขาทำเมถุนกรรมที่ผิดกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกพยายามจัดหางานให้แก่นางสาวเบ็ญจาและนางสาวสุกันยาไปทำงานบริการแก่นายจ้างในต่างประเทศซึ่งมีกิจการรับจ้างให้ทำเมถุนกรรม โดยมิได้รับอนุญาตและร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2511 มาตรา 7, 72 พระราชบัญญัติว่าด้วยการค้าหญิงและเด็กหญิง พ.ศ. 2471 มาตรา 4 จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 252, 251จำคุก 3 ปี ผิดตามมาตรา 268, 265 จำคุก 2 ปี ผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการค้าหญิงและเด็กหญิงฯ มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80 จำคุกคนละ 2 ปี และผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 7, 27 จำคุกคนละ 1 เดือน รวมลงโทษจำคุกคนละ 7 ปี 1 เดือน จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตและข้อหาใช้รอยตราปลอม ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ข้อหาใช้เอกสารปลอมโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยที่ 1ที่ 2 มิได้ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการค้าหญิงและเด็กหญิง พ.ศ. 2471 จำคุกคนละ 2 ปี กระทงหนึ่งจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 ประกอบมาตรา 265 จำคุก 2 ปี อีกกระทงหนึ่ง มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันใช้รอยตราปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 252 ร่วมกันจัดหางานโดยเรียกหรือรับค่าบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยที่ 2มีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมด้วยหรือไม่ พิเคราะห์ฟ้องโจทก์แล้วเห็นว่า ฟ้องโจทก์กล่าวหาจำเลยทั้งสองว่าร่วมกันปลอมเอกสารราชการคือหนังสือเดินทางของกระทรวงการต่างประเทศ ประเทศไทยและกรอกข้อความ ประวัติของนางสาวเบ็ญจา สอนศิริ กับนางสาวสุกันยา พรรณมณีทอง ผู้เสียหายทั้งสอง ประทับตราปลอมของกระทรวงการต่างประเทศ ลงลายมือชื่อปลอมของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจร่วมกันปลอมรอยตราของกระทรวงการต่างประเทศซึ่งเป็นรูปครุฑลงในหนังสือเดินทางที่ปลอมขึ้นและนำไปแสดงต่อผู้เสียหายทั้งสองว่า เป็นหนังสือเดินทางที่แท้จริงเพื่อให้ผู้เสียหายทั้งสองใช้แสดงต่อพนักงานตรวจคนเข้าเมืองประจำท่าอากาศยานกรุงเทพในการเดินทางไปต่างประเทศ ฟ้องของโจทก์ข้างต้นจึงประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองทั้งการใช้รอยตราปลอมและใช้หนังสือเดินทางปลอม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีรอยตราประทับปลอมรอยตราครุฑปลอมของกระทรวงการต่างประเทศอยู่ในหนังสือเดินทางปลอมที่จำเลยที่ 1 มอบแก่ผู้เสียหายทั้งสองเพื่อใช้เดินทางไปต่างประเทศ โดยจำเลยที่ 1 รู้ว่าเป็นรอยตราปลอม การกระทำของจำเลยที่ 1จึงมีความผิดฐานใช้รอยตราปลอมตามฟ้องโจทก์ด้วยการกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นความผิดกรรมเดียวและผิดต่อกฎหมายหลายบทฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
สำหรับข้อหาที่ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1ใช้รอยตราปลอมและหนังสือเดินทางปลอมด้วยหรือไม่ เห็นว่าผู้เสียหายทั้งสองกับจำเลยที่ 2 พักในแฟลตแห่งเดียวกันและรู้จักกันดี จำเลยที่ 2 ทราบด้วยว่า ผู้เสียหายทั้งสองเป็นนางทางโทรศัพท์รับค้าประเวณี จึงแนะนำให้ไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นตามที่จำเลยที่ 1 ขอร้อง เมื่อผู้เสียหายทั้งสองตกลง จำเลยที่ 2คงเป็นธุระรับรูปถ่ายนางสาวสุกันยาผู้เสียหายไปให้จำเลยที่ 1เพื่อทำหนังสือเดินทาง วันต่อมาได้เป็นเพื่อนพาผู้เสียหายทั้งสองไปโรงแรมเวนิส จำเลยที่ 1 จึงนำหนังสือเดินทางให้ผู้เสียหายทั้งสองดูจนผู้เสียหายทั้งสองเชื่อว่าเป็นหนังสือเดินทางที่แท้จริงแล้วจำเลยที่ 1 ได้เก็บหนังสือเดินทางนั้นไว้ตามเดิม ครั้นเดินทางจะไปประเทศญี่ปุ่นจำเลยที่ 2 ได้ไปส่งผู้เสียหายทั้งสอง โดยจำเลยที่ 1 ได้ไปรออยู่ที่ห้องพักผู้โดยสารขาออกก่อนแล้ว จำเลยที่ 1จึงมอบหนังสือเดินทางพร้อมเงินให้ผู้เสียหายทั้งสองนำไปชำระเป็นค่าภาษีขาออก และจำเลยที่ 1 ได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นในวันนั้นด้วย การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ปรากฏข้างต้น จึงอาจเป็นเพียงว่าจำเลยที่ 2 ทำไปในฐานะที่รู้จักผู้เสียหายทั้งสองซึ่งพักร่วมแฟลตเดียวกันมากกว่า พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบนับว่ายังไกลเกินเหตุที่จะให้รับฟังไปถึงว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ฐานใช้รอยตราปลอมและหนังสือเดินทางปลอม และไม่เพียงพอที่จะให้รับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ในข้อหาดังกล่าวได้
ส่วนความผิดที่ว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 หรือไม่ เห็นว่าตามพระราชบัญญัติดังกล่าว “จัดหางาน” หมายความว่า การประกอบธุรกิจหางานให้แก่คนงานหรือหาลูกจ้างให้แก่นายจ้าง เมื่อพิเคราะห์ประกอบเหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ที่ว่า เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ราษฎรผู้หางานทำและบุคคลผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการจัดหางานแล้ว ย่อมแสดงว่าการประกอบธุรกิจหางานให้แก่คนงานนั้นต้องหมายถึงงานหรือการประกอบธุรกิจที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงได้ความจากผู้เสียหายทั้งสองว่างานที่ผู้เสียหายทั้งสองได้รับการติดต่อจากจำเลยให้ไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น คือ งานต้อนรับที่จะต้องค้าประเวณีและจะได้รับค่าบริการครั้งละ 1,000 บาทจึงเป็นงานทุรศีลธรรมรับจ้างให้เขาทำเมถุนกรรมที่ผิดกฎหมายการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ฎีกาของโจทก์จึงฟังขึ้นเป็นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 252 และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบกับมาตรา 265อันเป็นกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 252ซึ่งเป็นบทหนักตามอัตราโทษในมาตรา 251 จำคุก 3 ปี รวมกับโทษอื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ รวมจำคุก 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์