แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีที่สหภาพแรงงานและนายจ้างต่างแจ้งข้อเรียกร้องฝ่ายละหลายข้อ ซึ่งต้องแบ่งข้อเรียกร้องเจรจากันเป็นคราวๆไปแม้ในการเจรจาคราวแรกจะตกลงกันได้และทำเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วก็ตาม แต่ในการเจรจาข้อเรียกร้องข้ออื่นๆต่อมา สหภาพแรงงานก็มีอำนาจที่จะตกลงแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับแรกได้ ดังนั้น เมื่อข้อตกลงในการเจรจาคราวแรกกำหนดเงื่อนไขในการไม่จ่ายเงินบำเหน็จไว้ประการหนึ่ง แล้วต่อมาทำความตกลงเพิ่มเงื่อนไขในการไม่จ่ายเงินบำเหน็จอีกประการหนึ่ง อันเป็นเงื่อนไขซึ่งจะตัดสิทธิของลูกจ้างที่จะกระทำผิดในอนาคต ไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของลูกจ้างทั่วไปที่ได้รับตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับแรกอยู่ก่อนแล้ว ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับหลังนี้จึงมีผลใช้บังคับ เมื่อค่าครองชีพเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง และกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานกำหนดให้ถือเอาอัตราค่าจ้างเป็นเกณฑ์ในการคำนวณจ่ายค่าล่วงเวลาฯ นายจ้างก็ต้องจ่ายเงินนี้ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น การที่สหภาพแรงงานตกลงกับนายจ้างว่าไม่ให้นำค่าครองชีพมาเป็นฐานคำนวณจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังกล่าว ข้อตกลงนี้จึงไม่มีผลผูกพันลูกจ้าง ลูกจ้างฟ้องเรียกดอกเบี้ยจากเงินบำเหน็จ ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุดจากนายจ้างก่อนวันฟ้อง แต่เมื่อไม่ปรากฏว่านายจ้างผิดนัดเมื่อใดจึงกำหนดให้นายจ้างจ่ายดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนายจ้างของโจทก์ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งกำหนดให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่ลูกจ้างที่ลาออกหรือถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดถึงขั้นไล่ออก จำเลยให้โจทก์ทำงานในวันทำงานเกินกำหนดเวลาทำงานปกติของวันทำงาน ทำงานในวันหยุดและทำงานในวันหยุดเกินเวลาทำงานปกติของวันทำงานโดยจ่ายค่าล่วงเวลาไม่ถูกต้องเพราะมิได้นำเงินค่าครองชีพซึ่งเป็นค่าจ้างมาเป็นฐานคำนวณจ่ายค่าจ้าง จึงต้องจ่ายเพิ่มแก่โจทก์ ขอศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุดพร้อมดอกเบี้ยตามบัญชีรายละเอียดท้ายฟ้องแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะมีผลงานตกต่ำและขาดงานมากซึ่งจำเลยได้ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยและตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกำหนดให้การเลิกจ้างเพราะเหตุนี้ไม่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินบำเหน็จ ส่วนค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดนั้น จำเลยไม่เคยนำค่าครองชีพมาเป็นฐานคำนวณ และเป็นเจตนาของนายจ้างลูกจ้างซึ่งตกลงให้ถือปฏิบัติกันเช่นนี้ตลอดมา จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินดังกล่าวเพิ่ม ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า แม้ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจะกำหนดให้จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จเฉพาะกรณีที่ลูกจ้างกระทำความผิดจนถึงขั้นไล่ออกก็ตาม แต่ต่อมาได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเพิ่มเติม กำหนดให้จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จกรณีที่เลิกจ้าง เนื่องจากสาเหตุที่ลูกจ้างขาดงานมากโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ซึ่งผู้บังคับบัญชาได้ว่ากล่าวตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุดังกล่าวจึงไม่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จ ส่วนค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดนั้น สหภาพแรงงานได้ตกลงกับจำเลยว่า ไม่ต้องนำค่าครองชีพมาเป็นฐานคำนวณ จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดเพิ่ม พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 กำหนดอำนาจหน้าที่ของสหภาพแรงงานไว้ใน มาตรา 98(1) ว่า”เรียกร้อง เจรจา ทำความตกลง และรับทราบคำชี้ขาดหรือทำข้อตกลงกับนายจ้างหรือสมาคมนายจ้างในกิจการของสมาชิกได้” ไม่มีข้อความหรือบทบัญญัติใดที่จำกัดขอบเขตอำนาจของสหภาพแรงงานไว้ว่า ในการเจรจาตามข้อเรียกร้อง เมื่อสหภาพแรงงานทำเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้ครั้งหนึ่งแล้วแม้การเจรจาข้อเรียกร้องข้ออื่นจะยังไม่เสร็จสิ้น สหภาพแรงงานก็ไม่มีอำนาจที่ตกลงแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับแรก จริงอยู่ ตามมาตรา 20 กำหนดว่า “เมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับแล้ว ห้ามมิให้นายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า” แต่ก็เป็นบทบัญญัติห้ามนายจ้างมิให้ทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเท่านั้น จะนำมาใช้กับกรณีที่สหภาพแรงงานทำข้อตกลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งเกิดจากข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 หาได้ไม่ กรณีที่สหภาพแรงงานและจำเลยต่างแจ้งข้อเรียกร้องฝ่ายละหลายข้อ ซึ่งไม่อาจเจรจาหรือตกลงกันให้เสร็จสิ้นในความเดียวกัน ต้องแบ่งข้อเรียกร้องเจรจากันเป็นคราว ๆ แม้การเจรจาข้อเรียกร้องคราวแรกจะสามารถตกลงกันได้ และทำเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วก็ตาม ในการเจรจาข้อเรียกร้องข้ออื่นซึ่งเกิดจากแจ้งข้อเรียกร้องคราวเดียวกัน สหภาพแรงงานก็มีอำนาจที่จะตกลงแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับแรกได้ ปรากฏว่าสหภาพแรงงานทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับหลังเพิ่มเติมเงื่อนไขในการจ่ายเงินบำเหน็จว่า “เมื่อบริษัทเลิกจ้างพนักงานเนื่องจากสาเหตุที่พนักงานขาดงานมากโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และผู้บังคับบัญชาได้ว่ากล่าวตักเตือนแล้วเป็นลายลักษณ์อักษร บริษัทจะไม่จ่ายเงินบำเหน็จให้” นั้นเป็นเงื่อนไขซึ่งจะตัดสิทธิของลูกจ้างที่จะกระทำผิดในอนาคต ไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของลูกจ้างทั่วไปที่ได้รับตามข้อตกลงเกี่ยวกับงสภาพการจ้างฉบับแรกอยู่ก่อนแล้วข้อตกลงเกี่ยวกับงสภาพการจ้างดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับ
ค่าครองชีพเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 34, 39 และ 42 กำหนดให้ถือเอาอัตราค่าจ้างเป็นหลักเกณฑ์ในการคำนวณจ่ายค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด ฉะนั้น ในการจ่ายค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด นายจ้างต้องจ่ายให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายซึ่งต้องรวมค่าจ้างทุกประเภทรวมทั้งค่าครองชีพมาเป็นฐานคำนวณ การที่สหภาพแรงงานตกลงกับจำเลยว่าไม่ให้นำเงินค่าครองชีพมาเป็นฐานคำนวณนั้น จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ไม่มีผลผูกพันลูกจ้าง จำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดเพิ่มให้แก่โจทก์ตามฟ้อง
สำหรับเรื่องดอกเบี้ยซึ่งโจทก์เรียกร้องมาก่อนวันฟ้องปรากฏว่าโจทก์มิได้สืบพยานและตามเอกสารซึ่งคู่ความรับกันหรือตามฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยผิดนัดแต่เมื่อใด ฉะนั้นจะถือว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันที่โจทก์ขอไม่ได้ ศาลฎีกาจึงกำหนดให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 31วรรคแรก ตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดแก่โจทก์ตามฟ้อง กับให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีของเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง