คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 367/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาว่า ถ้าผู้ที่ลาไปศึกษากลับมารับราชการไม่ครบตามเวลาที่ตกลงกันไว้ ต้องใช้เงิน 3 เท่าของเงินที่ได้รับไปข้อตกลงนี้มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ศาลลดลงได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 63,678 บาท กับดอกเบี้ยแก่โจทก์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยใช้เงิน 20,375 บาทแก่โจทก์ โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ได้ความว่าจำเลยที่ 2 ลาไปศึกษาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2513 ถึงวันที่ 17 เมษายน 2515 เป็นเวลา 2 ปี 17 วันจำเลยที่ 2 ทำสัญญากับโจทก์ว่าจะกลับมารับราชการกับโจทก์เป็นเวลา 2 เท่าของเวลาที่ลาศึกษา แต่ไม่น้อยกว่า 3 ปี ดังนั้น จำเลยที่ 2 จะต้องกลับมารับราชการกับโจทก์เป็นเวลา 4 ปี 1 เดือน 4 วัน จำเลยที่ 2 ได้กลับมารับราชการกับโจทก์ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2515 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2517 เป็นเวลา2 ปี 7 เดือน 13 วัน ยังขาดเวลารับราชการกับโจทก์อีก 1 ปี 5 เดือน 21 วันจำเลยที่ 2 ก็ขอลาออกจากราชการ จำเลยที่ 2 ได้รับเงินไปจากโจทก์จำนวน21,226 บาท ตามสัญญาข้อ 2 ท้ายฟ้องกำหนดว่า ถ้าจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาจะต้องใช้เงิน 3 เท่าของเงินจำนวน 21,226 บาทที่จำเลยที่ 2 รับไปจากโจทก์คิดเป็นเงิน 63,678 บาท เห็นว่าเงินจำนวน 63,678 บาท ที่กำหนดให้จำเลยที่ 2ใช้ให้แก่โจทก์นี้เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ถ้าหากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลอาจลดลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ ส่วนการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น เมื่อพิเคราะห์ถึงเวลาราชการที่จำเลยที่ 2 จะต้องกลับมารับราชการกับโจทก์เป็นเวลา 4 ปี 1 เดือน 4 วัน ถ้าไม่มาจำเลยที่ 2 จะถูกปรับเป็นเงิน 63,678 บาท คดีนี้จำเลยที่ 2 กลับมารับราชการกับโจทก์เป็นเวลา 2 ปี7 เดือน 13 วัน เมื่อคำนึงถึงเวลาราชการที่จำเลยที่ 2 ยังขาดอยู่ตามสัญญากับโจทก์อันเป็นทางได้เสียของโจทก์เจ้าหนี้แล้ว เห็นว่าจำเลยที่ 2 กลับมารับราชการกับโจทก์ขาดไปเพียง 1 ปี 5 เดือน 21 วัน กรณีเช่นนี้ยังไม่สมควรปรับจำเลยที่ 2 เต็มจำนวน 63,678 บาท ที่ศาลอุทธรณ์เห็นสมควรให้เบี้ยปรับแต่เพียง 20,375 บาทนั้นจึงชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share