แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้เจ้าพนักงานที่ดินยกเลิกคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยและให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ต่อไปเมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินเป็นจำเลยด้วย การที่โจทก์มีคำขอดังกล่าวเป็นคำขอที่บังคับแก่บุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีจึงไม่ชอบและไม่อาจบังคับได้ คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินที่อาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145(2) มิใช่เป็นเรื่องบังคับให้เจ้าพนักงานที่ดินกระทำการหรือไม่กระทำการ ส่วนประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 60 ก็เป็นเรื่องที่มีกรณีโต้แย้งสิทธิกันเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินและไม่อาจตกลงกันได้ในชั้นเจ้าพนักงานที่ดิน และต้องฟ้องกันต่อศาลเจ้าพนักงานที่ดินจะต้องรอเรื่องไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว จึงให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการต่อไปก็มิใช่เป็นเรื่องที่ให้สิทธิโจทก์ฟ้องจำเลยแล้วมีคำขอให้บังคับแก่เจ้าพนักงานที่ดินโดยไม่ได้ฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินมาด้วย ปัญหาว่าศาลไม่อาจบังคับจำเลยตามคำขอของโจทก์ได้เพราะเป็นการบังคับบุคคลภายนอกและมิได้เข้ามาเป็นคู่ความในคดี เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินส.ค.1 เลขที่ 115 เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา และเลขที่ 310เนื้อที่ 7 ไร่ 38 ตารางวา ตั้งอยู่หมู่ที่ 11 ตำบลหนองปรืออำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยนางพุฒ หนองใหญ่ ผู้เป็นยายยกให้ นางพุฒถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2508 โจทก์ได้ทำนาและปลูกสร้างบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินโดยสงบ เปิดเผย และมีเจตนายึดถือเพื่อตนเอง โดยไม่มีผู้ใดแย่งการครอบครอง ต่อมาเมื่อวันที่17 กันยายน 2522 จำเลยได้นำช่างไปทำการรังวัดที่ดินทั้งสองแปลงเพื่อขอออกโฉนดที่ดิน โดยอ้างว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ความจริงจำเลยได้บวชเป็นพระภิกษุตั้งแต่ปี 2501 จนถึงวันฟ้องไม่ได้สึกจากสมณเพศ จึงเป็นการเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรมต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1622โจทก์ได้คัดค้านการรังวัดที่ดินเพื่อออกโฉนดที่ดินในวันนั้นเองต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินได้สอบสวนเปรียบเทียบและมีคำสั่งเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2529 ให้ออกโฉนดที่ดินแก่จำเลยโจทก์ไม่พอใจเจ้าพนักงานที่ดินสั่งให้โจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลภายใน 60 วันตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 60 โจทก์ทราบคำสั่งเมื่อวันที่28 เมษายน 2529 การที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี มีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินแก่จำเลยเพราะจำเลยให้ถ้อยคำเท็จ หลังจากเจ้ามรดกถึงแก่กรรม จำเลยไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ที่ดิน คำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินที่ให้ออกโฉนดที่ดินแก่จำเลยจึงไม่ชอบ ขอให้พิพากษาให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรียกเลิกคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยและให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ต่อไป
จำเลยให้การว่า จำเลยมีสมณศักดิ์เป็นพระครูอุดมพัฒนาภรณ์เจ้าอาวาสวัดราษฎร์สามัคคี ก่อนอุปสมบทจนบัดนี้จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง นางพุฒ หนองใหญ่ไม่เคยยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ทายาทชั้นบุตรของนางพุฒต่างทราบกันดีว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย โจทก์มาขออนุญาตจำเลยอาศัยทำกินอยู่ในที่ดินพิพาท โจทก์ไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีมีคำสั่งให้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้จำเลยชอบแล้ว โจทก์ไม่ได้ขอรังวัดรับโฉนดที่ดิน ศาลไม่ควรพิพากษาให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายื่นโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อกฎหมายของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิขอให้บังคับเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นคู่ความในคดี เพิกถอนโฉนดโดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2) และประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 60 หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ตามฟ้องโจทก์อ้างว่า เดิมที่พิพาทเป็นของมารดาจำเลย ต่อมามารดาจำเลยได้ยกที่พิพาทให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นหลานยังไม่ได้จดทะเบียนและนิติกรรมการได้มา มารดาของจำเลยก็ถึงแก่กรรมเสียก่อน เมื่อได้รับยกให้แล้วโจทก์ได้ครอบครองในฐานะเจ้าของตลอดมา จำเลยอ้างว่าเป็นทายาทได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่กรรมซึ่งไม่เป็นความจริง จำเลยเป็นพระภิกษุไม่เคยสึกจากสมณเพศมาเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรมภายในกำหนดอายุความมรดกจำเลยจึงไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดก และไม่มีสิทธิที่จะขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดในที่พิพาทดังกล่าวได้ เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยได้กระทำการซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ และฟ้องบังคับจำเลยไม่ให้กระทำการรบกวนสิทธิของโจทก์ไม่ได้ฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีเป็นจำเลยด้วยแต่อย่างใดที่มีข้อความอ้างถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีด้วยก็เป็นเรื่องเท้าความว่าเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีออกโฉนดที่ดินเพราะเหตุที่จำเลยให้ถ้อยคำที่เป็นเท็จ ฉะนั้นที่โจทก์มีคำขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรียกเลิกการออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยและออกโฉนดให้แก่โจทก์จึงเป็นคำขอที่บังคับแก่บุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็นคู่ความในคดี คำขอของโจทก์จึงไม่ชอบและไม่อาจบังคับได้ ที่จำเลยอ้างว่าเป็นคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินที่อาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2) นั้น เห็นว่า เป็นเรื่องคำพิพากษาที่วินิจฉัยข้อกรรมสิทธิ์ เป็นคุณแก่โจทก์ สามารถใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้หาใช่เป็นเรื่องบังคับให้เจ้าพนักงานที่ดินกระทำการหรือไม่กระทำการแต่อย่างใดไม่ และตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 60 นั้น ก็เป็นเรื่องที่มีกรณีโต้แย้งสิทธิกันเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินและไม่อาจตกลงกันได้ในชั้นเจ้าพนักงานที่ดินและต้องฟ้องกันต่อศาล เจ้าพนักงานที่ดินจะต้องรอเรื่องไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใด จึงให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการต่อไป หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยแล้วมีคำขอให้บังคับแก่เจ้าพนักงานที่ดิน โดยไม่ได้ฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินมาด้วยดังเช่นกรณีของโจทก์ไม่ และที่โจทก์ฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่าตามฟ้องของโจทก์ไม่เกี่ยวกับปัญหาความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) นั้น เห็นว่าปัญหาว่าศาลไม่อาจบังคับจำเลยตามคำขอของโจทก์ได้เพราะเป็นการบังคับบุคคลภายนอกและมิได้เข้ามาเป็นคู่ความในคดีเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลจึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้างศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน