คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3596/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นสหกรณ์อำเภอท่าใหม่และเป็นเลขานุการคณะกรรมการร้านสหกรณ์ท่าใหม่ จำกัด มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการเงินของร้านสหกรณ์ทุกประเภทในเขตอำเภอนั้น ๆ และมีหน้าที่บันทึกรายงานการประชุม ทำหนังสือโต้ตอบ ทำงบเดือน โดยไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน การที่จำเลยเก็บและรักษาเงินจากการจำหน่ายปุ๋ยให้แก่สมาชิกสหกรณ์แล้วเบียดบังเอาไว้ จึงไม่ใช่เป็นการกระทำของเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเพราะการยอมความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) โจทก์มิได้ฎีกาคัดค้านปัญหานี้ไว้จึงยุติ เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเหตุดังกล่าว ปัญหาเรื่องคดีขาดอายุความหรือไม่ที่โจทก์ฎีกาขึ้นมาย่อมไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องได้ฎีกาของโจทก์ที่ว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น จึงไม่เป็นสาระแก่คดีศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกระทงกล่าวคือ ก. ระหว่างจำเลยรับราชการตำแหน่งสหกรณ์อำเภอท่าใหม่ และเป็นเลขานุการร้านสหกรณ์ท่าใหม่ จำกัด มีหน้าที่ดูแลส่งเสริมกิจการสหกรณ์ในท้องที่อำเภอท่าใหม่ จำหน่ายปุ๋ยให้แก่สมาชิกของสหกรณ์ รับและเก็บรักษาเงินจากการจำหน่ายปุ๋ย จำเลยได้รับเงินค่าปุ๋ยจากสมาชิกสหกรณ์เพื่อเก็บรักษารวม ๑๕ ครั้ง เป็นเงิน ๘๔,๘๓๒.๗๐ บาท จำเลยมีเจตนาทุจริตเบียดบังเงินนั้นเป็นประโยชน์ส่วนตัว เป็นเหตุให้ร้านสหกรณ์ท่าใหม่ จำกัด ได้รับความเสียหาย ข. ในระหว่างที่จำเลยได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการร้านสหกรณ์ท่าใหม่ จำกัดมีหน้าที่ควบคุมกิจการร้านสหกรณ์และมีหน้าที่จำหน่ายปุ๋ยของร้านสหกรณ์ให้แก่สมาชิกรับและรักษาเงินจากการจำหน่ายปุ๋ย จำเลยได้รับเงินค่าปุ๋ยเพื่อเก็บรักษารวม ๒๕ ครั้ง เป็นเงิน ๙๒,๑๑๒ บาท จำเลยบังอาจทุจริตเบียดบังเงินนั้นเป็นประโยชน์ส่วนตัว เป็นเหตุให้ร้านสหกรณ์ท่าใหม่ จำกัด ได้รับความเสียหายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗, ๓๕๒, ๓๕๓, ๓๕๔ กับให้จำเลยใช้เงินจำนวนดังกล่าว
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๓ รวม ๓๑ กระทง ให้เรียงกระทงลงโทษจำคุก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗ ส่วนความผิดตามมาตรา ๓๕๓ นั้นผู้เสียหายร้องทุกข์เกินกว่าสามเดือน คดีจึงขาดอายุความ ทั้งตามพฤติการณ์ถือได้ว่ามีการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๓๙(๒)(๖) พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้ความตามคำเบิกความของนายประยงค์พยานโจทก์ซึ่งรับราชการตำแหน่งสหกรณ์จังหวัดจันทบุรีว่า สหกรณ์อำเภอมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการเงินของร้านสหกรณ์ทุกประเภทในเขตอำเภอนั้น ๆ การเป็นเลขานุการคณะกรรมการร้านสหกรณ์ก็มีหน้าที่บันทึกรายงานการประชุมทำหนังสือโต้ตอบ ทำงบเดือน โดยไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน ทั้งนายประยงค์เบิกความยืนยันด้วยว่าการทำหน้าที่เกี่ยวกับการเงินเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ดังนั้น การที่จำเลยเก็บและรักษาเงินจากการจำหน่ายปุ๋ยตามที่โจทก์นำสืบจึงไม่ใช่เป็นการกระทำของเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗
ส่วนฎีกาโจทก์ที่ว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่าโจทก์มิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเพราะการยอมความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙(๒) คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในปัญหานี้จึงยุติเมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเหตุดังกล่าวอยู่แล้วปัญหาเรื่องคดีขาดอายุความหรือไม่ ย่อมไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องได้ ฎีกาข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีในชั้นนี้ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
พิพากษายืน

Share