คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3595/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง (3) กำหนดบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทน คือ บุตรมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี เว้นแต่เมื่อมีอายุครบสิบแปดปี และยังศึกษาอยู่ในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรี ให้ได้รับส่วนแบ่งต่อไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่ จึงมีความหมายชัดแจ้งแล้วว่าบุตรที่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจะต้องเป็นบุตรที่มีอายุต่ำกว่าอายุสิบแปดปีเสียก่อน และหากบุตรซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีนั้นได้รับค่าทดแทนแล้ว ต่อมามีอายุครบสิบแปดปี และยังศึกษาอยู่ในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรีก็จะได้รับส่วนแบ่งต่อไปตลอดเวลาที่ยังศึกษา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยที่ 134/2558 ของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากนางสาวพรรณศิริ เป็นบุตรไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายค่ำ ผู้ตาย มีอายุเกิน 18 ปี และไม่ได้ศึกษาอยู่ในระดับที่ไม่สูงกว่าปริญญาตรี จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน โจทก์เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนเพียงผู้เดียว ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 20
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นมารดานายค่ำ ส่วนนางสาวพรรณศิริ อายุ 21 ปีเศษ เป็นบุตรไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายค่ำ นายค่ำถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2557 เนื่องจากการทำงาน จำเลยวินิจฉัยว่า โจทก์และนางสาวพรรณศิริมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตาย หรือสูญหาย ให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง…(3) บุตรมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี เว้นแต่เมื่อมีอายุครบสิบแปดปี และยังศึกษาอยู่ในระดับที่ไม่สูงกว่าปริญญาตรี ให้ได้รับส่วนแบ่งต่อไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่” เป็นบทบัญญัติที่ถือเอาอายุและการศึกษาเป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทน ไม่ได้บัญญัติว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องถือเอาความเป็นบุตรตามความเป็นจริง นางสาวพรรณศิริเป็นบุตรตามความเป็นจริงของนายค่ำ ส่วนการศึกษา กฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะให้บุตรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป และยังศึกษาอยู่ในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรี ได้รับการศึกษาต่อเนื่องจนจบชั้นปริญญาตรี จึงกำหนดให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทน แสดงว่าในขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตายนางสาวพรรณศิริต้องกำลังศึกษาอยู่ในระดับที่ไม่สูงกว่าปริญญาตรีจึงจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทน แต่นางสาวพรรณศิริสมัครเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงชั้นปริญญาตรีภาค 1 ปีการศึกษา 2556 ส่วนภาคเรียนที่ 2 ไม่มีการลงทะเบียนเรียนแต่อย่างใด ถือว่านางสาวพรรณศิริขาดสถานภาพการเป็นนักศึกษาแล้ว ตามระเบียบการรับสมัครเข้าเป็นนักศึกษาและแผนกำหนดการศึกษาชั้นปริญญาตรีส่วนกลาง พ.ศ.2558 แสดงว่าขณะที่นายค่ำประสบอันตรายถึงแก่ความตายนางสาวพรรณศิริไม่ได้ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงแล้ว ที่จำเลยอ้างว่านางสาวพรรณศิริเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงชั้นปีที่ 2 และศึกษาต่อเนื่องมาตลอดตามลำดับนั้น และใบรับรองการเป็นนักศึกษาเป็นกรณีที่นางสาวพรรณศิริสมัครเป็นนักศึกษาใหม่เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่นายค่ำถึงแก่ความตาย นางสาวพรรณศิริจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน พิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ 134/2558
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ขณะนายค่ำถึงแก่ความตายนางสาวพรรณศิริยังคงศึกษาต่อเนื่องเรื่อยมาในระดับที่ไม่สูงกว่าปริญญาตรี จึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง (3) กำหนดบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทน คือ บุตรมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี เว้นแต่เมื่อมีอายุครบสิบแปดปี และยังศึกษาอยู่ในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรี ให้ได้รับส่วนแบ่งต่อไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่ จึงมีความหมายชัดแจ้งแล้วว่าบุตรที่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจะต้องเป็นบุตรที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีเสียก่อน และหากบุตรซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีนั้นได้รับค่าทดแทนแล้ว ต่อมามีอายุครบสิบแปดปีและยังศึกษาอยู่ในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรีก็จะได้รับส่วนแบ่งต่อไปตลอดเวลาที่ยังศึกษา เมื่อปรากฏว่าขณะนายค่ำลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายนั้น นางสาวพรรณศิริมีอายุ 21 ปีเศษ นางสาวพรรณศิริจึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง (3) มิใช่เป็นกรณีกฎหมายไม่ได้บัญญัติโดยชัดแจ้งดังที่จำเลยกล่าวอ้างในอุทธรณ์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share