แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้การขอกลับเข้ารับราชการใหม่กับการบอกเลิกรับบำนาญจะเป็นคนละเรื่องกันแต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้ยื่นเรื่องทั้งสองดังกล่าวพร้อมกันทั้งตามบทบัญญัติในมาตรา30วรรคสี่และวรรคห้าแห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการพ.ศ.2494ก็ไม่ได้กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นไว้ว่าจะต้องยื่นหนังสือการบอกเลิกรับบำนาญตั้งแต่เมื่อใดการที่โจทก์ยื่นหนังสือการบอกเลิกรับบำนาญพร้อมกับการยื่นหนังสือขอกลับเข้ารับราชการใหม่โดยไม่รอให้กรมเจ้าสังกัดมีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการใหม่เสียก่อนก็หาขัดต่อมาตรา30วรรคสี่ไม่ มาตรา30วรรคห้าบัญญัติเพียงว่าการบอกเลิกรับบำนาญให้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อเป็นหลักฐานส่งไปยังกระทรวงการคลังโดยผ่านกระทรวงเจ้าสังกัดมิได้กำหนดว่าต้องยื่นต่อกองคลังในกรมและกระทรวงเจ้าสังกัดดังนั้นการที่โจทก์ยื่นหนังสือการบอกเลิกรับบำนาญต่อผู้อำนวยการกองอัตรากำลังและส่งเสริมสมรรถภาพภายในกรมและกระทรวงเจ้าสังกัดของโจทก์ต้องถือว่าเป็นการยื่นผ่านกระทรวงเจ้าสังกัดแล้วโจทก์จึงได้ปฏิบัติตามมาตรา30วรรคห้าแล้วจำเลยทั้งสองจึงต้องนับเวลาราชการช่วงแรกของโจทก์รวมกับเวลาช่วงที่โจทก์กลับเข้ามารับราชการใหม่เพื่อคำนวณบำนาญให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองมีอำนาจหน้าที่พิจารณาสั่งจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการพ.ศ. 2494 โจทก์เริ่มรับรับราชการเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2492ต่อมาวันที่ 17 พฤศจิกายน 2517 โจทก์ลาออกจากราชการไปสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อนับอายุราชการขณะนั้นรวมทั้งเวลาราชการทวีคูณด้วยแล้วจะได้ถึง 32 ปีเศษ แต่เนื่องจากโจทก์ไม่ได้รับเลือกตั้งโจทก์จึงทำเรื่องราวขอกลับเข้ามารับราชการใหม่ ครั้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2518 โจทก์ได้รับคำสั่งให้กลับเข้ามารับราชการใหม่และรับราชการเรื่อยมาจนวันที่ 30 กันยายน2532 จึงเกษียณอายุราชการ รวมเวลาราชการตอนหลังนี้ 14 ปีกับ 11 เดือนเศษ และเมื่อรวมกับเวลาราชการเดิมแล้วเป็นเวลา47 ปีเศษ โจทก์ได้รับเงินเดือนเดือนสุดท้าย 7,600 บาท เมื่อคำนวณตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 32(2)(ข)จะได้รับบำนาญเดือนละ 7,239 บาท แต่จำเลยทั้งสองสั่งจ่ายบำนาญให้โจทก์เดือนละ 3,095 บาท โดยจำเลยทั้งสองเห็นว่าโจทก์มีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำนาญเพียง 14 ปี 11 เดือนเศษ และปัดให้เป็น 15 ปี เท่านั้น คำสั่งของจำเลยทั้งสองไม่ถูกต้อง เพราะถือว่าโจทก์ได้บอกเลิกรับบำนาญภายใน 30 วัน นับแต่วันกลับเข้ารับราชการใหม่แล้ว ขอให้มีคำพิพากษาแสดงว่าโจทก์มีสิทธินับเวลาราชการเดิมและเวลาราชการครั้งใหม่ต่อเนื่องกันรวมเป็น47 ปี 7 เดือน 15 วัน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันสั่งจ่ายบำนาญเพิ่มแก่โจทก์อีกเดือนละ 4,144.50 บาท นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2532ตลอดไปจนครบถ้วนตามสิทธิของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ลาออกจากราชการ จำเลยทั้งสองจึงได้สั่งจ่ายบำนาญโดยเหตุรับราชการนานให้แก่โจทก์เดือนละ1,023 บาท นับตั้งแต่วันที่โจทก์ลาออกเป็นต้นไป ต่อมาโจทก์ขอกลับเข้ามารับราชการใหม่ และกรมการปกครองก็ได้มีคำสั่งให้รับโจทก์กลับเข้ามารับราชการใหม่ แต่เนื่องจากโจทก์กลับเข้ามารับราชการใหม่ในครั้งนี้ได้รับเงินเดือนขั้น 1,550 บาท ซึ่งเท่ากับเงินเดือนตอนที่โจทก์ลาออกจากราชการ จึงทำให้โจทก์ต้องถูกงดรับบำนาญไประหว่างที่โจทก์กลับเข้ามารับราชการใหม่อันเป็นผลตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 หาใช่โดยการบอกเลิกรับบำนาญของโจทก์ไม่ ทั้งโจทก์ไม่เคยยื่นหนังสือบอกเลิกรับบำนาญเพื่อขอนับอายุราชการต่อเนื่องกันถึงจำเลยทั้งสอง ดังนั้นเมื่อโจทก์กลับเข้ามารับราชการใหม่ตลอดมาจนถึงวันเกษียณอายุราชการในวันที่30 กันยายน 2532 จึงมีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำนาญในตอนหลังที่กลับเข้ามารับราชการใหม่เป็นเวลา 14 ปี 11 เดือนเศษ ปัดขึ้นเป็น 15 ปี จำเลยทั้งสองจึงคำนวณเป็นบำนาญทั้งสิ้นเดือนละ3,095.72 บาท อันชอบด้วยมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 แล้ว การที่โจทก์อ้างว่าได้ระบุไว้ในเรื่องขอกลับเข้ามารับราชการใหม่ว่า โจทก์ขอเลิกรับบำนาญไม่เป็นความจริงอีกทั้งการระบุไว้ในเรื่องขอกลับเข้ามารับราชการใหม่ก็ไม่ทำให้เกิดผลตามกฎหมายที่จะทำให้นับเวลาราชการเดิมต่อเนื่องกับเวลาราชการครั้งใหม่ของโจทก์ได้ เพราะพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการพ.ศ. 2494 กำหนดให้การบอกเลิกรับบำนาญในขณะที่กลับเข้ามารับราชการใหม่ อันจะมีผลให้นับเวลาราชการเดิมกับเวลาราชการครั้งใหม่ต่อเนื่องกันได้นั้น ต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อเป็นหลักฐานส่งไปยังจำเลยที่ 1 โดยผ่านกระทรวงเจ้าสังกัดภายใน30 วันนับแต่วันกลับเข้ารับราชการใหม่ แต่โจทก์อ้างว่าได้ยื่นเรื่องราวขอกลับเข้ามารับราชการใหม่ภายใน 3 เดือน นับแต่วันลาออกคือเดือนกุมภาพันธ์ 2518 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่กรมการปกครองจะมีคำสั่งให้รับโจทก์กลับเข้ามารับราชการใหม่ จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นตามกฎหมายดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายบำนาญเพิ่มให้แก่โจทก์นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2532 เป็นต้นไป โดยให้นับเวลาราชการของโจทก์ในช่วงแรก ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2492ต่อเนื่องกับเวลาราชการในช่วงหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2518จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2532 เพื่อคำนวณบำนาญให้แก่โจทก์ตามสิทธิของโจทก์
จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้ยื่นหนังสือการบอกเลิกรับบำนาญต่อจำเลยทั้งสองนั้น เห็นว่า ทั้งตามคำฟ้องและในชั้นพิจารณาโจทก์อ้างว่า โจทก์ยื่นหนังสือบอกเลิกรับบำนาญพร้อมกับหนังสือขอกลับเข้ามารับราชการใหม่ต่อผู้อำนวยการกองอัตรากำลังและส่งเสริมสมรรถภาพ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยไม่ได้อ้างว่ายื่นหนังสือการบอกเลิกรับบำนาญต่อจำเลยทั้งสองดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา เรื่องนี้ศาลอุทธรณ์ฟังว่า โจทก์ยื่นหนังสือการบอกเลิกรับบำนาญพร้อมกับหนังสือขอกลับเข้ามารับราชการใหม่ต่อผู้อำนวยการกองอัตรากำลังและส่งเสริมสมรรถภาพจริง เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวเช่นนี้ ย่อมฟังได้ว่าข้อเท็จจริงเป็นดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า เรื่องการขอกลับเข้ามารับราชการใหม่กับเรื่องการบอกเลิกรับบำนาญเป็นคนละเรื่องกันเมื่อโจทก์ยื่นหนังสือขอกลับเข้ามารับราชการใหม่และอธิบดีต้นสังกัดมีคำสั่งให้กลับเข้ามารับราชการใหม่แล้ว โจทก์ต้องนำคำสั่งดังกล่าวไปประกอบการยื่นหนังสือการบอกเลิกรับบำนาญต่อผู้อำนวยการกองคลังเพื่อขอนับเวลาราชการติดต่อกันภายใน 30 วัน นับแต่วันกลับเข้ารับราชการใหม่ การที่โจทก์ยื่นเรื่องดังกล่าวทั้งสองเรื่องพร้อมกันต่อผู้อำนวยการกองอัตรากำลังและส่งเสริมสมรรถภาพย่อมไม่ถูกต้อง และขัดต่อมาตรา 30 วรรคสี่และวรรคห้าแห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 จึงไม่มีสิทธินับเวลาราชการช่วงแรกรวมกับเวลาราชการช่วงที่กลับเข้ามารับราชการใหม่นั้นเห็นว่า แม้การขอกลับเข้ามารับราชการใหม่ กับการบอกเลิกรับบำนาญจะเป็นคนละเรื่องกัน แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้ยื่นเรื่องทั้งสองดังกล่าวพร้อมกัน ทั้งตามบทบัญญัติในมาตรา 30 วรรคสี่และวรรคห้าแห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการพ.ศ. 2494 ก็ไม่ได้กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นไว้ว่าจะต้องยื่นหนังสือการบอกเลิกรับบำนาญตั้งแต่เมื่อใด การที่โจทก์ยื่นหนังสือการบอกเลิกรับบำนาญพร้อมกับการยื่นหนังสือขอกลับเข้ารับราชการใหม่ โดยไม่รอให้กรมการปกครองมีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้ามารับราชการใหม่เสียก่อนก็หาขัดต่อมาตรา 30 วรรคสี่ ไม่ ส่วนการที่โจทก์ยื่นหนังสือการบอกเลิกรับบำนาญต่อผู้อำนวยการกองอัตรากำลังและส่งเสริมสมรรถภาพมิได้ยื่นต่อผู้อำนวยการกองคลังนั้นมาตรา 30 วรรคห้า บัญญัติเพียงว่า การบอกเลิกรับบำนาญให้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อเป็นหลักฐานส่งไปยังจำเลยที่ 1 โดยผ่านกระทรวงเจ้าสังกัดมิได้กำหนดว่าต้องยื่นต่อกองคลังในกรมและกระทรวงเจ้าสังกัดดังที่จำเลยทั้งสองอ้าง ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นหนังสือการบอกเลิกรับบำนาญต่อผู้อำนวยการกองอัตรากำลังและส่งเสริมสมรรถภาพภายในกรมและกระทรวงเจ้าสังกัดของโจทก์ต้องถือว่าเป็นการยื่นผ่านกระทรวงเจ้าสังกัดแล้ว โจทก์จึงได้ปฏิบัติตามมาตรา 30 วรรคห้า แล้ว จำเลยทั้งสองจึงต้องนับเวลาราชการช่วงแรกของโจทก์รวมกับเวลาราชการช่วงที่โจทก์กลับเข้ามารับราชการใหม่เพื่อคำนวณบำนาญให้แก่โจทก์ ฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน