แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ใบอนุญาตให้ทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ เป็นเพียงคำสั่งอนุญาตของเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 ที่ให้สร้างท่าเทียบเรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส แม้ใบอนุญาตดังกล่าวจะระบุชื่อจำเลยผู้ขออนุญาต แต่ก็มีเงื่อนไขว่าผู้รับอนุญาตจะต้องเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ลงไว้ในอนุญาต ถ้ามิได้จัดการตามคำขอภายในกำหนดจะต้องมาขอนุญาตใหม่ รวมทั้งมีเงื่อนไขระบุให้กรมเจ้าท่ามีสิทธิเรียกใบอนุญาตคืนได้ทุกเมื่อถ้ามีเหตุอย่างใดเกิดขึ้นตามที่ระบุไว้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าใบอนุญาตเช่นนี้สามารถออกใหม่ได้หรือถูกเรียกคืนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่มีข้อความที่แสดงว่าผู้ขออนุญาตเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สะพานปลาท่าเทียบเรือประมงพิพาท ใบอนุญาตให้ทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำดังกล่าวจึงไม่ใช่เอกสารสิทธิที่แสดงว่าสะพานปลาท่าเทียบเรือประมงพิพาทเป็นของจำเลย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารให้ขนย้ายสิ่งของออกไปจากบ้านเลขที่ 1/5 หมู่ที่ 1 ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี บ้านเดี่ยวชั้นเดียวและโรงรถซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) (ที่ถูก น.ส.3) เลขที่ 27 และ 34 กับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 6083 หมู่ที่ 1 ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และส่งมอบให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ห้ามเข้าไปยุ่งเกี่ยว ให้ชำระค่าเสียหายเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดสะพานปลาท่าเทียบเรือประมงเลขที่ 0001/5 หมู่ที่ 1 ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า สะพานปลาท่าเทียบเรือประมงพิพาทไม่ใช่ของจำเลย แต่เป็นของผู้ร้องที่ซื้อมาจากจำเลยโดยรับชำระหนี้แทนจำเลยที่มีต่อธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1683/2539 ของศาลชั้นต้น ที่นำยึดไว้ ต่อมาธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้ขอถอนการยึดทรัพย์ดังกล่าว โจกท์จึงเข้าสวมสิทธิขอยึดสะพานปลาท่าเทียบเรือประมงพิพาทต่อ โจทก์ทราบดีอยู่แล้ว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของ เพราะผู้ร้องและโจทก์มีคดีพิพาทกันเกี่ยวกับทางสาธารณะบริเวณสะพานปลาท่าเทียบเรือประมงพิพาท โจทก์ไม่มีสิทธิยึดสะพานปลาท่าเทียบเรือประมงพิพาทของผู้ร้อง ขอให้ปล่อยทรัพย์ดังกล่าว
โจทก์ให้การว่าสะพานปลาท่าเทียบเรือประมงพิพาทเป็นของจำเลยไม่ใช่ของผู้ร้องการซื้อขายสะพานปลาท่าเทียบเรือประมงพิพาทระหว่างผู้ร้องกับจำเลยได้กระทำขึ้นระหว่างที่ทรัพย์ดังกล่าวถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ สัญญาซื้อขายจึงตกเป็นโมฆะหลังจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ถอนการยึดแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ดังกล่าวย่อมตกมาเป็นของจำเลยและตามหลักฐานการขออนุญาตให้ปลูกสร้างรุกล้ำทางน้ำซึ่งออกโดยกรมเจ้าท่า (เจ้าท่าภูมิภาคที่ 6) ระบุชื่อจำเลยเป็นผู้ขออนุญาตแสดงว่าจำเลยยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โจทก์จึงมีสิทธิยึดทรัพย์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดได้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปล่อยทรัพย์พิพาทคืนแก่ผู้ร้องให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติในชั้นฎีกาว่าธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยในคดีอื่น ได้ยึดที่ดิน 3 แปลง ของจำเลย ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 27 และ 34 กับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 6083 ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งอยู่ติดกับสะพานปลาท่าเทียบเรือประมงพิพาทของจำเลยออกขายทอดตลาด โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวจากการขายทอดตลาด ต่อมาธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ยังได้เงินไม่พอชำระหนี้จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดสะพานปลาท่าเทียบเรือประมงพิพาทของจำเลยเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2543 ครั้นวันที่ 1 ตุลาคม 2545 จำเลยทำสัญญาขายสะพานปลาท่าเทียบเรือประมงพิพาทให้แก่ผู้ร้องในราคา 4,000,000 บาท ผู้ร้องชำระเงินในวันทำสัญญาให้จำเลย 200,000 บาท ส่วนที่เหลือผู้ร้องชำระหนี้แทนจำเลยให้แก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) วันที่ 23 เมษายน 2546 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ขอถอนการยึดสะพานปลาท่าเทียบเรือประมงพิพาท ในวันเดียวกันนั้นโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยในคดีนี้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดสะพานปลาท่าเทียบเรือประมงพิพาท คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ใบอนุญาตให้ทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำตามเอกสารหมาย ค.5 เป็นเอกสารสิทธิที่แสดงว่าสะพานปลาท่าเทียบเรือประมงพิพาทเป็นของจำเลยหรือไม่โจทก์ฎีกาว่า แม้ในใบอนุญาตดังกล่าวไม่มีข้อความระบุว่าผู้ขออนุญาตเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สะพานปลาท่าเทียบเรือประมงพิพาทแต่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ความสำคัญต่อใบอนุญาตดังกล่าวเสมือนหนึ่งเป็นเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของจึงถือเป็นเอกสารสิทธิได้อย่างชัดเจน เห็นว่า ใบอนุญาตดังกล่าวเป็นเพียงคำสั่งอนุญาตของเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 ให้ทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ซึ่งก็คือสร้างท่าเทียบเรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส แม้ใบอนุญาตระบุชื่อจำเลยผู้ขออนุญาตแต่ก็มีเงื่อนไขระบุว่า ผู้รับอนุญาตจะต้องเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ลงไว้ในใบอนุญาต ถ้ามิได้จัดการตามคำขอภายในกำหนด จะต้องมาขออนุญาตใหม่ รวมทั้งมีเงื่อนไขระบุให้กรมเจ้าท่ามีสิทธิเรียกใบอนุญาตคืนได้ทุกเมื่อถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นตามที่ระบุไว้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าใบอนุญาตเช่นนี้สามารถออกใหม่ได้หรือถูกเรียกคืนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่มีข้อความที่แสดงว่าผู้ขออนุญาตเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สะพานปลาท่าเทียบเรือประมงพิพาทการอ้างใบอนุญาตดังกล่าวต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่อาจถือโดยปริยายว่าใบอนุญาตดังกล่าวเป็นเอกสารสิทธิที่แสดงความเป็นเจ้าของดังที่โจทก์ฎีกา ใบอนุญาตให้ทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำตามเอกสารหมาย ค.5 จึงไม่ใช่เอกสารสิทธิที่แสดงว่าสะพานปลาท่าเทียบเรือประมงพิพาทเป็นของจำเลย
สำหรับฎีกาของโจทก์ที่ว่า สัญญาซื้อขายสะพานปลาท่าเทียบเรือประมงพิพาทเกิดจากการฉ้อฉลระหว่างผู้ร้องกับจำเลย เพื่อป้องกันมิให้เจ้าหนี้ของจำเลยรายอื่นมายึดทรัพย์ได้ สัญญาซื้อขายจึงตกเป็นโมฆะเนื่องจากการกระทำที่ฉ้อฉลนั้น โจทก์ไม่ได้ให้การต่อสู้ในประเด็นข้อนี้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย นอกจากนี้ฎีกาของโจทก์ที่ว่าการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์หลังจากโจทก์นำยึดสะพานปลาท่าเทียบเรือประมงพิพาทนานกว่า 1 ปี แสดงให้เห็นถึงการกระทำที่ไม่สุจริตของผู้ร้องนั้น โจทก์ไม่ได้ให้การต่อสู้ในประเด็นข้อนี้ไว้ในคำให้การเช่นกัน แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับวินิจฉัยให้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกไม่รับวินิจฉัยเช่นกันที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ปล่อยทรัพย์พิพาทคืนแก่ผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ