คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3529/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นฟ้องภายหลังจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2543 มีผลใช้บังคับแล้ว คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยจึงอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 207 ที่ให้นำบทบัญญัติมาตรา 199เบญจ มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยมาตรา 199 เบญจ วรรคสี่ บัญญัติว่า คำสั่งศาลที่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ให้เป็นที่สุด แต่ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต ผู้ขออาจอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด การที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุด จำเลยไม่มีสิทธิฎีกา

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินพร้อมดอกเบี้ย จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดี แต่ขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง ต้องไม่เกิน 432,500 บาท

จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏข้อเท็จจริงตามสำนวนว่าโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่16 มีนาคม 2543 ภายหลังจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2543 มีผลใช้บังคับแล้ว คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยจึงอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 207 ที่ให้นำบทบัญญัติมาตรา 199 เบญจ มาใช้บังคับโดยอนุโลมโดยมาตรา 199เบญจ วรรคสี่ บัญญัติว่า “คำสั่งศาลที่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ให้เป็นที่สุด แต่ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต ผู้ขออาจอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด” คดีนี้จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาต่อไปได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยมาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายกฎีกาของจำเลย คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดในชั้นฎีกาแก่จำเลย

Share