แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือจำเลยที่ 2 และที่ 3เชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่อย่างใดและที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามยินยอมแสดงออกยอมรับให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการกิจการเข้าหุ้นส่วนกันนั้น ก็มีความหมายเพียงว่า จำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนสามัญที่จำเลยทั้งสามเข้าหุ้นส่วนกันนั้นเท่านั้นมิได้หมายความว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3อีกด้วย คดีจึงไม่มีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามมิได้ตกลงเข้าเป็นหุ้นส่วนกันตามฟ้อง แต่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์โดยได้รับชำระราคาที่ดินและตึกแถวพิพาทนั้นจากโจทก์ครบถ้วนแล้วจะพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตนขายที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์ และพิพากษาให้จำเลยที่ 2และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 โอนที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์ในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเป็นหุ้นส่วนดำเนินการสร้างบ้านจัดสรรจำหน่าย โดยจำเลยทั้งสามดำเนินการร่วมกันและยินยอมแสดงออก ยอมรับ ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จ้ดการกิจการเข้าหุ้นส่วนกันนั้น และจากกิจการงานสร้างบ้านจัดสรรที่จำเลยได้ทำร่วมกันและประเพณีการสร้างบ้านจัดสรรขาย พฤติการณ์ที่ร่วมกันหรือแทนกันดูแลกิจการงานผู้รับเหมาก่อสร้างแสดงให้เห็นถึงจำเลยทั้งสามเป็นหุ้นส่วนกันและเป็นเจ้าของรวมในกิจการบ้านจัดสรรทั้งหมดนั้น จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 19193 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ในราคา 1,000,000 บาท และได้รับชำระราคาครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญา จำเลยสัญญาว่าจะจัดการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 30 มกราคม 2527 ต่อมาเมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญา จำเลยทั้งสามไม่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันโอนบ้านพิพาทตามฟ้องให้แก่โจทก์โดยปลอดภาระติดพัน
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 2และที่ 3 ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 เพื่อทำกิจการสร้างบ้านจัดสรรจำหน่ายหรือทำกิจการอื่น หนังสือสัญญาจะซื้อขายมีผลผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาดังกล่าว ที่ดินและอาคารบ้านเลขที่ 667 เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3ร่วมกัน โดยใช้ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน ขอให้ยกฟ้อง และให้ขับไล่โจทก์ และบริวารออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท ห้ามโจทก์เกี่ยวข้องกับที่ดินและบ้านพิพาทนั้นกับให้โจทก์ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินและบ้านพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นหุ้นส่วนและเป็นเจ้าของรวมจากการทำกิจการร่วมกันในการก่อสร้างบ้านจัดสรรเพื่อขาย โจทก์เข้าครอบครองทรัพย์พิพาทตามฟ้องโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันหรือแทนกันส่งมอบทรัพย์พิพาทชำระหนี้ให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้เข้าครอบครองเป็นเจ้าของทรัพย์พิพาทด้วยความรู้เห็นยินยอมของจำเลยที่ 2 และที่ 3 การฟ้องขับไล่โจทก์และเรียกค่าเสียหายของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ห้องพิพาทให้แก่โจทก์โดยปราศจากภาระติดพัน กับให้จำเลยที่ 1ชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ 50,000 บาท หากจำเลยทั้งสามไม่ปฎิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสาม หากไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ห้องพิพาทให้โจทก์ได้ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินจำนวน 1,000,000 บาท ให้แก่โจทก์กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 50,000 บาท
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เฉพาะเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นข้อแรกว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าจำเลยทั้งสามมิได้ตกลงเข้าเป็นหุ้นส่วนกัน จำเลยที่ 2และที่ 3 ก็ไม่ต้องรับผิดในการกระทำของจำเลยที่ 1 การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2และที่ 3 เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 หรือไม่ ในปัญหานี้ปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเป็นหุ้นส่วนดำเนินการสร้างบ้านจัดสรรจำหน่าย โดยจำเลยที่ 1 ลงทุนค่าหุ้นส่วนด้วยแรงงานและดำเนินการควบคุมก่อสร้างบ้าน จำเลยที่ 2 และที่ 3ซึ่งเป็นสามีภริยากันลงทุนค่าหุ้นด้วยที่ดินอันมีชื่อจำเลยที่ 2เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสามดำเนินการร่วมกันและยินยอมแสดงออกยอมรับให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการกิจการเข้าหุ้นส่วนกันนั้น และจากกิจการงานสร้างบ้านจัดสรรที่จำเลยได้ทำร่วมกันและประเพณีการสร้างบ้านจัดสรรขาย พฤติการณ์ที่ร่วมกันหรือแทนกันดูแลกิจการงานผู้รับเหมาก่อสร้างแสดงให้เห็นถึงจำเลยทั้งสามเป็นหุ้นส่วนกัน และเป็นเจ้าของรวมในกิจการบ้านจัดสรรทั้งหมดนั้น เห็นว่า ตามคำบรรยายฟ้องดังกล่าวนั้นโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือจำเลยที่ 2 และที่ 3 เชิดจำเลยที่ 1เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่อย่างใด และที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามยินยอมแสดงออกยอมรับให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการกิจการเข้าหุ้นส่วนกันนั้น ก็มีความหมายเพียงว่าจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนสามัญที่จำเลยทั้งสามเข้าหุ้นส่วนกันนั้นเท่านั้น มิได้หมายความว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 อีกด้วย คดีจึงไม่มีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามมิได้ตกลงเข้าเป็นหุ้นส่วนกันตามฟ้อง แต่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์ โดยได้รับชำระราคาที่ดินและตึกแถวพิพาทนั้นจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว จะพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตน ขายที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์ และพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ร่วมกับจำเลยที่ 1 โอนที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์ในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องไว้เช่นนั้นไม่ได้ เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อนี้ฟังขึ้น และเมื่อได้วินิจฉัยเช่นนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่อีกต่อไป
ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์กระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 และต้องชำระค่าเสียหายให้จำเลยที่ 2และที่ 3 ตามฟ้องแย้งนั้น เห็นว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาทต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3ดังกล่าว เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัตินั้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกไปจากที่ดินและตึกแถวพิพาท ห้ามโจทก์เกี่ยวข้องกับที่ดินและตึกแถวนั้นต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3.