คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3451/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยวันที่ 2 กรกฎาคม 2488และได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2500ก่อนได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำโจทก์ถูกเรียกกลับเข้าปฏิบัติงานใหม่สองครั้ง ครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ที่ 5 ของปี พ.ศ. 2498 จนถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2498 และวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2499 จำเลยก็เรียกโจทก์มาปฏิบัติงานใหม่อีก ลักษณะงานของโจทก์เป็นการจ้างเฉพาะเวลาที่จำเลยมีงานให้ทำ หมดงานก็ให้โจทก์พักและเมื่อมีงานใหม่จำเลยจะเรียกโจทก์เข้ามาทำงานอีก งานของโจทก์ก่อนวันที่ 5 มีนาคม 2500 จึงมีลักษณะเป็นการชั่วคราวโจทก์จึงเป็นลูกจ้างชั่วคราวมิใช่ลูกจ้างประจำของจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. 2487 จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำหน้าที่ครั้งสุดท้ายเป็นพนักงานรายชั่วโมง กองผลิตอุปกรณ์ โรงงานช่างกล โรงงานยาสูบ ซึ่งเป็นกิจการของจำเลย อัตราค่าจ้างครั้งสุดท้ายเดือนละ 5,230 บาท เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2524 โจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุ จำเลยจะต้องจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ตามระเบียบคือจำนวนปีที่ทำงานคูณด้วยอัตราค่าจ้างสุดท้าย โจทก์มีอายุการทำงาน 38 ปี แต่จำเลยคิดอายุการทำงานให้โจทก์เพียง 25 ปี ขาดไป 13 ปี คิดเป็นเงินบำเหน็จที่ขาดไป 67,990 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จจำนวน 67,990 บาทแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า เดิมโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวของจำเลยตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2488 ถึง พ.ศ. 2499 โดยจำเลยเรียกโจทก์เข้าทำงานเป็นระยะ ๆ โจทก์เพิ่งเป็นลูกจ้างประจำเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2500 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2524 รวมเวลาที่โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างประจำ 24 ปี 6 เดือน 23 วันครึ่ง เศษของปีนับเป็นหนึ่งปีจำเลยคำนวณบำเหน็จให้โจทก์ 25 ปีเป็นการถูกต้องแล้ว เพราะระยะเวลาที่จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราว โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตามระเบียบการจ่ายบำเหน็จแก่พนักงานยาสูบ พ.ศ. 2500 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2500 ก่อนนั้นเป็นลูกจ้างชั่วคราวจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ครบถ้วนถูกต้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ตามระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จแก่พนักงานยาสูบ พ.ศ. 2500 ข้อ 3 กำหนดว่า “พนักงานยาสูบที่ออกจากงานในกรณีและเงื่อนไขดังต่อไปนี้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จคือ ก.มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้วและโรงงานยาสูบสั่งเลิกจ้าง” และข้อ 2 ได้กำหนดความหมายของ “พนักงานยาสูบ”ไว้ว่า หมายถึงพนักงานยาสูบที่โรงงานยาสูบจ้างเป็นประจำไม่ว่าจะเป็นพนักงานรายเดือน รายวัน หรือรายชั่วโมงบุคคลที่จ้างทดลองหรือจ้างชั่วคราวหรือจ้างโดยมีกำหนดเวลาตามสัญญาจ้าง หรือจ้างแต่ทำงานยังไม่ถึง 6 เดือนไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้ ได้ความว่าโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2488 โจทก์ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2500 และก่อนได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำ โจทก์ถูกเรียกเข้าปฏิบัติงานใหม่ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ที่ 5 ของปี พ.ศ. 2498 จนถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2498 จำเลยก็ให้โจทก์พักงานเพราะหมดฤดูใบยา ต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2499 จำเลยจึงเรียกโจทก์เข้ามาปฏิบัติงานใหม่อีก และได้ความจากนางแน่งน้อย รัตตะพงษ์ หัวหน้ากองการเจ้าหน้าที่โรงงานยาสูบว่า ลูกจ้างชั่วคราวจะมาทำงานเฉพาะเวลาที่มีงานทำ หมดงานก็ให้หยุด เมื่อมีงานก็เรียกมาอีก ส่วนลูกจ้างประจำนั้นไม่หยุดงานเหมือนลูกจ้างชั่วคราวต้องทำงานติดต่อกันไป ดังนั้นการที่จำเลยจ้างโจทก์ทำงานตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2488 เป็นต้นมาจนถึงวันที่โจทก์ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำคือวันที่ 5 มีนาคม 2500 เป็นการจ้างเฉพาะเวลาที่จำเลยมีงานให้ทำ หมดงานก็ให้โจทก์พักและเมื่อมีงานใหม่จำเลยจะเรียกโจทก์เข้ามาทำงานอีกซึ่งเป็นลักษณะการจ้างชั่วคราว โจทก์จึงมิใช่พนักงานยาสูบตามความหมายของระเบียบการจ่ายเงินพนักงานยาสูบ พ.ศ. 2500 โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม2488 จนถึงวันที่ 4 มีนาคม 2500

พิพากษายืน

Share