คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3415/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องจะเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้ศาลยกขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีได้โดยไม่ต้องมีคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ก็ตาม แต่ข้อกฎหมายดังกล่าวจะต้องได้มาจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นจากพยานนอกเรื่องนอกประเด็นไม่เกี่ยวกับที่คู่ความจะต้องนำสืบหรือมีกฎหมายบังคับให้ต้องแสดง ศาลจะรับฟังมาวินิจฉัยเป็นข้อกฎหมายตามมาตรา 142(5)ไม่ได้ คดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ชายตลิ่งหรือไม่ศาลไปเดินเผชิญสืบที่ดินพิพาทเป็นไปตามที่โจทก์จำเลยนำสืบต่อสู้ในประเด็นว่าฝ่ายใดครอบครองที่ดินพิพาท ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นจากการเดินเผชิญสืบว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ชายตลิ่ง จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 ที่ศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ชายตลิ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายชิต แจ่มมาก บิดาโจทก์ เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 4006 เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน ทิศเหนือติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 4007 ของจำเลยที่ 1 ส่วนทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินโฉนดเลขที่ 4006 และ 4007 ติดแม่น้ำเจ้าพระยา และที่ดินทั้งสองแปลงมีที่งอกริมตลิ่งด้านที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 30 ปีมาแล้วโดยแปลงของนายชิตมีที่งอกริมตลิ่งเป็นเนื้อที่ประมาณ 250 ตารางวาและเป็นกรรมสิทธิ์ของนายชิต เมื่อนายชิตตายเมื่อปี พ.ศ. 2525ที่ดินแปลงของนายชิตรวมทั้งที่งอกริมตลิ่งก็เป็นมรดกตกได้แก่โจทก์กับนางทวี แจ่มมาก นางสาวมาลี แจ่มมาก และนายเกื้อ แจ่มมากซึ่งเป็นทายาทร่วมกัน เมื่อปี 2511 จำเลยที่ 1 ได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) สำหรับที่ดิน ซึ่งเป็นที่งอกริมตลิ่งแปลงของจำเลยที่ 1 รวมที่ดินซึ่งเป็นที่งอกริมตลิ่งแปลงของนายชิตด้วยต่อนายอำเภอพระประแดง และเมื่อทางอำเภอออกให้แล้ว จำเลยที่ 1ได้จดทะเบียนโอนขายให้จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2515โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่ว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) ดังกล่าวซึ่งเป็นที่งอกริมตลิ่งแปลงของนายชิตซึ่งเป็นที่ดินพิพาทเป็นของนายชิต ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจขายนับแต่ซื้อขายกันแล้ว จำเลยทั้งสองไม่เคยเข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาปลายเดือนมีนาคม 2528 จำเลยที่ 2 จะนำไปขายให้บุคคลอื่นขณะอำเภอพระประแดงกำลังประกาศขายอยู่ โจทก์ได้ทราบว่ามีการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) และมีการซื้อขายกันดังกล่าว โจทก์จึงได้ไปคัดค้านการกระทำของจำเลยที่ 2 ต่อนายอำเภอพระประแดง ขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์กับนางทวี แจ่มมาก นางสาวมาลี แจ่มมาก และนายเกื้อ แจ่มมากห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องอีกต่อไป และขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 25 และเพิกถอนการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ด้วย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 4006 และ 4007เป็นของนายทิม แจ่มมาก บิดาของนายฉ่ำ แจ่มมาก สามีจำเลยที่ 1โดย มีที่งอกริมตลิ่งทั้งสองแปลง ซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทด้วยนายทิมครอบครองโดยสุจริตเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมากว่า70 ปีแล้ว เมื่อ 60 ปีเศษมานี้ นายทิมได้ยกที่ดินทั้งสองแปลงรวมทั้งที่งอกริมตลิ่งให้นางสะ แจ่มมาก และนายฉ่ำซึ่งเป็นภริยาและบุตรครอบครอง ต่อมาเมื่อประมาณ 45 ปี มานี้ นางสะได้ขายที่งอกริมตลิ่งส่วนของตนให้จำเลยที่ 1 และนายฉ่ำได้ยกที่งอกริมตลิ่งส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 1 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1ได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาโดย ปลูกเรือนอยู่อาศัยและปลูกต้นจากเก็บกินเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี โดย บิดาโจทก์และตัวโจทก์รวมตลอดทั้งพี่น้องของโจทก์ไม่เคยคัดค้านหรือเข้ามาเกี่ยวข้องเลย เมื่อปี2498 จำเลยที่ 1 ได้แจ้งการครอบครองที่งอกริมตลิ่งที่ดินทั้งสองแปลงและพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ออกหนังสือแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน(ส.ค.1) เลขที่ 1 ให้ ต่อจากนั้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2511พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เลขที่ 25 หมู่ที่ 5 ให้จำเลยที่ 1 นับถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า10 ปีแล้ว และจำเลยที่ 1 ได้ขายให้จำเลยที่ 2 โดยทำนิติกรรมและจดทะเบียนการซื้อขายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย เมื่อวันที่17 เมษายน 2515 จำเลยที่ 2 ได้ครอบครองต่อมาเป็นเวลาเกินกว่า10 ปี โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เลขที่ 25 และนิติกรรมการซื้อขาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1โดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิแล้ว จำเลยที่ 2ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา นายชิตบิดาโจทก์และโจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่าเดิมที่ดินตามโฉนดเลขที่ 4006 และ 4007 ตำบลบางหัวเสือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.12เป็นกรรมสิทธิ์ของนางสะ แจ่มมาก และมีที่งอกริมตลิ่งทางด้านทิศตะวันตกจดแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาเมื่อปี 2494 นางสะยกกรรมสิทธิ์ส่วนของตนในที่ดินโฉนดเลขที่ 4007 ให้นายฉ่ำ แจ่มมากและจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรและบุตรสะใภ้ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 4006นายชิต แจ่มมาก บิดาโจทก์ได้รับมรดกจากนางสะเมื่อปี 2499ปัจจุบันตกเป็นมรดกของโจทก์กับนางทวี แจ่มมาก นางสาวมาลี แจ่มมากและนายเกื้อ แจ่มมาก เมื่อปี 2498 จำเลยที่ 1 แจ้งการครอบครองที่งอกริมตลิ่งรวมทั้งที่ดินพิพาท ปรากฏตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน(ส.ค.1) เอกสารหมาย ล.3 และได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เมื่อปี 2511 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 แล้วโอนขายให้จำเลยที่ 2 เมื่อปี 2515 ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.10มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า การที่โจทก์ฟ้องและจำเลยที่ 1และที่ 2 รับว่าที่ดินพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่ง แต่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งพลเมืองมีสิทธิใช้ร่วมกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ ได้ความว่าศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทในข้อ 1 และ 2 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่และที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือจำเลยตามลำดับ การที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยประเด็นเรื่องกรรมสิทธิ์เป็นเบื้องต้น อันจะนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นจากการเดินเผชิญสืบว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของโจทก์และจำเลย แต่เป็นที่ชายเลนมีน้ำท่วมถึงจึงเป็นที่ชายตลิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304เห็นว่า แม้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องจะเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้ศาลยกขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีได้โดยไม่ต้องมีคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ก็ตาม แต่ข้อกฎหมายดังกล่าวจะต้องได้มาจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบเช่นได้จากพยานหลักฐานซึ่งเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีจะต้องนำสืบ หรือได้จากเอกสารพยานที่มีกฎหมายบังคับให้คู่ความที่กล่าวอ้างต้องแสดงเป็นต้น สำหรับข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นจากพยานนอกเรื่องนอกประเด็นไม่เกี่ยวกับที่คู่ความจะต้องนำสืบหรือมีกฎหมายบังคับให้ต้องแสดง ศาลจะรับฟังมาวินิจฉัยเป็นข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ไม่ได้คดีนี้ไม่มีประเด็นพิพาทว่าที่พิพาทเป็นที่ชายตลิ่งหรือไม่ และศาลเดินเผชิญสืบที่ดินพิพาทตามที่โจทก์และจำเลยนำสืบต่อสู้ในประเด็นฝ่ายใดครอบครองที่ดินพิพาท ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ชายตลิ่งจึงเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 87 ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1486/2513 ระหว่างนายมา พรมเผ่าโจทก์ นายสงวน ชัยชนะเลิศ กับพวก จำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ชายตลิ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น”
พิพากษายืน

Share